ตามรอย เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มอญต้นวงศ์ “เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น” ผู้คิดทำ “ข้าวแช่”

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) (ภาพจากสมาคมไทยรามัญ, อ้างใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551)

ในสมัยกรุงธนบุรีต่อกรุงรัตนโกสินทร์ ชนชาติมอญถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเมืองในช่วงเวลานั้นมาก โดยเฉพาะมอญกลุ่มของ “พระยาเจ่ง” (ต้นตระกูลคชเสนี) เจ้าเมืองเตริน ซึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทยในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2317

แต่ช่วงสมัยกรุงธนบุรีนั้น มอญกลุ่มของท้าวทรงกันดาลและเจ้าพระยาจักรีมอญมีความสำคัญในราชสำนักอยู่มาก มอญกลุ่มของพระยาเจ่ง ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในภายหลัง จึงไม่มีโอกาสถวายราชการใกล้ชิดพระเจ้าตากเท่ากับมอญสองกลุ่มแรก

มอญกลุ่มของพระยาเจ่งนี้ ได้อพยพเข้ามาเพื่อลี้ภัยจากการกดขี่ของพม่า ในสมัยของพระเจ้ามังระ ซึ่งก่อนหน้านั้นพม่าได้เกณฑ์มอญรบกับกองทัพของกรุงธนบุรี โดยพม่าได้เกณฑ์ทหารมอญมาประมาณ 3,000 นาย มีหัวหน้าใหญ่ ได้แก่ พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน, พระยาอู่ ตละเสี้ยง และตละเก็บ เป็นทัพหน้านำทางกองทัพพม่าที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ โดยพม่าได้จับครอบครัวของทหารมอญเป็นตัวประกันเพื่อไม่ให้หนีทัพ

แต่ในท้ายที่สุด มอญกลุ่มของพระยาเจ่งทนการถูกกดขี่ไม่ไหว จึงก่อกบฏและฆ่าทหารผู้คุมชาวพม่าทั้งหมด 500 นาย ที่เมืองกาญจนบุรี แล้วยกทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ เมืองจิตตอ เมืองหงสาวดี เรื่อยมาถึงเมืองย่างกุ้ง ทว่า อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่า นำกองทัพที่มีทหารกว่า 10,000 นาย มาปราบปราม ผลปรากฏว่า มอญเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงต้องหนีเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์และเมืองตาก

พระเจ้าตากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับมอญไว้ใต้พระบรมโพธิสมภาร โดยโปรดให้ข้าหลวงออกไปต้อนรับครัวมอญอพยพเหล่านี้ และโปรดให้พระยาเจ่งมาตั้งถิ่นฐานเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยอยู่บริเวณอำเภอปากเกร็ด และอำเภอสามโคก

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) (ภาพจากสมาคมไทยรามัญ, อ้างใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551)

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“ฝ่ายพวกรามัญซึ่งหนีพม่ามานั้น พระยาเจ็งตละ เสี้ยงตละเก็บ กับพระยากลางเมือง ซึ่งหนีเข้ามาครั้งกรุงเก่าพม่าตีกรุงได้ ได้ตัวกลับไปและสมิงรามัญนายไพร่ทั้งปวง พาครอบครัวเข้ามาทุกด่านทุกทาง ให้ข้าหลวงไปรับถึงพระนครพร้อมกัน แล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงนนท์บ้าง เมืองสามโคกบ้าง แต่ชายฉกรรจ์จัดได้ 3000 โปรดให้หลวงบำเรอศักดิ์ครั้งกรุงเก่าเป็นเชื้อรามัญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ เรียกว่า ‘จักรีมอญ’”

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาเจ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “จักรีมอญ” แทนที่เจ้าพระยารามจัตุรงค์ที่ถูกประหารชีวิตพร้อมกับพระเจ้าตาก โดยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงให้เรียกตำแหน่งดังกล่าวว่า “เจ้าพระยามหาโยธา” เหมือนดังเช่นในสมัยอยุธยา

สายสกุลของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) กลายเป็นสกุลเชื้อสายมอญที่มีบทบาทมากที่สุดในราชสำนักในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยท่านมีบุตรชายชื่อ “ทอเรียะ” ซึ่งได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าพระยามหาโยธาต่อจากบิดาเช่นกัน และนายทอเรียะยังมีหลานปู่ชื่อ “ซ่อนกลิ่น” ซึ่งภายหลังได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 และประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นสกุลกฤดากร

(ซ้าย) “คุณกลิ่น” หรือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “ลูกศิษย์” คนหนึ่งของแหม่มแอนนา, (ขวา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ทรงฉายร่วมกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น พระมารดา

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นผู้นี้เป็นลูกศิษย์คนโปรดของ “แหม่มแอนนา” ท่านเป็นสตรีที่มีหัวคิดทันสมัย สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้รวดเร็ว กล่าวกันว่า เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดีจนสามารถแปลหนังสือเรื่อง “Uncle Tom s Cabin” จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยอีกด้วย

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นยังเป็นเจ้าของต้นตำรับ “ข้าวแช่ชาววัง” สืบเนื่องจากการที่ได้มีโอกาสตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่บ่อย ๆ จึงคิดทำข้าวแช่จากอาหารดั้งเดิมของมอญที่เรียกว่า “เปิงด้าจก์” ขึ้นถวายรัชกาลที่ 4 ในระหว่างที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานอยู่ที่พระตำหนักเขาวัง เมืองเพชรบุรี จนทำให้ข้าวแช่กลายเป็นอาหารชาววัง และเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้านในแถบเมืองเพชรบุรีจนกลายเป็น “ข้าวแช่เมืองเพชร”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปเรตร์ อรรถวิภัชน์. (เมษายน, 2551). บทบาทของชนชาติมอญ ต่อประวัติศาสตร์และสังคมไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 29 : ฉบับที่ 6.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2565