แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล?

แอนนา เลียวโนเวนส์ แหม่มแอนนา
แอนนา เลียวโนเวนส์ ในวัยสาว เมื่อครั้งที่เข้ามาเป็นครูในราชสำนักสยาม

แอนนา เลียวโนเวนส์ คือครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยาม สมัย รัชกาลที่ 4 เรื่องราวที่ แอนนา เลียวโนเวนส์ บันทึก ทำให้เห็นชีวิตในราชสำนัก แต่ก็มีหลายจุดที่ก่อให้เกิดคำถาม จนเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน ไม่มีเรื่องอะไรน่าตื่นเต้นได้เท่ากับการค้นพบ “หลักฐานใหม่” ทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถให้ความกระจ่างในเรื่องซึ่งเคยคลาดเคลื่อนมานานนับ 100 ปี เช่นนี้อีกแล้ว

ปลายปี 2546 ศิลปวัฒนธรรมได้ค้นพบความน่าตื่นเต้นที่ว่าโดยบังเอิญ เป็นสำเนาจดหมาย 8 ฉบับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีไปถึง My Dear Madam! แอนนา เลียวโนเวนส์ สำเนาจดหมายทั้ง 8 ฉบับนี้ไม่เคยตีพิมพ์ หรือถูกอ้างอิงที่ใดมาก่อน แต่เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรนี่เอง

ที่มาของ “จดหมายแอนนา” ชุดนี้ แจ้งตามหนังสือของศาลาว่าการมหาดไทย ที่ 334/13194 ลงวันที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) เป็นจดหมายของพระยาศรีสหเทพ มีขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่านายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ได้ไปพบมารดา ซึ่งเก็บพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้หลายฉบับ

เดิมที แอนนา เลียวโนเวนส์ “คิดว่าจะพิมพ์ให้แพร่หลาย แต่ก็ยังไม่ได้จัดการเรียบเรียงประการใด” นายหลุยส์จึงได้ทำสำเนาพระราชหัตถเลขานั้นมามอบให้พระยาศรีสหเทพ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

แม้จะมีการรวบรวมพระราชหัตถเลขาที่เป็น “จดหมาย” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกันหลายครั้ง รวมจำนวนประมาณ 144 ฉบับ แต่ในจำนวนนี้ก็ไม่เคยปรากฏ “จดหมาย” ที่ทรงมีไปถึง แอนนา เลียวโนเวนส์ แม้แต่ฉบับเดียว

นอกจากนี้ “จดหมายแอนนา” ชุดนี้ต้องได้ผ่านพระเนตรของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามในคำกราบบังคมทูลของพระยาศรีสหเทพว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าได้นำถวายพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว และข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายสำเนาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท”

แต่เมื่อหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นสภานายกอยู่นั้น ได้รวบรวมพิมพ์พระราชหัตถเลขาครั้งแรกในปี 2462 ครั้งที่ 2 ในปี 2464 และครั้งที่ 3 ในปี 2465 เป็นลำดับมา กลับไม่มีครั้งใดที่มี “จดหมายแอนนา” รวมอยู่ด้วย

สำเนาจดหมายชุดนี้จึงหายไปนับตั้งแต่มีการทูลเกล้าฯ ถวายถึง 94 ปี จนกระทั่งศิลปวัฒนธรรมไปพบเข้าโดยบังเอิญ

แอนนา เลียวโนเวนส์ เดินทางเข้ามาสยามเพื่อถวายงานสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอม หม่อมห้าม ตามคำเชิญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2405 และกลับออกไปจากสยามในปี 2410 รวมเวลาประมาณ 5 ปีกว่า

ในเวลา 5 ปีนี้เอง ที่เกิดปัญหาตามมาภายหลังขึ้นมามากมายว่าแอนนามีบทบาทอย่างไรในราชสำนักสยาม แอนนาผลักดันหรือชี้แนะอะไรบ้าง และทำจริงตามที่เขียนไว้ในหนังสือหรือไม่ เมื่อมีการสอบสวนเรื่องนี้โดยนักวิชาการ ก็ได้บทสรุปที่เชื่อกันว่าแอนนาแท้จริงแล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ และลุกลามไปถึงการโจมตีหนังสือของแอนนาว่าโกหก หลอกลวง และดูหมิ่นเกียรติพระมหากษัตริย์สยาม

ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นจากหนังสือ 2 เล่นที่แอนนาเขียนขึ้น คือ The English Governess at the Siamese Court  และ The Romance of the Harem เนื้อหาของหนังสือ 2 เล่มนี้กล่าวพาดพิงโดยตรงถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและบทบาทของแอนนาในการ “ชี้นำ” นโยบายบางอย่าง ทำให้นักวิชาการไทยเดือดดาลต่อข้อเขียนนี้อย่างมาก รวมไปถึง “ฝรั่งคลั่งสยาม” อย่างมัลคอล์ม สมิธ (Malcolm Smith)  และเอ.บี. กริสโวลด์ (A.B. Griswold) ที่ต่างก็ “สับ” แอนนาไม่มีชิ้นดี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2 เล่มนี้ว่า

“แหม่มแอนนาอาจมีความจำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงลูก จึงปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นให้มีรสชาติพอที่จะขายสำนักพิมพ์ได้ ตอนที่นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่นางเขียนออกมานั้น ก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลังเพราะจริงๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดออกมาเลย” (จีระนันท์ พิตรปรีชา, ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์, ประพันธ์สาส์น, 2542)

ส่วนมัลคอล์ม สมิธ ก็กล่าวไว้ไม่ต่างกันมากนัก

“หนังสือที่เธอแต่งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่สอง แสดงให้เห็นว่านางมีความสามารถในการแต่งเรื่องไม่จริงได้ สุดแล้วแต่ปากจะพาไป” (มัลคอล์ม สมิธ, ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ, กรมศิลปากร, 2537)

เช่นเดียวกับกริสโวลด์ ที่ไม่ยอมรับหนังสือทั้งสองเล่มของแอนนาเหมือนกัน

“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงแค้นเคืองหนังสือของเธอ แม้ว่าหนังสือของนางเลียวโนเวนส์ จะมีสิ่งดีๆ อยู่เป็นอันมากแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะเหตุว่าเราไม่อาจยอมรับข้อความตอนใดได้ว่าเป็นความจริง ถ้าไม่มีหลักฐานยืนยันจากที่อื่น การวิจัยย่อมแสดงให้เห็นว่าวิธีแต่งหนังสือของเธอนั้นใช้ไม่ได้” (เอ.บี. กริสโวลด์, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุลทรงพิมพ์, 2508)

หากเรายอมรับข้อวิจารณ์เหล่านี้ ก็เท่ากับว่าเราควรจะประเมินหนังสือทั้ง ๒ เล่มของแอนนาว่าไม่ควรอยู่ในประเภท “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” แต่ควรจะจัดไปอยู่ในประเภท “นิยาย” และเมื่อประเมินคุณค่าของหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้เป็นประเภทนิยายแล้ว นักวิชาการไทยก็ไม่ควร “หลง” ไปวิจารณ์หนังสือแอนนาในฐานะ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” อีก ยังไม่รวมนักวิชาการที่ “หลง” ไปวิจารณ์แอนนาจากหนังและละคร ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้หาสาระที่จะกล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้

แน่นอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ และแอนนาก็สมควรถูก “ด่า” ในบางเรื่อง ซึ่งการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในสายตาฝรั่งย่อมมีการผิดเพี้ยนไปเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งวันวลิต ลาลูแบร์ หรือปาเลกัว แต่น่าเสียดายที่นักวิชาการไทยไม่ยอมรับหนังสือของแอนนาทั้งหมด แม้กระทั่งไม่ยอม “สกัด” เอาส่วนที่น่าเชื่อถือมาใช้งาน

หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ซึ่งแอนนาเขียนเป็นบทความลงในนิตยสาร The Atlantic Montly ตั้งแต่ปี ๒๔๑๓ ก็จะพบว่าสิ่งที่แอนนารู้เห็นในราชสำนักสยามนั้นอยู่ในระดับ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ได้ แต่บทความชุดนี้ไม่เคยมีนักวิชาการท่านใดเคยอ้างถึง

จากนั้นบทความชุดนี้คงได้รับความนิยม จนแอนนาคิด “ปรุง” หนังสือเพราะ “จำเป็นต้องหาเงินเลี้ยงลูก” จึงกลายมาเป็นหนังสือ The Romance of the Harem นั้น แม้แอนนาจะมีเจตนาให้เป็น “นิยาย” แท้ๆ แต่ “หลักฐานใหม่” ที่พบนี้กลับชี้ร่องรอยบางประการของความเป็นจริงไว้อย่างไม่น่าเชื่อ

การค้นพบ “หลักฐานใหม่” นี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวน “ความเป็นแอนนา” กันใหม่ทั้งหมดโดยเฉพาะข้อวิจารณ์ที่ว่า “นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่นางเขียนออกมานั้น  ก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลังเพราะจริงๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดออกมาเลย” ความเห็นนี้ขัดแย้งกับ “จดหมายแอนนา” ชุดนี้อย่างสิ้นเชิง

เฉพาะจดหมายเลขที่ 108 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบเรื่องทาสนั้น ย่อมแสดงบทบาทของแอนนา “ในราชสำนักสยาม” ต่างไปจากการรับรู้เดิมโดยสิ้นเชิง จดหมายฉบับนี้ชี้ชัดว่าแอนนากับ “คิงมงกุฎ” มีการพูดคุยกันในระดับที่มากไปกว่านายจ้างกับครูภาษาอังกฤษ

(ปัจฉิมลิขิตส่วนตัวแท้ๆ)…อย่างที่ฉันเคยบอกกล่าวกะเธอมาแล้วเมื่อก่อนนี้ที่เราได้พูดคุยกันเรื่องกิจการบ้านเมือง

นอกจากนี้เรื่องการต่อสู้เพื่อให้อิสระกับทาสของแอนนา ตามที่ปรากฏใน The Romance of the Harem ก็มีเค้าความจริงในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เช่นกัน

“ส่วนตัวฉันเองนั้น, ถึงจะเป็นเจ้าแผ่นดินของชาวสยามก็จริง, ที่จะไปถอดถอนหญิงดังกล่าวทั้งสองจากข้อผูกมัดให้รับใช้สอยนายที่ถูกต้องตามบทกฎหมายแล้วก็ย่อมจะเป็นการล่วงล้ำกฎหมายแลธรรมเนียมของชาวสยามหนักหนาทีเดียว, หรือว่าจะช่วยเอื้อเฟื้อให้เธอไปซื้อหาหญิงทาสดังกล่าวมาแล้วค่อยปล่อยไป โดยไม่ได้ขอความยินยอมพร้อมใจจากคุณแพผู้เป็นนายเสียก่อน ก็เห็นเป็นการอุกอาจหนักหนาเท่ากัน”

นี่คือข้อเท็จจริงที่สูญหายไปเกือบร้อยปี จากนี้ไป “หลักฐานใหม่” ซึ่งเป็นจดหมายทั้ง ๘ ฉบับนี้คงจะเปิดโอกาสให้แอนนาได้อุทธรณ์ และแก้ข้อกล่าวหาบางส่วนได้บ้าง

“จดหมายแอนนา” ที่ศิลปวัฒนธรรมนำมาเปิดเผยนั้น อาจจะทำให้สังคมไทยได้รับมากไปกว่า “ความตื่นเต้น” แต่อาจถึงขั้น “พลิกประวัติศาสตร์” เลยก็เป็นได้ อยู่ที่ว่านักวิชาการไทยจะยอมรับข้อเท็จจริงแบบนี้ หรือยังคงชอบใช้หลักฐานประวัติศาสตร์ของฮอลลีวู้ดอยู่ก็ไม่ว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

ปรามินทร์ เครือทอง. “แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล”. สายลับวังหลวง และโลกมายา ของแอนนา เลียวโนเวนส์. ไกรฤกษ์ นานา, ปรามินทร์ เครือทอง (นำเสนอ). กรุงเทพฯ: มติชน, 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2560