“The King and I, 2015” ละครเวทีสะท้อนอุดมคติแบบอเมริกันในยุคสงครามต่อต้านก่อการร้าย

(จากขวา) เคลลี โอ’ฮารา, เคน วาตานาเบะ และรูธี แอน ไมส์ (Ruthie Ann Miles) ทีมนักแสดงละครเวทีเรื่อง The King and I ที่นำกลับมาสร้างใหม่ ในช่วงเปิดตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนี เมื่อเมือนเมษายน 2015 AFP PHOTO / TIMOTHY A. CLARY

The King and I เป็นละครเพลงชื่อดังที่สร้างจากนวนิยาย Anna and the King of Siam (แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม) ซึ่งดัดแปลงมาจากบันทึกของแอนนา เลียวโนแวนส์ อดีตครูฝรั่งในราชสำนักของพระเจ้ากรุงสยามอีกที

The King and I ปี 1951
The King and I ปี 1951

แม้เรื่องราวของบทประพันธ์จะมีโครงเรื่องปรากฏอยู่ในสยามประเทศ แต่ ทามารา ลูส (Tamara Loos) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเอเชียศึกษามหาวิทยาคอร์เนล (Cornell University) มองว่า ตัวตนแท้จริงของตัวละครมิได้มีความสำคัญเท่าอุดมคติแบบอเมริกันที่ผู้เผยแพร่จงใจนำเสนอต่อผู้รับชม

Advertisement

ทั้งนี้ ลูส ได้รับเชิญจาก บาร์ท แชร์ (Bart Sher) ผู้กำกับการแสดงละครเวทีเมื่อปลายปี 2014 เพื่อมาให้คำปรึกษากับเขาเกี่ยวกับเค้าโครงทางประวัติศาสตร์ของสยามในช่วงทศวรรษที่ 1860 เพื่อนำมาปรับใช้กับละครเวที “The King and I” ที่เขาเตรียมจัดแสดงในปี 2015 ละครเวทีที่ ลูส กล่าวว่าเป็นการเล่าเรื่องที่มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อยู่น้อยมาก แม้แอนนา เลียวโนแวนส์กับคิงมงกุฏ (รัชกาลที่ 4) จะเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงก็ตาม

ภาพของบุคคลในประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ตัวละครเพลงมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสยาม กลับกันมันคือเรื่องเล่าที่แสดงตัวตนในอุดมคติของชาวอเมริกัน เพื่อดึงดูดผู้ชมในช่วงหลังสงครามเมื่อราวทศวรรษ 1950 ซึ่งมันมีอิทธิพลมากๆในละครบรอดเวย์ และยังทำให้ผู้ชมหลงใหลมันได้อีกครั้งในวันนี้ลูสกล่าว

ลูสเชื่อมโยงบทละครกับสถานการณ์ในปัจจุบันว่า The King and I ช่วยคลายความกังวลให้กับชาวอเมริกันที่ยังรู้สึกลังเลกับการแทรกแซงทางทหารของกองทัพอเมริกันในตะวันออกกลางด้วยการนำเสนอภาพที่ทับซ้อนของชาวอเมริกันกับแหม่มแอนนา ครูฝรั่งผู้ใสซื่อ กล้าหาญ และมีเจตนาดี ซึ่งเข้าแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นในนามของคนต่างชาติและหญิงที่ถูกกดขี่

สำหรับแชร์ (ผู้กำกับ) The King and I เป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ และในปัจจุบันพัฒนาการของโลกกำลังโอบล้อมพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิมที่ยังคงปิดกั้นการศึกษาของผู้หญิง และสิ่งที่เขาอย่างจะสื่อไปถึงผู้ชมในยุคนี้คือประเด็นเรื่องเสรีภาพ และโอกาสทางการศึกษาของผู้หญิง ซึ่งปรากฏอยู่ในละครช่วงที่แหม่มแอนนามอบหนังสือกระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin โดย Harriet Beecher Stowe) ให้กับหม่อมทับทิม หม่อมคนใหม่ของคิงมงกุฏ

เพื่อตอกย้ำแนวคิดดังกล่าว นิตยสารลินคอล์นเซ็นเตอร์เธียเตอร์รีวิว (นิตยสารรีวิวของโรงละคร Lincoln Center Theater ซึ่งเป็นโรงละครที่ The King and I จัดแสดง) ได้พิมพ์ซ้ำสุนทรพจน์ของมาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อปี 2014 ถึงเรื่องราวของการศึกษาและชีวิตของผู้หญิงภายใต้วัฒนธรรมอิสลาม

The King and I ภายใต้การกำกับของแชร์ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอเมริกันเป็นอย่างดี ละครของเขาได้เข้าชิงรางวัลโทนี (Tony Award) 9 รางวัลและคว้ามาได้ 4 รางวัล คือ รางวัลละครเพลงที่ถูกนำกลับมาสร้างใหม่ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และ ออกแบบเสื้อผ้ายอดเยี่ยม

เคลลี โอ’ฮารา ตั้งท่าถ่ายรูปกับรางวัลโทนีที่เธอได้รับจากละครเวทีเรื่อง The King and I เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2015 ( AFP PHOTO / KENA BETANCUR)
เคลลี โอ’ฮารา ตั้งท่าถ่ายรูปกับรางวัลโทนีที่เธอได้รับจากละครเวทีเรื่อง The King and I เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2015 ( AFP PHOTO / KENA BETANCUR)

ด้วยความสำเร็จมากมาย โรงละครลินคอล์นเซ็นเตอร์เธียเตอร์จึงได้ขยายระยะเวลาการจัดแสดงออกไป จนถึงปี 2016 ก่อนยุติการแสดงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลัง เคลลี โอ’ฮารา (Kelli O’Hara) นักแสดงนำหญิงที่คว้ารางวัลโทนีจากละครเวทีเรื่องนี้ถอนตัวไปในเดือนเมษายน ทำให้ยอดรายรับต่อสัปดาห์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ