“มอญพระประแดง” มาจากไหน?

สงกรานต์พระประแดง มอญพระประแดง หรือ มอญปากลัด ที่ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)

“พระประแดง” เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่อยู่ของชาวมอญกลุ่มใหญ่มากว่า 200 ปี จนมีคำเรียกขานชาวมอญที่นี่ตามถิ่นฐานว่า “มอญพระประแดง” หรือ “มอญปากลัด”

ชาวมอญพระประแดงมาจากไหน เริ่มตั้งรกรากที่พระประแดงตั้งแต่เมื่อไหร่

“พระประแดง” เดิมอยู่คลองเตย

ก่อนไปเรื่อง “มอญพระประแดง” ขอเริ่มที่คำว่า “พระประแดง” กันก่อน

คำว่าพระประแดง สันนิษฐานว่ามีต้นเค้าจากคำว่า “กัมรเตง” ซึ่งเป็นภาษาเขมรโบราณ เดิมพระประแดงตั้งอยู่บริเวณท่าเรือคลองเตย ก่อนที่ต่อมาจะนำชื่อนี้ไปเรียก “เมืองนครเขื่อนขันธ์” ปัจจุบันคือบริเวณปากลัด จังหวัดสมุทรปราการ

อ่านเพิ่มเติม : “เปิดหลักฐานอยุธยา “พระประแดง” คำนี้มาจาก “กัมรเตง” ในภาษาเขมรโบราณ

“สาส์นสมเด็จ” หนังสือที่รวบรวมลายพระหัตถ์ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนถึงกัน กล่าวถึงเมืองพระประแดงไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ที่ใต้ปากคลองเตยลงไปหน่อยเดียวมีวัดหน้าพระธาตุ มีศาลเจ้าพระประแดง… ทำให้คิดว่าเมืองพระประแดงเดิมตั้งอยู่ที่คลองเตย ไม่ใช่ที่ปากลัด…”

“เมืองพระประแดงนั้นเป็นเมืองตั้งเมื่อสมัยขอมครองเมืองละโว้ สำหรับรักษาปากน้ำ ปากน้ำในสมัยนั้นก็เรียกว่า ‘ปากน้ำพระประแดง’… ตัวเมืองพระประแดงตั้งที่ริมแม่น้ำฟากตะวันออก อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุและศาลเจ้าพระประแดงดังทรงพระดำริ และเคยเป็นเมืองมีปราการก่ออิฐ…”

ด้าน รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้ข้อมูลสอดคล้องกันกับหนังสือสาส์นสมเด็จ ปรากฏในบทความ “เมืองพระประแดง : จากคลองเตยมานครเขื่อนขันธ์ จบที่อำเภอพระประแดง” เผยแพร่ในดำรงวิชาการว่า

บริเวณท่าเรือคลองเตยคือเมืองพระประแดงเก่า ก่อนจะนำชื่อเมืองไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่ตั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2358 ซึ่งคืออำเภอพระประแดงในปัจจุบัน

“ตำแหน่งเมืองพระประแดงก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ 23 อยู่ที่บริเวณท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน พอต่อในสมัยอยุธยาช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมืองพระประแดงได้เลื่อนลงไปบริเวณปากอ่าวตรงตำแหน่งจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน”

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ บอกต่อไปว่า สาเหตุสำคัญที่มีการย้ายเมืองพระประแดงลงไปจนถึงที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ คงเป็นเพราะพื้นที่บริเวณแถบปากน้ำซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้ขยายตัวพอที่จะตั้งชุมชนขนาดใหญ่ ถ้าเมืองพระประแดงซึ่งมีหน้าที่ดูแลปากแม่น้ำ แต่อยู่ลึกเข้าไปถึงบริเวณคลองเตยก็ดูจะไม่มีประโยชน์อันใด

ประกอบกับมี “คลองลัดโพธิ์” ซึ่งขุดขึ้นสมัยพระเจ้าท้ายสระ เป็นคลองที่ช่วยร่นระยะการเดินทางโดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมคุ้งบางกระเจ้าและคลองเตย จึงทำให้เมืองพระประแดงที่คลองเตยไม่ใช่ยุทธศาสตร์ในการควบคุมดูแลเส้นทางคมนาคมทางแม่น้ำอีกต่อไป

“เมื่อเมืองพระประแดงที่คลองเตยเริ่มหมดความสำคัญลง ประกอบจำนวนประชากรที่เบาบางเพราะผลกระทบของสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) จึงส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2314 มีการรื้อเอาอิฐกำแพงเก่าเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงและป้อมที่ธนบุรี…”

ด้วยเหตุนี้ จึงอนุมานตามข้อมูลหลักฐานได้ว่า คำว่า “พระประแดง” เป็นคำเก่า ปรากฏเป็นชื่อเรียก “เมือง” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่ชาวมอญกลุ่มใหญ่จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้

“มอญพระประแดง” มาจากไหน?

ชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่จะได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ให้ทำกินอยู่ในพื้นที่รอบๆ กรุงศรีอยุธยา หรือไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยานัก

มอญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ซึ่งกล่าวว่า เมื่อมอญถูกพม่ากดขี่ข่มเหงต่างๆ และไม่มีกำลังพอจะต่อสู้พม่าได้ จึงอพยพหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ดังพวก พระยาเจ่ง (เจ้าพระยามหาโยธา-เจ่ง คชเสนี) ซึ่งอพยพเข้ามาในครั้งกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2317 เป็นต้น

พงศาวดารบอกอีกว่า ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าปะดุงตั้งพม่าคนหนึ่งลงมาเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ แต่เบียดเบียนพวกมอญให้ได้ความเดือดร้อนต่างๆ พวกมอญไม่มีกำลังพอจะต่อสู้พม่าได้ มอญที่เป็นเจ้าเมืองขึ้นและกรมการหลายคน มีสมิงสอดเบาเป็นหัวหน้า ปรึกษากันว่าจะอพยพครอบครัวสมัครพรรคพวกเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงสยาม

สมิงสอดเบามีหนังสือลับเข้ามาถึงพระยากาญจนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2357 จากนั้นความทราบถึงรัชกาลที่ 2 ทรงไม่ขัดที่พวกมอญจะมาพึ่งพระบารมี พวกมอญจึงอพยพครอบครัวเข้ามาในพระราชอาณาจักร มาทางเมืองตากบ้าง เมืองอุทัยธานีบ้าง แต่โดยมากมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี

เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงทราบข่าว จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปรับครัวมอญอยู่ที่เมืองนนทบุรี ส่วนทางเมืองกาญจนบุรี โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ คุมไพร่พลไปรับครัวมอญ เป็นต้น

ครัวมอญมาถึงเมืองนนทบุรีเมื่อ พ.ศ. 2358 เป็นจำนวน 40,000 เศษ โปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง สมิงสอดเบาที่เป็นหัวหน้า ทรงโปรดให้ตั้งเป็น “พระยารัตนจักร”

ดร. องค์ บรรจุน ชาวไทยเชื้อสายมอญที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมอญ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอก “ศิลปวัฒนธรรม” ว่า

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้ชาวมอญอพยพเข้ามานั้น คราวแรกทรงโปรดให้อยู่ปทุมธานี พอมีข่าวฝรั่งจะบุกปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างป้อม และโปรดให้ย้ายครัวมอญพวกพญาเจ่งจากปทุมธานีไปอยู่ดูแลป้อมและเมืองนครเขื่อนขันธ์

ด้าน เพจ รามัญคดี – MON Studies กล่าวถึงที่มาการตั้งถิ่นฐานของมอญพระประแดง หรือ มอญปากลัด ไว้ในบทความ “17 หมู่บ้านมอญในพระประแดง” ว่า

มอญพระประแดง หรือ มอญปากลัด มีอีกชื่อที่ผู้คนนิยมเรียกกันคือ “มอญเชื้อเจ้า” (ဒတောဝ်သၞောဝ်ဨကရာဇ်မန်) เพราะกลุ่มที่มีบทบาทนำคือ มอญในกลุ่มพญาเจ่ง ผู้เป็นโอรสในเจ้าเมืองเตริน พระอนุชาในพญาทะละ พระเจ้าแผ่นดินหงสาวดีองค์สุดท้าย

มอญพวกพญาเจ่ง ที่อพยพเข้ามาสมัยธนบุรี และพวกที่อพยพเข้ามาเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือ พระประแดง ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันยังริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณใกล้ตลาดในปัจจุบัน) และตั้งชื่อหมู่บ้านเหล่านี้เป็นภาษามอญทั้งสิ้น

ชื่อหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านในเมืองมอญ และยังมีอยู่ในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาทุกวันนี้ เนื่องจากการอพยพของมอญเป็นการอพยพมากันเป็นหมู่คณะ พร้อมใจกันมานับครึ่งค่อนหมู่บ้าน เมื่อถึงแผ่นดินสยามแล้วก็ยังคงสมัครใจอยู่ร่วมกันกับเครือญาติเช่นเดิมเมื่อครั้งเคยอยู่ในเมืองมอญ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อหมู่บ้านของตนในเมืองมอญที่จากมา

17 หมู่บ้าน มอญพระประแดง

เพจ รามัญคดี – MON Studies บอกในบทความอีกว่า หมู่บ้านมอญในพระประแดง นับรวมกันได้ทั้งสิ้น 17 หมู่บ้าน (หมู่บ้านมอญเรียกว่า กวาน ကွာန်) ได้แก่

1. กวานดงฮะนอง ကွာန်ဍောၚ်သၞံၚ် ภาษามอญแปลว่า ดวงดาว ปัจจุบันเรียกว่าบ้านทรงคนอง

2. กวานเริ่งเกลิ่ง ကွာန်ရုၚ်ဂၠုၚ် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านโรงเรือ

3. กวานอะหม่าน ကွာန်လမာန် แปลว่าบ้านช่างปั้น (เป็นมอญที่อพยพมาจากหมู่บ้านเดียวกันกับ บ้านอาม่าน ที่เกาะเกร็ด) ปัจจุบันเรียกว่าบ้านอะหม่าน

4. กวานแซ่ฮ์ ကွာန်ဇြာ ในเมืองมอญเมื่ออดีต มีฐานะเป็นเมืองใหญ่ เรียกว่า เมืองแซ่ฮ์ ปัจจุบันทางการพม่าแยกย่อยออกเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อเมืองแซ่ฮ์จึงหายไป เหลือเพียงหมู่บ้านแซ่ฮ์ แต่เมืองแซ่ฮ์ยังถูกใช้เรียกขานในหมู่ชาวบ้าน ส่วนที่พระประแดงในปัจจุบันคงสถานะเป็นหมู่บ้าน เรียกว่าบ้านแซ่ฮ์

5. กวานตองอุ๊ ကွာန်တံၚ်ဥ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านตองอุ๊

6. กวานฮะมาง ကွာန်ထမၚ် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านทะมัง

7. กวานฮะเริ่น ကွာန်ဂရိၚ် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะเริ่นย์ ภาษามอญแปลว่า (ฟ้า) คำราม

8. กวานตา ကွာန်တာ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านตา ภาษามอญแปลว่า ตาล

9. กวานเว่ขะราว ကွာန်ဝါခရူ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านเว่ขะราว ภาษามอญแปลว่า บ้านทุ่งขรู่ (มีต้นขรู่ขึ้นมาก) ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านอยู่ในเมืองเร (เย) ทางใต้ของเมืองมะละแหม่ง ที่พระประแดงยังคงชื่อเดิม

10. กวานเต่อ ကွာန်ဒဵု ปัจจุบันเรียกว่าบ้านเต่อ ภาษามอญแปลว่า บ้านดอน

11. กวานดัง ကွာန်က္ဍိုၚ် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านดัง ภาษามอญแปลว่า บ้าน (ทำ) ร่ม (หรือฉัตร)

12. กวานจ่างบี ကွာန်ဇိုၚ်ၜဳ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านจ่างบี ภาษามอญแปลว่า บ้านริมน้ำ/ชายน้ำ

13. กวานเกริงกรัง ကွာန်ကြုၚ်ကြၚ် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านโกงกาง ภาษามอญแปลว่า บ้าน (ต้นพืช) โกงกาง

14. กวานฮะโต่นเจินย์ ကွာန်ဒဒန်စိၚ် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะโต่นเจิ่นย์ ကွာန်ဒဒန်စိၚ် ภาษามอญแปลว่า บ้านสะพานช้าง

15. กวานเจิ่มฮะมาย (กวานเชียงใหม่) ကွာန်ဆေၚ်မာဲ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านเชียงใหม่ ปัจจุบันชุมชนส่วนหนึ่งยังปรากฏอยู่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งถูกเวนคืน สร้างทางด่วน

16. กวานฮะกาม ကွာန်ဟကာံ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะกาม ภาษามอญแปลว่า บ้านแกลบ

17. กวานฮะโหมก ကွာန်ဗမံက် ปัจจุบันเรียกว่าบ้านฮะโหมก ภาษามอญแปลว่า บ้านตะวันออก

จากข้อมูลหลักฐาน จึงพอสรุปได้ว่า กลุ่มชาวมอญนำโดยพญาเจ่ง เข้ามาตั้งรกรากในสยามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จากนั้นชาวมอญได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกระลอกในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งในรัชสมัยนี้ทรงโปรดให้ชาวมอญตั้งรกรากหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ และมีการนำชื่อ “พระประแดง” ซึ่งมีมาแล้วก่อนหน้า ไปเรียกเมืองนครเขื่อนขันธ์

นี่จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ว่า “มอญพระประแดง” มีที่มาจากไหน 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เสมียนอารีย์. “กำเนิด ‘ท่าเรือคลองเตย’ บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่”. https://www.silpa-mag.com/history/article_55527

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 6. พระนคร : ห.ส.น.บุญส่งการพิมพ์, 2511. https://bit.ly/3Ucq6kt

เพจ รามัญคดี – MON Studies. “17 หมู่บ้านมอญในพระประแดง”. (ได้รับอนุญาตจากเพจให้นำข้อมูลมาเผยแพร่) 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2567