ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หนังสืออันอื้อฉาวของ แอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ “แหม่มแอนนา” ถูกวิจารณ์ว่ามีบางส่วนที่เขียนเกินจริงไป การอ่านบันทึกของบุคคลในอดีตที่มีลักษณะผสมข้อมูลเชิงประจักษ์เข้ากับความคิดเห็นส่วนตัวย่อมต้องระมัดระวัง แต่องค์ประกอบบางอย่างของหลักฐานที่เป็นบันทึกลักษณะนี้ อย่างน้อยยังสะท้อนบริบทและบรรยากาศโดยรวมเป็นข้อมูลประกอบการอ้างอิงกับหลักฐานชิ้นอื่นได้ โดยเฉพาะเรื่องหลังฉากราชสำนักของ “พระปิ่นเกล้า”
ในข้อเขียนก่อนหน้านี้ เคยเล่าว่า แหม่มแอนนา เป็นผู้หญิงลูกผสมที่เกิดในอินเดีย เกิดมาในสถานะเด็กยากจน เธอเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 1862 พร้อมลูกชายวัย 6 ขวบ (บางแห่งว่า 7 ขวบ) กำลังจะเริ่มบทบาทหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงในราชสำนักสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สืบเนื่องจากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยามทรงหาครูพี่เลี้ยงเพื่อสอนพระโอรสพระธิดาให้ได้เตรียมตัวรับมือกับตะวันตก (อ่านเพิ่มเติม : แหม่มแอนนา ปลื้ม “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์” พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวงอย่างไรบ้าง)
ต่อมา แหม่มแอนนา เขียนบันทึกความทรงจำขึ้นมา 2 เล่ม คือ “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem” ถือเป็นผลงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักกว้างไกลกว่าเดิม
ในสมัยนั้น ชาวต่างชาติรับรู้ว่าแผ่นดินสยามสมัยนั้นมีกษัตริย์ 2 พระองค์ ต่างชาติขานพระนามว่า The First King และ The Second King แห่งสยาม อย่างไรก็ตาม สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court” ที่กำลังจะตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรกในเร็วๆ นี้ (หนังสือจัดพิมพ์แล้วในชื่อ “อ่านสยามตามแอนนา การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ” – กองบก.ศิลปวัฒนธรรม) บรรยายว่า ข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีไม่มากนัก
เจ้าจอมในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ The Second King of Siam
ช่วงนี้ขลุกอยู่กับข้อมูล “การบ้านและการเมือง”…
Posted by Subhatra Bhumiprabhas on Saturday, 23 February 2019
สุภัตรา ภูมิประภาส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากเปิดหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court” ของแหม่มแอนนา ก็มีกล่าวถึงราชสำนักในมุมพระปิ่นเกล้า ข้อมูลส่วนหนึ่งเล่าถึงเจ้าจอมของพระองค์ว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวลาว ชาวพะโค ชาวพม่า โดยเฉพาะเจ้าจอมชาวลาวนั้นสวยงามละมุนละไมกว่าหญิงชาวสยามมาก
“เมื่อสืบค้นรูปของบรรดาเจ้าจอมของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็พบเพียงรูปของเจ้าจอมมารดาเอม (คนซ้าย) แต่เพียงผู้เดียว แม้แต่เจ้าจอมมารดากลีบ ผู้มีโอรสธิดาให้กับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ถึง 10 องค์ (บางแหล่งข้อมูลระบุว่า 11 องค์) ก็ไม่มีภาพถ่ายปรากฏ
เจ้าจอมมารดาเอมเป็นบุตรีของคหบดีชาวจีน เป็นเจ้าจอมคนแรก มีโอรสธิดารวม 5 องค์ ส่วนเจ้าจอมกลีบนั้นเป็นเจ้าจอมคนโปรด แต่ภายหลังที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต เจ้าจอมกลีบต้องคดีถูกกล่าวหาว่าทำเสน่ห์ยาแฝดพระองค์”
ส่วนเรื่องเจ้าจอมมารดากลีบ พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ระบุเกี่ยวกับเรื่องเจ้าจอมมารดากลีบว่า ครั้งหนึ่งมีผู้มากระซิบกราบทูลว่า เจ้าจอมกลีบซึ่งเป็นนายเครื่อง (จากความสามารถด้านการทำอาหาร) ดูแลด้านห้องครัว เป็นผู้ทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดฯ ให้พระยาพิไชยบุรินทรา พระยามณเฑียรบาล ตระลาการในพระบวรราชวังชำระสอบสวน ครั้งนั้นคณะฯ เห็นว่า พระอัธยาศัยไม่สู้กริ้วนัก ก็ชำระแต่พอเป็นราชการ ไม่ได้ความจริงใด จึงโปรดให้ปลดออกจากตำแหน่งนายเครื่อง
ภายหลังทรงพระประชวรไม่สบาย เสวยพระกระยาหารไม่ได้ เหล่าขุนนางกลุ่มหนึ่งเข้าชื่อร่วมรับประกันเจ้าจอมกลีบเข้ามารับทำเครื่องใหม่จะได้เสวยพระกระยาหาร จึงโปรดให้เจ้าจอมกลีบเข้ามาทำเครื่องดังเก่า แต่ครั้งหนึ่ง เจ้าจอมกลีบทำเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสวยไม่กี่คำแล้วเห็นขนอยู่ในชามพระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวจึงทรงสงสัยว่าเกี่ยวกับการทำเสน่ห์ยาแฝด
ภายหลัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเยี่ยมอาการประชวร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงกราบทูลเรื่องสงสัยว่าเจ้าจอมมารดากลีบจะทำเสน่ห์ยาแฝด ขอพระราชทานให้คณะตระลาการวังหลวงไต่สวน คณะตระลาการวังหลวงไต่สวนแล้วลงความเห็นว่า เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝด
เหล่าลูกขุนจึงปรึกษาโทษว่า ให้ริบราชบาทว์ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้นำไปประหารชีวิต ครั้นลูกขุนปรึกษาโทษแล้วก็ทรงพระประชวรหนักลงถึงสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริสงสัยพระทัยเรื่องที่เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์จะเป็นเรื่องไม่จริง และไม่ได้เกี่ยวกับอาการประชวรของ พระปิ่นเกล้า จึงทรงพระราชหัตถเลขาให้งดโทษประหาร เนรเทศเจ้าจอมมารดากลีบไปอยู่สุโขทัย
อ่านเพิ่มเติม :
- “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จากบันทึกแหม่มแอนนา จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก”
- แหม่มแอนนานำ “ลูกโลก” และ “แผนที่” มาสอนหนังสือ ปฏิกิริยาเจ้านาย-สตรีชาววังเป็นอย่างไร?
- ไฉน “แหม่มแอนนา” ปลื้ม “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์” พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง
อ้างอิง :
สุภัตรา ภูมิประภาส. “เจ้าจอมในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ The Second King of Siam”. Facebook / Subhatra Bhumiprabhas. Online. 23 กุมภาพันธ์ 2019. <https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=10217633225603626&id=1268428217>
พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394-2411. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค) ; วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ณ วัดประยูรวงศาวาส; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562