บทบาทและอิทธิพลของ “มอญ” ในราชสำนักสยามเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระธิดา หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร มอญ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ กับพระธิดา หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จากเฟซบุ๊ก The National Gallery of Thailand)

จากหลักฐานประวัติศาสตร์ สามารถพิจารณามิติต่างๆ ที่ มอญ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนักสยามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้โดยเริ่มจากความสำคัญของชาวมอญในแง่ของการเข้ารับราชการเป็นขุนนางในราชสำนักกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

เริ่มต้นที่บทบาทของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นตระกูลคชเสนี ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มมอญที่เข้ามานี้ตั้งบ้านเรือนในย่านปากเกร็ด เมืองนนทบุรี ไปจนย่านสามโคก เมืองปทุมธานี

Advertisement

พระยาเจ่งและทหารมอญได้มีบทบาทร่วมกับกองทัพสยามในการทำสงครามแทบทุกครั้ง เรียกว่าเป็นกลุ่มอาสามอญ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยาเจ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระยามหาโยธา บังคับบัญชากองทัพมอญทั้งปวงโดยเสด็จในการสงครามติดต่อมาทุกครั้ง

ต่อมาใน พ.ศ. 2330 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ จากความดีความชอบเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จฯ ไปตีเมืองทวาย เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบทบาทต่อราชการแผ่นดินทางการศึกสงครามระหว่างสยามกับพม่าเป็นส่วนใหญ่ พม่าจึงคิดจะแย่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ไป

โดยส่งหนังสือมายังเสนาบดีสยามให้ส่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) คืนให้พม่า เพราะถือว่าเป็นคนของพม่า แต่ฝ่ายไทยไม่ยอม พม่าจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงนำทัพหลวงขึ้นไปตีพม่าแตกพ่ายไป

ในหนังสือลำดับสกุลคชเสนีกับโบราณคดีมอญ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2508 มีประวัติของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ว่าท่านมีบุตรธิดา 5 ท่าน คือ

1. เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เกิดที่เมืองมอญ ได้ตำแหน่งแทนบิดา ถือเป็นต้นตระกูลสำคัญในสกุลคชเสนี

2. พระยาชมภู หรือ เจ้าชมภู เกิดที่เมืองเชียงแสน พระมารดาชื่อ เจ้าหญิงสมนา จึงมีศักดิ์เป็นเจ้าตามประเพณีล้านนา มีลูกหลานสืบสกุลมาในมณฑลพายัพ ซึ่งเจ้าชมภูเป็นพระปัยกา (ทวด) ของเจ้าราชบุตรแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง เจ้าผู้รั้งนครลำปางองค์สุดท้าย

3. พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม (ทอมา หรือ ทองมา) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์

4. พระยาราม (วัน)

5. ธิดาชื่อ ทับทิม

บุตรหลานของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ติดต่อกันมาถึง 9 ท่าน เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใน พ.ศ. 2365 บุตรของท่านคือ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) อยู่ในตำแหน่งปกครองชาวมอญแทน และต่อมาพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ได้ถวายบุตรสาวชื่อกลิ่น เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชโอรสประสูติด้วยเจ้าจอมมารดากลิ่น คือพระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล กฤดากร)

อาจเห็นได้ว่าขุนนางมอญมีบทบาททางด้านการรบและการรักษาพระราชอาณาจักรมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งมีความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์มาก

(ซ้าย) “คุณกลิ่น” หรือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “ลูกศิษย์” คนหนึ่งของแหม่มแอนนา
(ขวา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ทรงฉายร่วมกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นพระมารดา

ส่วนกฎหมายสำคัญที่กรุงศรีอยุธยานำมาปรับใช้ตั้งแต่อดีตและเป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งชำระในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือพระมนูธรรมศาสตร์มอญ รวมทั้งราชนีติ ซึ่งเป็นกฎหมายและข้อปฏิบัติสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ และพื้นฐานของกฎหมายในสังคมสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส อธิบายว่า ที่มาของพระคัมภีร์ธรรมศาสตร์นั้นอาจมาจากความเชื่อของอินเดีย ที่เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ถ่ายทอดหลักธรรมนี้แก่มนูหรือพระมนู แล้วพระมนูถ่ายทอดต่อให้กับนักปราชญ์โบราณ เรียกในชั้นต้นว่า มานวธรรมศาสตร์

เมื่อมีการรับคัมภีร์นี้เข้ามาในดินแดนพระพุทธศาสนา เช่นดินแดนมอญ จึงได้มีการอธิบายพระธรรมศาสตร์เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแก่นคำสอนทางพุทธศาสนา และเรียกชื่อว่า “ธรรมสัตถัม” โดยแปลงเรื่องที่มาของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ใหม่ ไม่ให้มีเรื่องเทพเจ้าฮินดู แต่เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์แทน

คัมภีร์ธรรมสัตถัม แรกไม่ปรากฏว่าเขียนขึ้นเมื่อใด แต่มีการเรียบเรียงขึ้นโดยพระเถระธรรมวิลาศ เมื่อ พ.ศ. 1717 ที่เมืองมอญ จากนั้นพระคัมภีร์นี้ได้แพร่กระจายเข้ามาในดินแดนไทย และกลายเป็นแก่นของราชนีติ และธรรมนีติ ซึ่งเป็นข้อธรรมะและข้อพึงปฏิบัติที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติเพื่อความสุขสวัสดีของประชากร (แสวง, 2543 : 88-91)

สำหรับราชประเพณีที่กรุงรัตนโกสินทร์รับมาจากมอญ คือการนิมนต์พระสงฆ์รามัญนิกาย เจริญพระพุทธมนต์เสกทำน้ำพระปริตร ซึ่งนับเป็นประเพณีวังที่สำคัญประเพณีหนึ่ง เจ้าพนักงานจะนิมนต์พระรามัญนิกายจากวัดตองปุหรือวัดชนะสงคราม เข้ามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรเสกทำน้ำมนต์ที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง

น้ำพระปริตรนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนหนึ่งเป็นน้ำสรงพระพักตร์และน้ำสรงของพระมหากษัตริย์ อีกส่วนหนึ่งบรรจุในบาตร 2 ใบ ให้เจ้าหน้าที่มณเฑียรบาล ถือตามพระครูพระปริตร 2 องค์ ถือหญ้าคา เข้าประตูดุสิตศาสดา ประพรมรอบพระมหามณเฑียรเป็นประทักษิณาวรรต แล้วออกทางประตูสนามราชกิจ เรียกว่าพิธีพระนำมนต์ (เกรียงไกร, 2550 : 61)

อนึ่งชื่อวัดตองปุ เป็นวัดมอญมาแต่ครั้งอยุธยา มีทั้งที่เมืองลพบุรีและอยุธยา สื่อให้เห็นว่าพระรามัญนิกายได้มีบทบาทและผูกพันกับราชสำนักมาแต่โบราณด้วย

ประเพณีพระสงฆ์รามัญเป็นผู้เจริญพระพุทธมนต์เสกทำน้ำพระปริตรนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระบรมราชาธิบายมูลเหตุ 3 เรื่อง ไว้ในเรื่องประเพณีพระสงฆ์รามัญสวดพระปริตร ทำน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชวังชั้นใน ความตอนหนึ่งว่า

“…แต่การซึ่งมีนิยมเฉพาะให้พระสงฆ์รามัญพวกเดียวประจำสวดพระปริตอย่างรามัญในพระราชวังนี้ จะมียืนยันมาในพระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุการณ์ต่อมาเป็นแน่นอนก็ไม่มี มีแต่คำกล่าวเล่า ต่อๆ กันมาว่าต่างๆ บางพวกว่าเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้านั้น ทรงนับถือพระมหาเถรกันชองว่าเป็นครูอาจารย์มาแต่เมืองหงสาวดี แลได้มีความชอบมาก จึงพระราชทานถานันดรยศให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช และทรงนับถือพระสงฆ์รามัญมาก แต่นั้นมาจึงได้ฉะเพาะให้อาราธนาแต่พระสงฆ์รามัญสวดปริตในพระราชวังดังนี้บ้าง  

บางพวกกล่าวว่า พระสงฆ์รามัญรูปหนึ่งกับน้องหญิงมาด้วยกันในป่า ครั้นถึงเมืองสยามแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงรังเกียจไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย พระสงฆ์รามัญรูปนั้นจึงบอกว่าตัวบริสุทธิ์อยู่ เมื่อเวลานอนในป่าได้วางพร้า ภาษารามัญเรียกว่าปะแระตะราย เล่มหนึ่งไว้ท่ามกลาง มีแต่พร้าเป็นพยาน จึงทำสัตยาธิษฐาน ฉะเพาะต่อความบริสุทธิ์แลไม่บริสุทธิ์ แล้วขว้างพร้าลงไปในน้ำ พร้านั้นบันดาลลอยเห็นเป็นประจักษ์ พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความเรื่องนี้ จึงทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ตั้งพระภิกษุนั้นเป็นที่พระไตรสรณธัชะ แล้วทรงนับถือพระสงฆ์รามัญ ซึ่งเป็นศิษย์พระไตรสรณธัชะองค์นั้นสืบมา จึ่งให้อาราธนาแต่พระสงฆ์รามัญมาสวดพระปริตในพระราชวังเป็นนิตย์นิรันดร์ เป็นธรรมเนียมมาดังนี้ก็มีบ้าง  

พวกหนึ่งกล่าวว่า เมื่อครั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งในกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เกิดปีศาจคนองหลอกหลอนยิ่งนักในพระราชวัง คนบางพวกกล่าวว่า สายรุ้งตกลงในพระราชวังทุกวันไม่หายไป ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน มีพระราชโองการดำรัสให้นิมนต์พระสงฆ์ไทยที่มีชื่อเสียงเล่าลือต่างๆ ว่าดีมีอานุภาพมาสวดพระปริต แลให้แพทย์หมอผู้รู้วิทยาคมต่างๆ มาประกอบวิทยาการแก้ไข เพื่อจะบำบัดอุปัทวโทษ คือปีศาจที่คนองหรือสายรุ้งลงนั้น การก็หาสงบ หาอันตรธานหายไปไม่

ภายหลังจึ่งให้นิมนต์พระสงฆ์รามัญวัดตองปุมาสวดพระปริต พระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานไทยธรรมต่างๆ พระสงฆ์รามัญก็ไม่รับ แสดงลัทธิว่า ควรจะรับได้แต่อาหารบิณฑบาตในเวลาภิกขาจารอย่างเดียว ถ้ารับไทยธรรมอื่นๆ ก็เป็นลาภ เพราะทำพระปริตนั้นแล้ว ก็เป็นอันเห็นแก่อามิษไป จะสวดพระปริตก็ไม่มีอำนาจ ไม่อาจบำบัดอุปัทวันตรายได้ พระเจ้าแผ่นดินจึงได้พระราชทานแต่อาหารบิณฑบาตอย่างเดียวเท่านั้น ตามคำพระสงฆ์รามัญๆ จึงเจริญพระปริต

ปีศาจที่คนองหรือสายรุ้งที่ลงนั้น ก็อันตรธานสงบเสื่อมหาย แต่นั้นมาพระสงฆ์รามัญจึงได้สวดพระปริตในพระราชวังชั้นใน พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแต่อาหารบิณฑบาต เรียกว่าทรงบาตรพระปริต พระราชทานก่อนเป็นปฐมในเวลาเช้าทุกวันมิได้ขาด และมิได้ให้มีไทยธรรมสิ่งอื่นถวายพระสงฆ์รามัญสวดพระปริตเหมือนพวกพระสงฆ์สวดจตุเวทนั้นเลย เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้…” (ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2547 : 67-69)

นอกจากนั้น เมื่อมีชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเข้ารับราชการในราชสำนักมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏย่านที่อยู่อาศัยของชาวมอญที่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังมากนัก เช่นบริเวณฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง หรือบริเวณทางทิศใต้ของเขตพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แนวคลองที่ขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไปออกคลองบางกอกใหญ่ได้ เรียกว่าคลองมอญ เป็นไปได้ว่าเป็นย่านชุมชนมอญอพยพเข้ามาตั้งใหม่ เพราะอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง

คลองนี้ไม่ปรากฏชื่อมาก่อน สันนิษฐานว่าเรียกตามชื่อที่ตั้งบ้านเรือนของท้าวทรงกันดาล (ทอง หรือ ทองมอญ) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เป็นได้ ท้าวทรงกันดาลนี้เป็นชาวท่าสิบเบี้ยแต่ครั้งกรุงเก่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ย้ายมาตั้งนิวาสสถานใกล้กับพระราชวังเดิม มีธิดา 1 คน ชื่อทิม นำขึ้นถวายเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชโอรสด้วยเจ้าจอมมารดาทิม คือพระองค์เจ้าอัมพวัน

นับได้ว่าชาว มอญ” ยังมีบทบาทใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจนตั้งบ้านเรือนใกล้พระบรมมหาราชวังได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม : 

เกรียงไกร วิศวามิตร. ประเพณีวัง. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2550.

ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ความทรงจำ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2560.

เทศนาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานประดิษฐานพระบรมรูป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า บนพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี .. 2505. กรุงเทพฯ : ..., 2505.

ปรีดี พิศภูมิวิถี. สยามศึกษาในสายตาชาวฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561.

ลำดับสกุลคชเสนีกับโบราณคดีมอญ, พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงจำเริญพิพิธมนตรี เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 9 มีนาคม .. 2508.

แสวง บุญเฉลิมวิภาส. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ‘พระราชนิยมมอญ’” เขียนโดย รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2563