ไฉน “แหม่มแอนนา” ปลื้ม “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์” พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง

แอนนา เลียวโนเวนส์ แหม่มแอนนา
แอนนา เลียวโนเวนส์ ในวัยสาว เมื่อครั้งที่เข้ามาเป็นครูในราชสำนักสยาม

แหม่มแอนนา หรือ แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) เป็นชื่อที่ชาวไทยจำนวนไม่น้อยได้ยินแล้วสะดุ้ง เหตุมาจากบันทึกของเธอที่มีเนื้อหาคาบลูกคาบดอกอย่างมาก เรื่องราวที่ แหม่มแอนนา บอกเล่านั้นมีมากมาย โดยส่วนหนึ่งแหม่มแอนนาเล่าถึงเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ที่น่าสนใจคือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง

แหม่มแอนนา มีเชื้อสายลูกผสมที่เกิดในอินเดีย มีสถานะเด็กยากจน เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 1862 พร้อมลูกชายวัย 6 ขวบ (บางแห่งว่า 7 ขวบ) เธอเดินทางเข้ามาเพื่อเป็นครูพี่เลี้ยงในราชสำนักสยาม สมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาครูพี่เลี้ยงเพื่อสอนพระราชโอรสและพระราชธิดา ให้เตรียมตัวรับมือกับตะวันตก

ข้อเท็จจริงนอกเหนือจากเรื่องปรุงแต่งแล้ว แหม่มแอนนามีโอกาสให้การศึกษากับเจ้าจอม และพระราชโอรส-พระราชธิดา ในรัชกาลที่ 4 แหม่มแอนนนาอยู่ในราชสำนักสยามนานเกือบ 5 ปี และเดินทางออกจากสยามใน ค.ศ. 1867

บันทึกของนักประวัติศาสตร์ระบุว่า เธอมีปัญหาสุขภาพ ป่วยด้วยโรคอหิวาต์ 2 ครั้ง อลิซาเบธ มาฮอน ระบุว่า เธอถูกคนทำร้าย 2 ครั้งและถูกขู่มากกว่า 1 ครั้ง

บันทึกความทรงจำ 2 เล่มที่แหม่มแอนนาเขียนขึ้นคือ “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem” ทำให้เธอมีชื่อเสียงกว้างไกล แต่นักประวัติศาสตร์ต่างวิเคราะห์กันว่าเนื้อหาหลายส่วนในเล่มเขียนเกินความเป็นจริง และผสมจินตนาการเพื่อสร้างสีสันในเรื่องราว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงพระราชธิดาแล้ว แหม่มแอนนาเล่าถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระราชธิดาองค์โปรดของกษัตริย์ และยังเป็นนักเรียนคนโปรดของเธอ

แหม่มแอนนาเล่าถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของพระราชธิดาองค์โปรดไว้ในหนังสือ ซึ่ง สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court” เป็นฉบับภาษาไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แหม่มแอนนาเอ่ยถึงเจ้าหญิงพระองค์นี้ว่าเป็นที่เสน่หาพระราชบิดาเป็นที่สุด ข้อความส่วนหนึ่งในโพสต์ของผู้แปลหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court”  ระบุว่า

“แหม่มแอนนา รับรู้เรื่องนี้ทั้งจากพระโอษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจากโอษฐ์เจ้าหญิงเอง และแหม่มแอนนาก็ประจักษ์ถึงความเสน่หาอาลัยอย่างที่สุดของผู้เป็นพระราชบิดาเมื่อ ‘เจ้าฟ้าหญิง’ สิ้นพระชนม์ด้วยอหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2406/ 1863 ในวัยเพียงแปดชันษา”

นอกเหนือจากเจ้าฟ้าจันทรมณฑลแล้ว ในหนังสือเล่มเดียวกัน แหม่มแอนนายังเล่าถึงพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ว่า เป็นนักเรียนคนแรกที่ “คิงมงกุฎ” (รัชกาลที่ 4) จูงมือมาส่งให้เธอในวันเปิดโรงเรียนในวังหลวง และแนะนำเธอกับพระราชธิดาผู้นี้ว่า “ครูสอนภาษาอังกฤษ”

สุภัตราโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวบรรยายว่า แหม่มแอนนาเล่าว่า คิงมงกุฎทรงปฏิบัติต่อพระราชธิดาองค์นี้อย่างอ่อนโยน และเธอเองก็ประทับใจกับผิวพรรณที่งดงาม รูปร่างอันบอบบาง กับแววตานิ่งสงบของพระองค์หญิงผู้มีวัย 10 ชันษาในขณะนั้น

ผู้แปลหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ยังเล่าว่า แหม่มแอนนามักพูดถึงพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ และเป็นหนึ่งในพระราชธิดาไม่กี่องค์ที่พระราชบิดาโปรดให้ติดตามและกล่าวถึงอยู่เสมอในจดหมายและบันทึกของพระองค์

“นอกจากโปรดให้ตามเสด็จแล้ว ในจดหมายเหตุต่างๆ ก็มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ยังเป็นลูกสาวที่ปรนนิบัติพัดวีตราบจนพระบิดาสวรรคต”

อย่างไรก็ตาม พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ต้องอาญา “ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์” ด้วยลักลอบพบปะและมีสัมพันธ์กับอดีตภิกษุจนตั้งครรภ์ และคลอดลูกคาตำหนัก เหตุเกิดใน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สุภัตราอธิบายว่า พระองค์หญิงฯ ที่ได้รับการสถาปนาพระยศเป็น “พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา” ในแผ่นดินนี้ จึงถูกลดพระยศเป็น “หม่อมยิ่ง” ถูกริบทรัพย์ ถูกนำไปจองจำ กระทั่งสิ้นชีพในปีนั้นเอง ในวัยเพียง 34 ชันษา

เนื้อหาเบื้องลึกเกี่ยวกับราชสำนักสยามจากปลายปากกาของแหม่มแอนนาที่ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ฉบับแปลภาษาไทยชื่อว่า “อ่านสยามตามแอนนา : การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มาโฮน, อลิซาเบธ เคอร์รี่. นางฉาวในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

สุภัตรา ภูมิประภาส. “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง”. Facebook / Subhatra Bhumiprabhas. Online. 6 มีนาคม 2019. <https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10217716703130512&set=a.10200374261900320&type=3&theater>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2562