รู้จักคนไทยคนแรกในกองถ่ายหนัง Anna and the King of Siam และความขัดแย้งเรื่องบท

ผู้เขียนในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิค กำลังให้คำแนะนำแก่ลินดา ดาแนล ซึ่งแสดงเป็นเจ้าจอมทับทิม พร้อมด้วยผู้กำกับการแสดง จอห์น ครอมเวล (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547)

เรื่องราวของ “แหม่มแอนนา” หรือ แอนนา เลียวโนเวนส์ ที่เข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอมและหม่อมห้าม ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการถ่ายทอดทั้งในรูปแบบหนังสือและภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพราะเรื่องราวชีวิตของ แหม่มแอนนา นั้นมีสีสัน ให้ภาพชีวิตในราชสำนักสยามช่วงนั้นจากมุมมองของชาวตะวันตก 

ครั้งที่มีการสร้าง Anna and the King (ออกฉาย พ.ศ. 2542) เวอร์ชั่น โจว เหวิน ฟะ รับบทเป็น “คิงมงกุฎ” โจดี้ ฟอสเตอร์ เป็น “แหม่มแอนนา” แอนนา เลียวโนเวนส์ มีคนไทยไปเป็นที่ปรึกษากองถ่ายคือ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ท่ามกลางกระแสคัดค้านหนังเรื่องนี้อย่างหนัก แต่ด้วยความคิดที่ว่า ดีกว่าปล่อยให้ฝรั่งทำตามใจชอบ อาจารย์เผ่าทองจึงตัดสินใจรับงานชิ้นนี้

แต่เมื่อสืบย้อนกลับไปจะพบว่าเหตุการณ์ที่คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในหนังที่สร้างจากชีวิตบางช่วงของ “แหม่มแอนนา” เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่บริษัทฟ็อกซ์ หยิบเอาหนังสือขายดีของมาร์กาเร็ต แลนดอน เรื่อง Anna and the King of Siam ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2487 มาดัดแปลงเป็นบทหนังครั้งแรก และตั้งชื่อเดียวกับหนังสือ ออกฉายในปี 2489 ด้วยเงินลงทุนมากถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีคนไทยเข้าไปรับบทเป็นที่ปรึกษาคือ สวัสดิ์ นิติพน

สวัสดิ์รับงานนี้ด้วยความบังเอิญบวกกับความพยายาม เนื่องจากขณะนั้นเดินทางไปพักผ่อนในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ประจวบเหมาะกับกำลังจะมีการถ่ายทำ Anna and the King of Siam ด้วยความที่เป็นคนชอบดูหนัง และมีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม จึงพยายามสืบเสาะติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ จนกระทั่งได้เซ็นสัญญากับบริษัทฟ็อกซ์ ในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Adviser)

โชคดีที่สวัสดิ์ไม่ได้ทิ้งประสบการณ์ครั้งสำคัญนี้ไปเฉย ๆ แต่กลับมาบันทึกรายละเอียดเบื้องหลังการทำงานไว้ในหนังสือ “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ เบื้องหลังการทำงาน อีกส่วนหนึ่งเป็นคำแปลบทภาพยนตร์

หนังสือ แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม โดย สวัสดิ์ นิติพน

แม้ว่าเนื้อหาในส่วนแรกซึ่งเป็นบันทึกด้วยความตื่นตาตื่นใจของผู้เขียนเมื่อได้เห็นการทำงานสร้างหนังของฝรั่ง แต่เมื่ออ่านในยุคนี้คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ การเป็นคนไทยคนเดียวในกองถ่ายหนังที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ สถานการณ์ของสวัสดิ์ที่สะท้อนออกมาในหนังสือเล่มนี้ จึงไม่แตกต่างกับสถานการณ์ของอาจารย์เผ่าทองแม้แต่น้อย ดังปรากฏในคำนำของ ม.ล.ชูชาติ กำภู ว่า

“ก็รู้สึกว่า นายสวัสดิ์ฯ ก็ได้พยายามคัดค้านในการแสดงบางตอนที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เป็นอย่างมาก บางโอกาสก็แก้ไขได้ แต่บางโอกาสเขาก็ไม่ยอม ต่อไปก็ควรพิจารณาว่า เมื่อเขาไม่ยอมแล้วนายสวัสดิ์ฯ ควรลาออกทิ้งงานไปเสียหรือไม่ สมมุติว่าทิ้งไป การผ่อนหนักผ่อนเบาก็จะไม่มีเสียเลย”

อย่างไรก็ดี แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะว่าด้วยเรื่องเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่ในบางส่วนก็บอกเล่าเรื่องสำคัญที่คนไทยไม่เคยรู้มาก่อน เช่น พระเอกของเรื่องคือ เร็กซ์ แฮริสัน ได้มีโอกาสพบกับ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และ พระองค์เจ้าพีระ ในประเทศอังกฤษ และได้พูดคุยกันถึงเรื่องการแสดงนี้แล้ว ก่อนที่จะเดินทางมาอเมริกา ซึ่งเจ้านายทั้งสองพระองค์ก็แสดงความยินดีที่เร็กซ์ แฮริสัน จะรับบท “คิงมงกุฎ” เป็นต้น

ส่วนความรู้สึกของสวัสดิ์ในฐานะ “ตัวแทนประเทศไทย” ที่ต้องรับผิดชอบดูแลความถูกต้องสมจริงของหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างจากคนไทยโดยทั่วไปคือ

“สำหรับท่านที่ได้ดูภาพยนตร์ หรืออ่านคำแปลในหนังสือเล่มนี้แล้ว อาจจะไม่ชอบบางตอน เพราะผิดจากความจริงต่าง ๆ นานา สิ่งเหล่านี้ข้าพเจ้าเองก็ไม่ชอบ และได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะขอแก้ บางสิ่งบางอย่าง เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ก็ยอมแก้ให้บ้างเล็กน้อย แต่ก็มีอีกหลายข้อที่ไม่ยอมแก้”

แต่ในที่สุด Anna and the King of Siam ก็ออกฉาย และได้รับความชื่นชมจากอเมริกันชนโดยทั่วกัน เกร็ดอีกเรื่องของหนังเรื่องนี้คือ ก่อนที่จะนำไปฉายจริง ผู้สร้างได้ทดลองนำไปฉายในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งก่อน เพื่อต้องการความคิดเห็นจากคนดู และสื่อมวลชนที่เชิญมาเป็นพิเศษ ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

ในวันฉายรอบปฐมฤกษ์ (Premiere) สวัสดิ์ได้บันทึกถึงความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ไว้ว่า มีดาราจากทุกสาขา ทุกบริษัทมากันพร้อมหน้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประมาณการผู้คนที่มาในงานนี้ ทั้งคนที่ซื้อบัตรดูหนังแล้ว และคนที่ยังไม่มีตั๋วหนัง รวมไปถึง “ฝรั่งมุง” ที่มารอดูดารา มีจำนวนมาถึง 15,000 คน

สิ่งหนึ่งที่สวัสดิ์อึดอัดและระบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับความรู้สึก “ต่อต้าน” หนังเรื่องนี้ของคนไทยคือ

“พวกเราบางคนออกจะคิดแคบไปสักหน่อยที่ตำหนิเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้นำความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศไทยเรา เพราะมีหลายตอนที่ไม่ตรงกับความจริง แต่หากคิดให้ลึกซึ้งลงไป ไม่ว่าการที่บริษัทฟ็อกซ์ได้ลงทุนเป็นจำนวนเงินถึงสองล้านเหรียญสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าเขามีประสงค์ที่จะทำเพื่อการโฆษณาให้ประเทศไทยเรา ความจริงเขาต้องการกำไร เมื่อต้องการกำไร เขาก็ต้องพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ถูกใจประชาชนอเมริกันเป็นส่วนใหญ่”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คนไทยคนแรกในกองถ่ายหนัง Anna and the King of Siam” เขียนโดย หลง ใส่ลายสือ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2561 และปรับปรุงแก้ไขข้อมูลเมื่อ 17 ธันวาคม 2564