แอนนากับเจ้าจอมในพระเจ้ากรุงสยาม สตรีอังกฤษผู้ทรงอิทธิพลต่อราชสำนัก

แอนนา เลียวโนเวนส์ แหม่มแอนนา
แอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4

แอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ “ครูแหม่ม” บ้างก็เรียก “แหม่มแอนนา” เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1834 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงว่าจ้างมาสอนหนังสือให้พระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้าจอม เมื่อ ค.ศ. 1862 โดยมี หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกชายของเธอติดตามมาสยามด้วย

แอนนารับราชการอยู่ 5 ปี 6 เดือน จึงเดินทางกลับอังกฤษ หลังจากนั้นได้แต่งหนังสือ 2 เล่ม คือ The English Governess at the Siamses Court และ The Romance of the Harem และถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. 1916 อายุ 82 ปี

ในหนังสือ แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ANNA AND THE KING OF SIAM (มากาเร็ต แบนดอน เขียน กัณหา แก้วไทย แปล. บีเอส พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิเคชั่น, 2559) ที่รวบรวมงานเขียนของ แอนนา เลียวโนเวนส์ ทั้งสองชิ้น ได้บอกเล่าเรื่องราวของแอนนาในสยามโดยละเอียด ในบทความนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างแอนนากับเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแอนนาในพระราชสำนักฝ่ายในของสยาม

แอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ แหม่มแอนนา
แอนนา เลียวโนเวนส์

แอนนา เลียวโนเวนส์ กับเจ้าจอมมารดาตลับ

ในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1862 แอนนา เลียวโนเวนส์ เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 เป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในวันนั้นทรงแนะนำให้แอนนารู้จักกับ “ภรรยา” ของพระองค์

“บนพื้นห้องมีร่างหญิงสาวผู้หนึ่งหมอบนิ่ง หล่อนมีร่างเล็กเหมือนเด็กแบบบางราวกับตุ๊กตากระเบื้อง ใบหน้าสะสวยเช่นเดียวกับรูปร่าง…”

รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำรัสว่า “นี่คือภรรยาของฉัน…หล่อนชื่อเจ้าจอมตลับ หล่อนต้องการเรียนภาษาอังกฤษ และเคยเรียนมาบ้างแล้วกับครูผู้หญิงพวกมิชชันนารี หล่อนฉลาดมากพอ ๆ กับความสวย เราต้องการให้หล่อนเรียนภาษาอังกฤษเก่ง ขอให้เธอช่วยสอนหล่อนด้วย”

เจ้าจอมมารดาตลับเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ 4 คนหนึ่ง ซึ่งแอนนาก็รู้สึกชื่นชอบเจ้าจอมมารดาตลับตั้งแต่แรกพบ

ต่อมา เมื่อแอนนาถูกเรียกตัวเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง และได้มีโอกาสพบปะกับเจ้าจอมมารดาตลับอีกครั้ง ทั้งสองคนพบกันที่ศาลาแห่งหนึ่ง เจ้าจอมมารดาตลับเอนลงนอนบนพื้นหินอ่อนที่เย็นสบาย หนุนหีบหมากทองคำต่างหมอน แล้วกวักเรียกแอนนาให้เข้ามาใกล้ ๆ แอนนาเข้าไปนั่งข้าง ๆ แล้วทั้งสองจึงเริ่มสนทนา แต่ไม่ค่อยเข้าใจกันมากนัก

“ฉันดีใจมากที่ได้พบแหม่มอีก ไม่ได้เห็นเสียนาน ทำไมแหม่มจึงไปสอนช้านักเล่า?” เจ้าจอมมารดาตลับถาม

แอนนาตอบกลับไปหลายประโยค เธอพยายามใช้คำศัพท์ง่าย ๆ และประโยคง่าย ๆ แต่ดูเหมือนว่าเจ้าจอมมารดาตลับจะไม่เข้าใจสิ่งที่แอนนาตอบเลย เจ้าจอมมารดาตลับยังคงพยายามพูดภาษาอังกฤษ (เท่าที่เคยเรียนมา) กับแอนนาต่อไป แต่แอนนาก็ไม่ค่อยเข้าใจและยังสร้างความลำบากใจต่อเธอไม่น้อย แอนนายังคงพยายามทำความเข้าใจและแสดงไมตรีจิตต่อเจ้าจอมตลับ เพราะต้องการผูกมิตรไว้เพื่อทำให้การทำงานของเธอในอนาคตลุล่วงและราบรื่น

ราวชั่วโมงต่อมา เมื่อไม่มีใครอยู่ในศาลา เจ้าจอมมารดาตลับขยับเข้ามาหาแอนนาอย่างรวดเร็ว แล้วกระซิบข้างหูแอนนาว่า “แหม่มมัตตูนที่รัก ฉันรักและคิดถึงคุณมาก ลูกเล็ก ๆ ของคุณตาย คุณมาที่วัง…แล้วร้องไห้ ฉันรักคุณ”

แหม่มมัตตูนผู้นี้คือมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เคยเข้ามาสอนหนังสือในพระราชสำนักเมื่อหลายปีก่อน แอนนาได้ยินสารลับนี้จึงทำให้เธอรู้สึกว่า “…หญิงสาวผู้มีลักษณะเหมือนเด็กผู้นี้ถูกกักขังอยู่เบื้องหลังกำแพงวังที่ต้องห้าม พยายามจะส่งข่าวสู่โลกภายนอก…เจ้าจอมตลับได้หาวิธีที่แปลกและไม่มีใครเหมือนนี้ส่งความรักและคำปลอบใจไปยังผู้ที่ตนนับว่าเป็นมิตรคนหนึ่ง…”

การที่เจ้าจอมมารดาตลับต้องการให้แอนนานำสารนี้ส่งถึงยังแหม่มมัตตูน เท่ากับว่าท่านมั่นใจว่าแอนนาจะไม่แพร่งพรายเรื่องนี้ถึงพระกรรณรัชกาลที่ 4 แอนนาจึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจเจ้าจอมตลับอย่างมาก

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่แอนนาสอนหนังสือในสยาม เธอกับเจ้าจอมมารดาตลับสนิทสนมกันมากขึ้นกว่าวันแรก ๆ ต่อมาราวต้น ค.ศ. 1864 เจ้าจอมมารดาตลับมักเชิญแอนนาไปร่วมพิธีทางพุทธศาสนาอยู่เนือง ๆ “ไปด้วยกันนะแหม่ม วันนี้เป็นวันพระ เราต้องไปวัด แหม่มต้องไปด้วย แล้วฉันจะอธิบายให้ฟัง”

และตลอดระยะเวลาที่แอนนาอยู่ในสยาม ทั้งสองก็มักไปมาหาสู่กันเสมอ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เจ้าจอมซ่อนกลิ่น

ในวันแรกที่แอนนาได้เข้าไปสอนหนังสือในพระบรมมหาราชวัง โดยมีหลุยส์เป็นครูตัวเล็ก ๆ ช่วยสอนอีกแรง นักเรียนกลุ่มแรกคือพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 จำนวน 21 พระองค์ พระชันษาระหว่าง 5-10 ชันษา นอกจากนี้ ยังมีเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาบางคนมานั่งเรียนด้วย

ทว่า เจ้าจอมบางคนแอบย่องออกจากห้องเรียนไป เพราะรู้สึกเบื่อหน่าย แต่มีเจ้าจอมมารดาคนหนึ่งที่คอยเรียนอยู่ห่าง ๆ เธอ “…กำลังเรียนอย่างตั้งอกตั้งใจ ดูหน้าตาของหล่อนซีดเซียว เศร้าสร้อยหงอยเหงา ก้มหน้าอยู่เหนือเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นลูกชายของหล่อนเอง…”

แอนนาสังเกตว่าเจ้าจอมท่านนี้ตั้งใจเรียนมาก โดยเฉพาะการจดจ่อกับการออกเสียงภาษาอังกฤษของหลุยส์ แอนนาคิดว่าเจ้าจอมท่านนี้ไม่ค่อยสวยนัก ดวงตาดำสนิท ลึกซึ้ง เต็มไปด้วยความรู้สึก สงบเสงี่ยม และเศร้าสร้อย เธอคิดว่าเจ้าจอมคงทำอะไรให้รัชกาลที่ 4 กริ้วจึงไม่เป็นที่โปรดปราน

แอนนาอธิบายว่า บรรดานักเรียนของเธอที่มาเรียนสม่ำเสมอมีเพียงแต่พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เว้นแต่เจ้าจอมหน้าตาซีดเซียวผู้นั้นที่ยังคงมาเรียนเสมอ แอนนาใช้เวลาพอสมควรในการทำความรู้จักจนสนิทสนมกับเจ้าจอมท่านนี้ จนได้ทราบชื่อว่า “ซ่อนกลิ่น” แอนนาสนใจเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นมาก เพราะท่านเป็นคนที่เรียนรุดหน้าเร็วพอ ๆ กับพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เลยทีเดียว

ต่อมา แอนนาเห็นว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเรียนรู้ไปไกลเกินกว่าที่หลุยส์จะสอนได้ แอนนาจึงเสนอสอนเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นด้วยตัวเธอเองอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งทำให้เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นปีติมาก แอนนาบันทึกว่า เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นลูกศิษย์ที่ขยันขันแข็ง มาเรียนอย่างพากเพียรและไม่เคยขาดเรียน

เวลาผ่านไป เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมากขึ้น ถึงขั้นอ่านหนังสือ Uncle Tom’s Cabin หรือ “กระท่อมน้อยของลุงทอม” แล้วแปลเป็นภาษาไทยได้ เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นชอบอ่านหนังสือเล่มนี้มาก เพราะท่านยกย่องและชื่นชอบผู้ประพันธ์ ถึงขนาดเอาชื่อผู้ประพันธ์มาเป็นชื่อของท่านเอง ดังเช่นชื่อลงท้ายจดหมายถึงแอนนาว่า “Harriet Beacher Stowe Sonklin” (แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ซ่อนกลิ่น)

เรื่องที่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นไม่เป็นที่โปรดปรานนั้น แอนนาอธิบายว่าทำให้ท่านหมดสิ้นความหวังที่จะให้รัชกาลที่ 4 ทรงรักใคร่ใยดี ท่านจึงมุ่งความสนใจไปที่พระราชโอรสแทน นั่นคือ พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร พระองค์เป็นเด็กขี้อายและสงบเสงี่ยมเจียมตัวเช่นพระมารดา และการที่รัชกาลที่ 4 ไม่โปรดเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นทำให้ไม่โปรดพระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหารด้วยเช่นกัน ตามที่แอนนาบันทึกว่า “สมเด็จพระจอมเกล้าทรงรักใคร่แต่เฉพาะพระโอรสธิดาของเจ้าจอมมารดาที่พระองค์โปรดเท่านั้น”

วันหนึ่ง แอนนาพบกับเจ้าจอมมารดาตลับในห้องเรียนแล้วบอกแอนนาว่า “แหม่มจ๋า ซ่อนกลิ่นกำลังลำบาก…ซ่อนกลิ่นถูกจับไปขังคุก” แอนนาตกตะลึงไม่น้อย จึงรีบไปยังคุกทันที

แอนนาเวทนาเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นอย่างมาก เธอพรรณาคุกมืดแห่งนี้ว่า ทั้งดำมืด สกปรก เปียกชื้น และเต็มไปด้วยสัตว์เลื้อยคลาน “แหม่มคะ แหม่ม ช่วยฉันด้วย” คำพูดเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเมื่อได้เห็นแอนนามาเยี่ยม

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเล่าให้แอนนาฟังถึงสาเหตุที่ถูกจับขังคุกมืดว่า ตระกูลคชเสนี ครอบครัวของท่านต้องการถวายฎีกาขอพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 4 ให้ทรงแต่งตั้งพี่ชายของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นไปเป็นเจ้าเมืองแทนตำแหน่งของลุงที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านจึงนำฎีกาให้พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหารไปทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 4

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรฎีกาฉบับนั้นก็กริ้ว ทรงขว้างฎีกาใส่พระพักตร์พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร เหตุที่ทรงกริ้วเพราะทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองไว้แล้ว (แต่ยังไม่มีใครทราบ) รับสั่งว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นวางแผนบ่อยทำลายพระราชอำนาจของพระองค์ เพราะเป็นพวกที่สืบเชื้อสายมอญ ซึ่งเป็นอริกับสยามมาเนิ่นนาน แล้วรับสั่งให้นำตัวเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นขังคุกมืด โดยมิได้ไต่สวนหาความเท็จจริง เพราะทรงตัดสินแล้วว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นผิดจริง

แอนนาจึงมาพบสมุหพระกลาโหม (ยศในขณะนั้นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์หรือช่วง บุนนาค) เพื่อขอความช่วยเหลือ สมุหพระกลาโหมตำหนิแอนนาที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องส่วนพระองค์ แต่ท่านก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากตระกูลคชเสนีมีพรรคพวกและอิทธิพลมาก หากทราบเรื่องดังกล่าวคงโกรธรัชกาลที่ 4 และอาจแปรพักตร์ไปเข้ากับฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นกำลังแผ่อิทธิพลในสยาม

แอนนากล่าวเชิงข่มขู่สมุหพระกลาโหมว่า การลงโทษเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นนั้นไม่ยุติธรรม หากต่างชาติทราบเรื่องก็จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติ สมุหพระกลาโหมฟังอย่างเคร่งขรึมและรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4

สมุหพระกลาโหมเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 อย่างรีบเร่ง แต่ไม่ได้กราบทูลเรื่องเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นโดยตรง ท่านทำเป็นไม่รับรู้ โดยกราบบังคมทูลว่า การประกาศแต่งตั้งเจ้าเมืองนั้นล่าช้าเนื่องจากยังไม่ได้พิมพ์และออกประกาศโดยทั่ว จึงไม่มีใครทราบว่ารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวไปแล้ว เรื่องจึงเป็นอันยุติ ไม่นานจากนั้นเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นจึงถูกปล่อยตัวออกจากคุกมืด

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้กราบทูลขออภัยโทษให้กับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

เมื่อแอนนากับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้พบหน้ากันหลังจากที่คุกมืด เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นกล่าวขอบคุณแอนนาด้วยความซาบซึ้งใจ ถึงกับถอดแหวนมรกตออกแล้วสวมใส่นิ้วแอนนา มอบให้เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่ช่วยชีวิตท่าน วันต่อมาเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นยังได้ส่งของกำนัลมามอบให้อีกจำนวนมาก

เวลาล่วงเลยผ่านไป ทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก แอนนาสอนภาษาอังกฤษให้เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ขณะเดียวกันเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นก็สอนภาษาไทยและขนบธรรมเนียมในพระราชสำนักฝ่ายในให้แอนนาเช่นกัน ราว ค.ศ. 1863 แอนนาป่วย ไม่ได้เข้ามาสอนหนังสือในพระบรมมหาราชวังนานนับเดือน เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นถึงกับสวดมนต์ขอให้แอนนาหายป่วยโดยเร็ว รวมถึงบนบานศาลกล่าวว่า หากแอนนาหายป่วยจะปล่อยชีวิตเจ็ดพันชีวิต และเมื่อแอนนาหายป่วยแล้ว เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นจึงต้องปล่อยปลาตัวเล็ก ๆ เจ็ดพันตัวลงแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่บนเอาไว้

เรื่องนี้ ปรามินทร์ เครือทอง วิเคราะห์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547 (อ่านเพิ่มเติม) ว่า “…การที่จะถวายฎีกาในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ และการลงโทษเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับปัจฉิมลิขิตที่ว่า ‘ป.ล.๒ ฉันขอแจ้งให้เธอทราบว่าฉันได้ให้อภัยโทษแก่ คุณกลิ่น นักเรียนของเธอ ตามคำขอร้องของสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว’…”

ปัจฉิมลิขิตที่ว่านั้นมาจากจดหมายรัชกาลที่ 4 ถึงแอนนา เป็นจดหมายฉบับที่ 3 เลขที่ 80 ทรงมีมาจากเมืองสวรรคโลก ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2408

ปีสุดท้ายก่อนที่แอนนาจะเดินทางออกจากสยาม เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเชิญแอนนาและหลุยส์มารับประทานอาหารเย็นร่วมกันที่เรือนของท่าน โดยคอยส่งคนมาเตือนแอนนาว่ามิให้ลืมงานเลี้ยงนี้เป็นอันขาด ทำให้แอนนารู้สึกว่าต้องเป็นงานเลี้ยงพิเศษใหญ่โต

ในวันงานวันนั้นก็เป็นงานเลี้ยงที่แสนวิเศษ อาหารทั้งคาวหวาน และดนตรีก็เพรียบพร้อม ทว่าที่พร้อมมากที่สุดคงเป็นบรรดาทาสทั้งชายหญิงในเรือนที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ จากนั้นเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นกล่าวต่อแอนนาด้วยน้ำเสียงกังวานว่า

ฉันอยากเป็นคนดีเหมือนแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ฉันจะไม่ซื้อขายทาสอีกต่อไป แต่จะปล่อยให้เขาเป็นอิสระตลอดไป ฉะนั้นนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันไม่มีทาสอีกแล้ว แต่จะจ้างคนรับใช้และให้อิสระแก่ทุกคนที่รับใช้ฉัน ใครจะอยู่กับฉันหรือจะไปไหนก็ได้ ถ้าจะกลับบ้านฉันก็ดีใจด้วย นี่คือสัญญาปลดปล่อยทาสที่ฉันจะให้ทุกคนไป ทุกคนเป็นอิสระแล้ว ถ้าใครจะยังอยู่ต่อไป ฉันก็ยินดีรับและจะให้เงินเดือน ๆ ละสี่บาทพร้อมทั้งเสื้อผ้าและอาหาร”

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นจึงเป็นบุคคลแรก ๆ ในสยามที่เลิกทาสก่อนมีกฎหมายอย่างเป็นทางการนานหลายปี สิ่งนี้ทำให้แอนนารู้สึกตื้นตันมาก เธอคิดว่าหากแค่สอนภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และคิดว่าการทำงานด้วยความยากลำบากและทุ่มเทตลอดห้าปีมานี้คุ้มค่าตั้งแต่คืนนี้แล้ว  และเมื่อแอนนาออกจากสยามไปหลายปี และรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศเลิกทาสแล้วนั้น ราว ค.ศ. 1872 เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นมีจดหมายถึงแอนนา อธิบายด้วยความตื่นเต้นว่าสยามปราศจากทาสแล้ว ความว่า

“แหม่มคงไม่รู้จักเราอีกแล้ว เราเปลี่ยนเป็นคนที่เป็นไท ทาสที่เป็นไทแล้วบางคนไม่อยากจากนาย ไปพากันร้องห่มร้องไห้อย่างดีใจ บางคนก็รีบผละไปสู่อิสระอย่างสุดแสนดีใจ ฉันกับน้องสาวดีใจมากจนไม่กล้าพูดว่าเรามีความสุขสักเพียงใด เพราะเกรงว่ามันจะกลายเป็นเรื่องความฝัน…”

แอนนา เลียวโนเวนส์ กับเจ้าจอมมารดาเที่ยง

แรกเริ่มที่แอนนาเข้าไปในพระบรมมหาราชวังนั้น เธอไม่ค่อยรู้จักและคุ้นหน้าใครเท่าใด แต่เมื่อนานวันเข้าเธอจึงสนิทสนมและคุ้นเคยกับผู้คนและสถานที่มากขึ้น เจ้าจอมท่านหนึ่งที่ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของแอนนาอีกคนหนึ่งคือ “เจ้าจอมมารดาเที่ยง”

แอนนาพรรณาว่า “เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นคนสำคัญที่สุดในบรรดาเจ้าจอมทั้งหลาย ท่านมีอายุประมาณสามสิบปี ผิวพรรณขาวหมดจดงดงาม ผมและดวงตาเป็นเงางาม เป็นคนฉลาดและมีเมตตา แม้จะไม่ได้รับการศึกษาสูงดังเช่นเจ้านายบางองค์ในราชสำนักฝ่ายใน”

เจ้าจอมมารดาเที่ยงมีความสำคัญมากกว่าเจ้าจอมคนอื่น ๆ เนื่องจากขณะนั้นมีพระราชโอรสและพระธิดากับรัชกาลที่ 4 จำนวนมากถึง 7 พระองค์ จึงเป็นที่ยอมรับกันในพระราชสำนักฝ่ายในว่า ท่านเป็นพระสนมเอกเหนือกว่าเจ้าจอมท่านอื่น ๆ ถึงแม้จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก็ตาม เพราะในช่วงเวลานั้น พระมเหสีสองพระองค์คือ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว

แอนนาอธิบายถึงความ “เป็นใหญ่” ของเจ้าจอมมารดาเที่ยงในพระราชสำนักฝ่ายในว่า ท่านมีหน้าที่ดูแล ปรนนิบัติถวายงานรับใช้จนเป็นที่โปรดมาก ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมดูแลห้องเครื่องต้น ควบคุมพระกระยาหารของรัชกาลที่ 4 บางครั้งก็ลงมือทำด้วยตัวเอง อีกเรื่องที่แสดงถึงความ “เป็นใหญ่” ของเจ้าจอมมารดาเที่ยงคือ ท่านมักจะปิดบังเรื่องราวต่าง ๆ ในพระราชสำนักฝ่ายในมิให้ความทราบถึงพระกรรณรัชกาลที่ 4 เพราะเกรงว่าจะทำให้มีเรื่องรบกวนพระทัยมากเกินไป ท่านกล่าวว่า

“พระเจ้าอยู่หัวไม่ควรจะทรงรับรู้เรื่องอะไร ๆ ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ท่านต้องทรงรับรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับประชาชนของพระองค์ และต้องทรงรู้ทั้งภาษาอังกฤษ บาลี และสันสกฤต ฉันสงสัยเหลือเกินว่าพระองค์ท่านจะบรรทมหลับได้อย่างไร เมื่อภาษาต่าง ๆ สับสนวุ่นวายอยู่ในสมอง”

แอนนานับถือเจ้าจอมมารดาเที่ยงว่าเป็นคนใจอ่อนและเมตตาสงสารผู้อื่น เมื่อเธอมีเรื่องทุกข์ใจอันใดก็มักมาปรึกษาท่าน และจะโล่งใจเมื่อท่านบอกเธอว่า “ไม่ต้องกังวลไปหรอกน่าแหม่มจ๋า ฉันจะจัดการให้เอง”

ความสัมพันธ์ของทั้งสองอยู่ในระดับ “เชื่อใจ” กันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกรณี “แผนการ” เพื่อคลายพระอารมณ์กริ้วของรัชกาลที่ 4

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นคนใจอ่อนและเมตตาสงสารผู้อื่น ยิ่งเฉพาะกับบรรดาสตรีในราชสำนักฝ่ายในด้วยกันแล้ว ก็คงจะเห็นใจกันเป็นพิเศษ เมื่อใดที่รัชกาลที่ 4 กริ้วหรือมีรับสั่งให้นำตัวสตรีในราชสำนักฝ่ายในไปทำโทษโบยตี เจ้าจอมมารดาเที่ยงจึงได้ร่วมมือกับแอนนาในการแก้ไขเรื่องนี้ โดยท่านจะให้คนไปแจ้งแอนนาให้รีบมาเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 โดยแอนนาจะแสร้งมาขอพระราชทานคำปรึกษา คำแปลภาษาสันสกฤตบ้าง ภาษาไทยบ้าง หรือถามคำถามต่าง ๆ บ้าง

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรเห็นแอนนาก็จะมีรับสั่งให้มาเข้าเฝ้า ทรงหันมาสนพระทัยและสนทนากับแอนนาจนทรงลืมเรื่องที่กำลังกริ้วอยู่ จนกระทั่งทรงโบกพระหัตถ์ไล่ผู้เคราะห์ร้ายหรือคนที่กำลังถูกกริ้วให้ออกไปจากห้อง ซึ่งแผนการนี้ประสบความสำเร็จมาโดยเสมอ แม้จะกลัวรัชกาลที่ 4 จับได้ แต่ก็รอดทุกครั้ง

แอนนาไปมาหาสู่เจ้าจอมมารดาเที่ยงโดยเสมอ และมักแวะไปที่ตำหนักบ่อยครั้ง นั่นเพราะเธอต้องไปเบิกสมุดและดินสอที่ตำหนักอยู่เป็นประจำ

(ซ้าย) “คุณกลิ่น” หรือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “ลูกศิษย์” คนหนึ่งของแหม่มแอนนา
(ขวา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ทรงฉายร่วมกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นพระมารดา

เจ้าจอมมารดาแก้ว

ระหว่างแอนนากับเจ้าจอมมารดาแก้วไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง แต่จะข้ามเจ้าจอมมารดาท่านนี้ไปเสียมิได้

เจ้าจอมมารดาแก้วเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งไม่เป็นที่โปรดปราน เช่นเดียวกันกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น แต่กรณีเจ้าจอมมารดาแก้วนั้นร้ายแรงกว่ามาก เพราะท่านติดการพนันอย่างหนัก นำทรัพย์สินของพระราชธิดาไปเดิมพันเล่นพนันจนหมดสิ้น เหลือไว้เพียงทาสรับใช้เพียง 6 คน จนรัชกาลที่ 4 มีรับสั่งให้นำตัวเจ้าจอมมารดาแก้วไปคุมขังเป็นการลงโทษ

อย่างไรก็ตาม แม้พระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญาจะใช้ชีวิตอย่างลำบาก แต่ “แม่น้อย” ทาสที่เลี้ยงดูพระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญาก็ปรนนิบัติรับใช้เจ้านายอย่างสุดความสามารถ เวลาพระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญามาเรียนหนังสือ แอนนาสังเกตเห็นว่าพระองค์มิได้ซูบผอม แต่กลับเปล่งปลั่ง อุดมสมบูรณ์ และดูมีความสุขเสมอ ถึงแม้พระมารดาและพระบิดาจะทอดทิ้งพระองค์ก็ตาม

แม่น้อยและทาสที่เหลือพยายามผลักดันให้พระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญามาเรียนหนังสือกับแอนนา เนื่องจากพยายามเลี่ยงไม่ให้พระองค์ได้พบกับรัชกาลที่ 4 เพราะเกรงว่าหากทรงทอดพระเนตรก็จะกริ้วขึ้นมาอีก ทว่า เมื่อครบกำหนดคุมขังเจ้าจอมมารดาแก้วแล้ว ท่านก็ยังลักลอบเล่นการพนันอีก จนมีผู้นำความไปฟ้องรัชกาลที่ 4 จนทรงพระพิโรธหนัก และมีรับสั่งให้นำตัวไปเฆี่ยน

ต่อมา พระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญามาเรียนโดยที่ไม่มีแม่น้อยติดตามมาด้วย แอนนาจึงเกิดความสงสัยจึงวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง เธอคิดว่าเจ้าจอมมารดาแก้วเล่นพนันเสียครั้งนี้ น่าจะได้ขายแม่น้อยไปด้วยเป็นแน่ ส่วนคนที่ชนะพนันนั้นก็ต้องอยู่ในพระราชสำนักฝ่ายใน และไม่น่าจะใช่บรรดาเจ้าจอมด้วยกัน เธอคิดว่าอาจเป็นเจ้านายสตรีคนหนึ่งซึ่งเป็นพระญาติของรัชกาลที่ 4

แอนนาคิดว่า “เหตุใดเจ้าจอมมารดาแก้วจึงถูกลงโทษเพียงคนเดียว คงเป็นเพราะคนที่เล่นการพนันกับท่าน คงเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงพอที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงละเลยไม่เอาผิด”  แอนนาสืบเรื่องราวดังกล่าวจนทราบเรื่อง แล้วจึงเข้าเฝ้าเจ้านายสตรีพระองค์นั้นทันที แอนนาเจรจาซื้อแม่น้อยกลับคืนมาด้วยเงินของเธอเอง และมีการเขียนสัญญาซื้อขายกันอย่างถูกต้อง

แอนนานึกสงสัยตัวเองอยู่ว่า เธอเป็นพวกต่อต้านการมีทาสแต่กลับมีทาสไว้ครอบครองเสียเอง เธอให้แม่น้อยกลับไปดูแลพระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญาตามเดิม แต่เธอก็ต้องเป็นเจ้าชีวิตของแม่น้อยต่อไป เพราะหากเธอทำสัญญาโอนแม่น้อยคืนให้พระองค์เจ้าหญิงวาณีรัตนกัญญาแล้วนั้น เจ้าจอมมารดาแก้วก็คงเอาแม่น้อยไปเดิมพันเล่นพนันอีกเป็นแน่

กระบวนเสด็จรัชกาลที่ 4 ไปยังวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม

ส่งท้าย

ไม่เพียงแต่เจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมทั้งสี่ท่านนี้เท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแอนนา มีเจ้าจอมคนหนึ่งซึ่งเป็นคนสำคัญ เป็นที่รู้จักและอื้อฉาวมากที่สุดก็คือ “เจ้าจอมทับทิม” ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ เพราะเรื่องของเจ้าจอมทับทิมนั้นยืดยาวไม่น้อย

แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ANNA AND THE KING OF SIAM ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแอนนากับสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในอย่างชัดเจน ซึ่งความสัมพันธ์นี้ก่อตัวขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือการให้ความสนใจในการเรียนหนังสือกับแอนนา และการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

แอนนากลายเป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลในพระราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งเธออาจไม่รู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่เพียงแต่เป็นครูสอนหนังสือ เธอยังทำหน้าที่เสมือนราชเลขานุการส่วนพระองค์ เสมือนที่ปรึกษาส่วนพระองค์ และทำงานใกล้ชิดรัชกาลที่ 4 โดยตลอด อิทธิพลของแอนนาเห็นได้จากการที่คนในราชสำนักมาขอให้เธอช่วยเหลือ เพราะต่างก็คิดว่าแอนนาเป็นคนที่กล้ากราบทูลและกล้าทัดทานรัชกาลที่ 4

ซึ่งสะท้อนมาถึงการขอขึ้นเงินเดือน ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิเสธแอนนา เพราะมีพระราชดำริว่า ที่แอนนามาขอให้ช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ นั้น แอนนาได้รับสินน้ำใจมาอยู่แล้ว ตามพระราชดำรัสความว่า

“…บางเรื่องเป็นเรื่องของความทุกข์ยากและไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วก็มาขอร้องให้เราจัดการให้เราก็ยอมทำให้…ถ้าเราทำตามที่หล่อนร้องเรียนมาในเรื่องคนยากคนจนเดือดร้อนอะไรทั้งหมดนั่น หล่อนก็คงจะมีเงินทองบ้าง หล่อนจะโง่ถึงกับจะช่วยเขาเปล่า ๆ รึ?” 

แอนนาพูดไม่ออกและคิดว่ารัชกาลที่ 4 เข้าพระทัยในตัวเธอผิด พระราชดำรัสนี้ทำให้แอนนารู้สึกเหมือนถูกตีแสกหน้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2563