สำรวจ “สตรี” ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษในสมัยรัชกาลที่ 1-8

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) (ภาพจากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2548)

สำรวจ “สตรี” ที่ได้รับ “พระราชทานเกียรติยศ” เป็นพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 1-8

เมื่อ หม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม., ภ.ป.ร. ๑ พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้กราบถวายบังคมลาสิ้นชีพในวันที่ 19 กันยายน 2542 นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า ถึงแก่พิราลัย เสมอด้วยเจ้าประเทศราช และสมเด็จเจ้าพระยา พระราชทานโกศกุดั่นน้อย ประกอบศพเป็นเกียรติยศ และประดิษฐานบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นึกถึง สตรีที่เคยได้รับพระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

รัชกาลที่ 1

ในสมัยรัชกาลที่ 1 มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ท่านผู้หญิงนาก และญาติวงศ์ของท่านผู้หญิงให้มีอิสริยศักดิ์เป็นพิเศษแต่ประการใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า

“สมเด็จพระรูปสิริโสภาค (พระนามเดิมว่า สั้น พระชนนีในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-ส.) ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ก่อน ถึงรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นแต่เสด็จเข้ามาอยู่ที่ตำหนักสมเด็จพระอมรินทรอย่างเงียบๆ จนตลอดพระชนมายุ แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานโกศทรงพระศพ สมเด็จพระอมรินทรทรงยินดีถึงออกพระโอษฐ์ว่า “แม่ข้าเป็นเจ้า” ตรัสเล่าดังนี้” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๒. โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. ๒๕๐๕. หน้า ๒๕๐,)

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงสถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระรูปสิริโสภาคมหานากนารีรัตน

รัชกาลที่ 2

ในรัชกาลนี้ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนนี ขึ้นเป็น กรมพระ แต่โปรดเกล้าฯ ให้กล่าวขานพระนามว่า กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย เทียบด้วยตำแหน่ง กรมพระเทพามาตย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ส่วนบุคคลอื่นๆ นั้นเป็นแต่เพียงคำที่ผู้คนยกย่องกันขึ้นเอง คือ

1. ท่านผู้หญิงนวล ภรรยาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค ต้นสกุล บุนนาค) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น และเป็นพระน้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลนี้ทรงยกย่องพระญาติพี่น้องชั้นลุงป้าน้าอาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีว่า เป็นราชินิกูล คือพระญาติทางฝ่ายพระมเหสี คนทั้งหลายย่อมต้องนับถือว่าทรงศักดิ์สูงกว่าท่านผู้หญิงภรรยาข้าราชการอื่นๆ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ จึงเรียกกันว่า “เจ้าคุณโต” แทนที่เคยเรียกกันว่า “คุณหญิง” หรือ “คุณ” มาแต่ก่อน

ท่านผู้หญิงนวล หรือ เจ้าคุณโต มีธิดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) 3 คน คือ

ชื่อ นุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณวังหลวง

ชื่อ คุ้ม เรียกกันว่า เจ้าคุณวังหน้า

ชื่อ ต่าย เรียกกันว่า เจ้าคุณปราสาท เพราะอยู่ที่พระมหาปราสาทกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1

2. คุณหญิงแก้ว พระน้องนางคนรองถัดมา ซึ่งเป็นภรรยาพระยาสมุทรสงคราม (ศร) มีนิวาสสถานอยู่ที่ อัมพวา บางช้าง เรียกกันว่า เจ้าคุณบางช้าง เป็นต้นสกุล ณ บางช้าง

ส่วนผู้ที่มิได้เป็นราชินิกูล แต่ผู้คนทั้งหลายเรียกกันว่า “เจ้าคุณ” มีอยู่ 3 คน คือ

1. เจ้าจอมมารดาตานี ในรัชกาลที่ 1 เป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) อันเกิดด้วยภรรยาเดิม เรียกกันว่า “เจ้าคุณวัง” มีพระราชธิดา คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกล

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา

2. เจ้าจอมมารดาสี ในรัชกาลที่ 2 เป็นธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุล บุญยรัตพันธุ์) เรียกกันว่า “เจ้าคุณพี” มีพระราชธิดา คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรจั่น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุบผา

3. ท้าวศรีสัจจา (มิ) เรียกกันว่า “เจ้าคุณประตูดิน” ได้ว่าราชการสิทธิขาดต่างพระเนตรพระกรรณในรัชกาลที่ 2 ที่ทำงานของท่านอยู่ใกล้กับประตูดิน มีเกียรติคุณยิ่งกว่าท้าวนางอื่นๆ พวกชาววังยำเกรงท่านมาก ถึงกับเอาชื่อท่านมาใส่ไว้ใน บทเพลงเต่าเห่ สำหรับสอนเด็กๆ ให้รำละคร ว่า

“สาวน้อยๆ ค่อยเดินจร ไปเด็ดดอกแก้วเล่นเย็นๆ ที่เกยซึ่งเคยเห็น เป็นพวงเป็นพู่ดูน่าชม” และ “ว่าแล้วหาฟังไม่ จะไปเรียนเจ้าคุณประตูดิน”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปของท่านไว้ในคูหาใต้บันไดขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาฝ่ายในที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีโขลน ชื่อ บัว และ ดี หมอบรับใช้อยู่ข้างๆ อีกด้วย

รัชกาลที่ 3

ทรงสถาปนา เจ้าจอมมารดาเรียม ในรัชกาลที่ 2 พระบรมราชชนนี ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย

ในรัชกาลนี้มีคนเรียกเจ้าจอมมารดาของเจ้านายผู้ใหญ่ว่า “เจ้าคุณ” กันอย่างแพร่หลายอีก 2 คน น่าจะเป็นเพราะมีเชื้อสายราชินิกูล “บางช้าง” คือ

1. เจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ 2 มีพระราชโอรสธิดา คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงษ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร ต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร ต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ ต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทนิล

2. เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ ในรัชกาลที่ 2 ต่อมาเป็น ท้าววรจันทร์ มีพระราชโอรสธิดา คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (หญิง) ประสูติได้ 3 วัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ตามจินตนาการของจิตรกร (พระรูปจากหนังสือราชินีกุลรัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช)

รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชบัญญัติให้ศักดิ์ “เจ้าคุณ” เป็นยศผู้หญิงที่พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงตั้ง เมื่อมีพระราชบัญญัติแล้ว การเรียกเจ้าคุณกันตามใจก็เสื่อมหายไปเองโดยมิต้องขัดใจใคร

ทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เฉพาะที่เกิดแต่ท่านผู้หญิง เป็นเจ้าคุณ รวม 3 คน คือ

1. เจ้าคุณแข เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักใหม่

2. เจ้าคุณปุก เรียกกันว่า เจ้าคุณกลาง

3. เจ้าคุณหรุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณน้อย

และทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค) เฉพาะที่เกิดแต่ท่านผู้หญิง เป็นเจ้าคุณ รวม 3 คน คือ

1. เจ้าคุณนุ่ม เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักเดิม

2. เจ้าคุณเป้า

3. เจ้าคุณคลี่

รัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งเจ้าจอมมารดา ให้เป็นเจ้าคุณจอมมารดา รวม 4 ท่าน คือ

เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 เป็นเจ้าคุณจอมมารดา คือ

1. เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สุจริตกุล) เป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4

2. เจ้าจอมมารดาสำลี (บุนนาค) เป็น เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4

เจ้าจอมมารดา ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 ท่าน คือ

3. เจ้าจอมมารดาเอม พระชนนีในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็น เจ้าคุณจอมมารดาเอม

เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 เป็น เจ้าคุณจอมมารดา 4 ท่าน คือ

4. เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 เป็น เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 6

1. ทรงสถาปนาพระอัฐิเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4 ขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) (ภาพจากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2548)

2. ทรงเปลี่ยนนาม เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 เป็น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า “ที่เติมคำ “จอมมารดา” เข้าด้วยนั้น น่าชมเป็นความคิดที่ดีนัก เพราะแต่ลำพังคำว่า “เจ้าคุณ” ใครๆ ก็เป็นได้ แต่คำว่า “จอมมารดา” ต้องเป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดินและเป็นชนนีของพระเจ้าลูกเธอด้วย เพราะฉะนั้นที่มาเปลี่ยน เจ้าคุณจอมมารดา แพ เป็น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ในรัชกาลที่ 6 ดูไม่แสดงศักดิ์สูงขึ้นกว่าเป็น เจ้าคุณจอมมารดา แพ เพราะความหมายแต่ว่า เป็นพระญาติเท่านั้น” (“ลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2480”, สาสน์สมเด็จ เล่ม 12. โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. 2505. หน้า 254.)

อนึ่ง คำว่า เจ้าจอมมารดา และ เจ้าจอม นั้น จะใช้เฉพาะแต่สำหรับผู้ที่เป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดิน และสมเด็จพระบวรราชเจ้าเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วจะใช้คำว่า “หม่อม” ทั้งสิ้น

เจ้าคุณพระยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)

แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียก ขรัวยายเจ้าฟ้า (คือสามัญชนที่เป็นยายของเจ้าฟ้า) ซึ่งตามปกติแล้วจะมีฐานะเป็นเพียงหม่อม ว่า “เจ้าจอมมารดา” เป็นพิเศษอยู่เพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ

1. หม่อมงิ้ว ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3 พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ผู้เป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ว่า เจ้าจอมมารดางิ้ว

2. หม่อมจีน ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3 พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ต้นราชสกุล ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้เป็นพระชนนีในหม่อมเจ้าบัว (อรรคชายาเธอ พนะองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรคกัลยา) หม่อมเจ้าปิ๋ว (พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคยนารีรัตน) และ หม่อมเจ้าสาย (พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา) ว่า เจ้าจอมมารดาจีน

เมื่อครั้งที่ เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค) สิ้นชีพลงใน พ.ศ. 2443 ที่บ้านของสกุลบุนนาค ข้างวัดพิไชยญาติการาม ฝั่งธนบุรีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “ถึงแก่พิราลัย” เสมอด้วยเจ้าประเทศราช และสมเด็จเจ้าพระยา

โดยทรงยกเหตุว่า เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์และเป็นพระญาติพระวงศ์เทียบชั้นทั้งราชสกุลและราชินิกูลแล้ว เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 ก็อยู่ในชั้นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโกศกุดั่นใหญ่และโปรดเกล้าฯ ให้นำศพเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 จากบ้านฝั่งธนบุรีมาตั้งที่หอธรรมสังเวช ในพระบรมมหาราชวัง (หอธรรมสังเวช หออุเทศทักษินา และหอนิเพทพิทยา แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระศพพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่สำหรับกิจการอื่น-ส.) ซึ่งมิเคยปฏิบัติกันมาก่อน เพราะถือกันว่า ผู้ที่จะสิ้นชีพในพระบรมมหาราชวังได้จะต้องเป็นเจ้านายเท่านั้น หากสามัญชนสิ้นชีพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อนำศพออกไปแล้ว จะต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิงทุกครั้ง

ทั้งนี้โดยทรงพระราชดำริว่า เพื่อสะดวกแก่ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร จะได้ไม่ต้องทรงลำบากเสด็จข้ามฟากไปทรงบำเพ็ญพระกุศลที่บ้านฝั่งธนบุรี

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสูรยสงขลา (จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล บริพัตร ณ อยุธยา) ทรงสำเร็จวิชาทหารจากประเทศเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยตรี แล้ว แต่ยังต้องทรงฝึกฝนวิชาชีพพิเศษเพิ่มเติมต่อไปอีก 1 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมาชั่วคราวเพื่อพระราชทานเพลิงศพขรัวยาย ณ พระเมรุท้องสนามหลวงที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการนี้โดยเฉพาะ ในงานพระเมรุเจ้านายแทบทุกพระองค์ต้องทรงพระภูษาขาว เพราะในสมัยนั้นถ้าผู้ตายเป็นญาติผู้ใหญ่ ในงานเมรุลูกหลานทุกคนต้องแต่งขาวเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ

อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กล่าวขานพระนามพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แทนคำว่า กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย และ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย

รัชกาลที่ 8

เมื่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์สิ้นชีพลงในวันที่ 22 มีนาคม 2486 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า ถึงแก่พิราลัย และพระราชทานโกศกุดั่นน้อย ประกอบเกียรติยศศพเสมอด้วยสมเด็จเจ้าพระยา

ระเบียบสำนักพระราชวัง ว่าด้วยการศพ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โกศกุดั่นน้อย ตามปกติจะพระราชทานสำหรับ

1. พระบรมวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ที่เป็นพระราชโอรสธิดา มี ฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น แขวนเหนือพระโกศ ปัจจุบันไม่มีพระราชวงศ์ชั้นนี้

2. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มี ฉัตรผ้าขาว 3 ชั้น แขวนเหนือพระโกศ

3. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

4. สามัญชนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2562