รู้จัก “มอญ 7 เมือง” ด่านตะวันตกของสยาม ในสงครามไทย-พม่า

ด่านพระเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี เส้นทางเดินทัพพม่า ที่ใช้ตี เมืองไทย เชื่อมต่อ หัวเมือง มอญ
ด่านพระเจดีย์สามองค์ เส้นทางเดินทัพพม่าที่ใช้ตีเมืองไทย

กาญจนบุรี เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันตกของไทย มีเขตแดนติดต่อกับพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งในอดีตทั้งสองเป็น “คู่สงคราม” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  โดยมักมี “ชาวมอญ” อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยในไทย ทางการไทยก็จัดให้ชาวมอญรวมกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ตามพื้นที่รายทางที่พม่าจะยกทัพผ่าน เรียกว่า “รามัญ 7 เมือง” หรือ “มอญ 7 เมือง”

มอญ 7 เมือง ได้แก่ เมืองสิงห์, เมืองลุ่มสุ่ม, เมืองท่าตะกั่ว, เมืองไทยโยค, เมืองท่าขุน, เมืองทองผาภูมิ และเมืองท่ากระดาน เมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนาราชวงศ์จักรี ทรงตั้งหัวหน้ามอญแต่ละเมืองดังกล่าว เป็นนายด่านดูแลเมือง ในยามศึกสงครามนั้น หัวเมืองทั้ง 7 มีหน้าที่ช่วยรบ, นำทาง, เตรียมเสบียงอาหาร หากเป็นยามปกติก็มีหน้าที่ตรวจตราตระเวนด่าน สืบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมอญมีความชำนาญในการตระเวนด่านกว่าคนไทย ด้วยรู้จักเส้นทางเดินทัพและรู้ภาษาพม่า

ต่อในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อให้เกียรติศัพท์ดังออกไปถึงเมืองพม่าว่าหัวเมืองแน่นหนาหลายชั้น จึงโปรดให้ตั้งเมือง มีกรมการเมืองอยู่รักษาทุกเมือง และพระราชทานชื่อผู้สำเร็จราชการเป็นภาษาสันสฤต ดังนี้

พระสมิงสิงหบุรี เป็น “พระสมิงวิงหบุนิรทน์” ผู้สำเร็จราชการเมืองสมิงสิงหบุรี

พระลุ่มสุ่ม เป็น “พระนินนะภูมิบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองลุ่มสุ่ม

พระท่าตะกั่ว เป็น “พระชินติฐบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองท่าตะกั่ว

พระไทรโยค เป็น “พระนิโครธาภิโยค” ผู้สำเร็จราชการเมืองไทยโยค

พระท่าขนุน เป็น “พระปนัสติฐบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองท่าขนุน

พระทองผาภูมิ เป็น “พระเสลภูมิบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองทองผาภูมิ

พระท่ากระดาน เป็น “พระผลกติฐบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองท่ากระดาน

เกี่ยวกับเมืองรามัญ 7 เมืองนี้ พลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาค 3 ประธานชมรมประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี และ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูกาญจนบุรี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี) เลขานุการชมรมฯ ศึกษาค้นคว้าสำรวจเบื้องต้นพอจะสรุปได้ว่า

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองด่านตะวันตก

เมืองสิงห์ หรือเมืองสมิงสิงหบุรี ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4837 III ที่พิกัดกริด 47 PNR 264513 สถานที่ตั้งเมืองสิงห์ คือ บริเวณปราสาทเมืองสิงห์ ริมน้ำฝั่งตะวันออกของลำนำแควน้อย ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค มีโบราณสถานในศาสนาพุทธมหายานอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18-ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีกำแพงเมืงทำด้วยศิลาแลงขนาด 880 x 1,400 เมตร เมื่อหมดความสำคัญลงถูกทิ้งร้าง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่งตั้งเป็นหนึ่งในเมืองด่าน รวมเรียกว่า รามัญ 7 เมือง

พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเมืองสิงห์ ตําบลแม่กระบาล อําเภอเมือง กาญจนบุรี เป็นโบราณสถานของชาติ ปัจจุบันเมืองสิงห์ขึ้นอยู่กับ ตําบลสิงห์ อําเภอไทรโยค

เมืองลุ่มสุ่ม ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4837 III ที่พิกัดกริด 47 PNR 165584 ตั้งอยู่ริมลําน้ำแควน้อย ในเขตตําบลลุ่มสุ่ม อําเภอไทรโยค

ในสมุดราชบุรี พ.ศ. 2468 กล่าวถึงเมืองลุ่มสุ่มว่า “…ได้เดินทางเรือในลําน้ำแควน้อยจากปราสาทเมืองสิงห์ไปอีก 2 ชั่วโมงเศษ ถึงเมืองลุ่มสุ่มอยู่ฝั่งตะวันตกเป็นเมืองเก่ามาแต่โบราณอย่างเมืองไทรโยค และเมืองสิงห์ แต่ไม่มีวัตถุถาวรเช่นเมืองสิงห์ คงมีแต่คันคูสนามเพลาะเหลืออยู่ โดยเมืองเหล่านี้ที่ตั้งขึ้นสําหรับเป็นที่ค่ายตั้งกองทัพรบกับพม่าในครั้งโบราณ และเป็นเมืองด่านสําหรับคอยตรวจตรา…” [เน้นโดยผู้เขียน]

เมืองลุ่มสุ่มตั้งเป็นเมืองด่านบริเวณปากห้วยลุ่มสุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นห้วยที่ไหลลงสู่ลําน้ำแควน้อย สามารถติดต่อกับด่านบ้องตี้ และเป็นเส้นทางที่อยู่ใกล้ชายแดนมากที่สุด จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญเมืองหนึ่ง เมื่อมีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ พ.ศ. 2438 เมืองลุ่มสุ่มถูกยุบลงเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตกิ่งอําเภอไทรโยค ก่อนเป็นตําบลลุ่มสุ่ม อําเภอไทรโยค ในปัจจุบัน

เมืองท่าตะกั่ว ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4837 III ที่พิกัดกริด 47 PNR 058716 ที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณ บ้านปากแซง ตําบลท่าเสา อําเภอไทรโยค

เมื่อ พ.ศ. 2330 รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองทวาย กองทัพสยามซึ่งมีรัชกาลที่ 1 เป็นทัพหลวงเสด็จโดยทางเรือจากกรุงเทพฯ ไปตามทางลําน้ำแม่กลอง เข้าลําน้ำแควน้อย ไปขึ้นบกที่ “เมืองท่าตะกั่ว” แล้วจึงขึ้นบกไปตีเมืองทวาย

ส่วนการสํารวจทางโบราณคดีของคณะไทย-เดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. 2503 ได้ระบุว่า ท่าตะกั่ว คือบริเวณปากแซง ในปัจจุบันไม่พบหลักฐานอื่นใดๆ ใกล้กับบริเวณนี้ ทางฝั่งตะวันตกมีภูเขาชื่อเขาท่าตะกั่ว บริเวณปากแซงในสมัยโบราณเป็นท่าเรือที่ติดต่อค้าชายที่สําคัญของลําน้ำแควน้อย ส่วนทางบกสามารถติดต่อกับทางด่านบ้องตี้ได้สะดวกอีกด้วย มีพวกมอญ กะเหรี่ยง ค้าขายสินค้าป่าเป็นประจําทุกวันนี้

เมืองไทรโยค ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4737 I ที่พิกัดกริด 47 PNR 835941 หรือบริเวณปากแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 1 ตําบลไทรโยค อําเภอไทรโยค

เมื่อ พ.ศ. 2329 รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกทัพมาทําสงครามกับพม่า โดยฝ่ายพม่าตั้งทัพอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบเมืองกาญจนบุรี ทรงรับสั่งให้จัดทัพใหญ่ 2 ทัพ ออกจากกรุงเทพฯ ยกไปทางลําน้ำแควน้อยทั้ง 2 ทัพ เพื่อตีพม่าให้แตก ไม่ปล่อยให้ข้ามเขาเข้ามาถึงลาดหญ้าแขวงเมืองกาญจนบุรี กองทัพหลวงยกไปตามทางริมแม่น้ำจนถึง “เมืองไทรโยค” แล้วจึงยกกองทัพบกขึ้นไปตามทางริมแม่น้ำจนถึงเมืองท่าขนุน

จากการสํารวจบริเวณปากแม่น้ำน้อย พบเศษภาชนะดินเผา เศษโลหะจํานวนมาก เข้าใจว่าบริเวณนี้คงเป็นที่ตั้งค่ายหรือชุมชนโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเคยเป็นที่ทําการอําเภอไทรโยคในสมัยหนึ่ง

เมื่อจัดการปกครองใหม่ตั้งแต่ ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2438) เมืองไทรโยค ยุบลงเป็นกิ่งอําเภอไทรโยค ขึ้นอําเภอวังกะ ต่อมาใน พ.ศ. 2444 แบ่งท้องที่ตั้งอําเภอขึ้นอีก 3 อําเภอ หนึ่งในนั้นคือ “อําเภอไทรโยค”  พ.ศ. 2449 ยุบลงเป็นกิ่งอําเภอไทรโยคขึ้นอําเภอสังขละบุรี ต่อมาได้ย้ายที่ทําการอําเภอมาอยู่ที่บ้านลุ่มสุ่ม ตําบลลุ่มสุ่ม อําเภอไทรโยค และครั้งสุดท้ายได้ย้ายที่ทําการอําเภอไทรโยคไปอยู่ที่บ้านวังโพธิ์ ตําบลลุ่มสุ่มจนถึงปัจจุบันนี้

เมืองท่าขนุน ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4738 III ที่พิกัดกริด 47 PMS 613295 ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกริมลําน้ำแควน้อยที่บ้านท่าขนุน ตําบลท่าขนุน อําเภอทองผาภูมิ เป็นเมืองด่านที่สําคัญเมืองหนึ่ง เพราะเส้นทางที่พม่าจะยกผ่านมาทั้งทางน้ำและทางบก

สมุดราชบุรี กล่าวถึงเมืองท่าขนุนว่า “ต่อจากไทรโยค ขึ้นไปเมืองท่าขนุน (สังขละบุรี) เมืองทองผาภูมิซึ่งเป็นเมืองเก่าเหมือนกัน แล้วถึงอําเภอวังกะซึ่งนับเป็นสถานที่ทําการของรัฐบาลตําบลที่สุดในเขตมณฑลราชบุรี ต่อจากอําเภอนี้ไประยะทางบกอีกประมาณ 1,000 เส้น ก็จะถึงพระเจดีย์สามองค์…” [เน้นโดยผู้เขียน]

พ.ศ. 2467 มหาอำมาตย์พระยายมราช ตรวจท้องที่อำเภอสังขละ เห็นควรเปลี่ยนแปลงที่ตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอบางแห่ง เพื่อความสะดวกแก่ราชการ จึงเปลี่ยนอำเภอสังขละ (ท่าขนุน) เป็น “กิ่งอำเภอสังขละบุรี” และยกกิ่งอำเภอวังกะ (สังขละปัจจุบัน) ขึ้นเป็น “อำเภอวังกะ” พ.ศ. 2482 ยุบอำเภอวังกะ เป็นกิ่งอำเภอสังขละบุรี ขึ้นกับอำเภอทองผาภูมิ ถึง พ.ศ. 2508 จึงยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอสังขละบุรี  ส่วนเมืองท่าขนุนยุบลงเป็นตำบลท่าขนุน ขึ้นกับอำเภอทองผาภูมิ

เมืองทองผาภูมิ ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4738 ที่พิกัดกริด 47 PMS 609298 ในสมัยโบราณเรียกกันว่า “ท้องผาภูมิ” เพราะภูมิประเทศ เป็นหุบเขาล้อมรอบ นอกจากนี้ในเขตทองผาภูมิมีทองคำ ซึ่งในสมัยโบราณมีการร่อนทองคำ เพื่อส่งส่วยทองคำ

หลักฐานเกี่ยวกับเมืองทองผาภูมิมีน้อยมาก ในนิราศท่าดินแดงก็กล่าวถึงแค่เมืองท่าขนุน อย่างไรก็ตามในการจัดการปกครองตามระเบียบใหม่ พ.ศ. 2438 กล่าวถึงเมืองทองผาภูมิว่า ถูกยุบลงเป็นหมู่บ้าน ตั้งที่ว่าการอยู่ที่ท่าขนุน ตำบลปรังกาสี ต่อมาถูกย้ายให้เป็นกิ่งอำเภอทองผาภูมิ ก่อนจะได้เป็นอำเภอทองผาภูมิภายหลัง

เมืองท่ากระดาน ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4738 IV ที่พิกัดกริด 47 PNS 989088 เมืองท่ากระดานเป็นเมืองด่านเมืองเดียว ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกริมลำน้ำแควใหญ่ (แควศรีสวัสดิ์) ซึ่งนอกจากด่านท่ากระดาน ก็มีด่านต่าง ๆ เช่น ด่านแม่จันทร์, ด่านต้นโพธิ์, ด่านแม่แฉลบ, ด่านเขาชนไก่ ฯลฯ

ด่านท่ากระดานเป็นด่านสำคัญของลำน้ำแควใหญ่ เพราะตั้งอยู่ที่ปลายห้วยดินสอ ซึ่งเป็นทางเดินทัพทางบกของพม่า ที่ตัดจากลำน้ำแควน้อยบริเวณบ้านท่าทุ่งนา (เหนือเมืองไทรโยคขึ้นมา) เดินตัดข้ามช่องเขา “ห้วยกระบอก” ผ่านบ้านสะแดะมาลงลำน้ำแควใหญ่ที่เมืองท่ากระดาน จากนั้นเดินเลียบตามลำน้ำผ่านด่านกรามช้าง ท่าดาน ท่ามะนาว มาตี กาญจนบุรี ที่เขาชนไก่

แต่หลังสงครามเก้าทัพแล้วเส้นทางนี้ไม่นิยมใช้ เพราะเปลี่ยนไปใช้การล่องเรือมาตามลำน้ำแควน้อยมาออกปากแพรกเข้าแม่น้ำแม่กลองแทน ปัจจุบันเมืองท่ากระดานจมอยู่ในเขื่อนศรีนครินทร์ ก่อนที่น้ำท่วมมีการสำรวจพบวัดโบรณ 3 แห่ง คือวัดเหนือ, วัดกลาง และวัดใต้ มีผู้พบพระพุทธรูปทำด้วยตะกั่วชิน

ปัจจุบันแม้ทายาทเจ้าเมืองเหล่านี้จะกลมกลืนกับคนไทยเป็นอันมาก แต่หากจะสืบค้นโดยใช้นามสกุลต่างๆ ก็ได้ดังนี้

พระสมิงสิงหบุรินทร์ เจ้าเมืองสิงห์ เป็นต้นสกุล สิงคิบุรินทร์ ธํารงโชติ

พระนินนะภูมิบดี เจ้าเมืองลุ่มสุ่ม เป็นต้นสกุล นินบดี นิลบดี จ่าเมือง หลวงบรรเทา พระบรรเทา

พระชินติฐบดี เจ้าเมืองท่าตะกั่ว เป็นต้นสกุล ชินอักษร ชินบดี ชิงหงษา มัญญหงส์ ท่ากั่ว

พระนิโครธาภิโยค เจ้าเมืองไทรโยค เป็นต้นสกุล นิไชยโยค นิโครธา นิไทรโยค พระไทรโยค มะมม

พระปนัสติฐบดี เจ้าเมืองท่าขนุน เป็นต้นสกุล หลักคงคา

พระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ เป็นต้นสกุล เสลานนท์ เสลาคุณ

พระผลกติฐบดี เจ้าเมืองท่ากระดาน เป็นต้นสกุล พลบดี ตุลานนท์

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วรวุธ สุวรรณฤทธิ์. “เมืองด่านตะวันตก: รามัญ 7 เมือง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2533


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ  5 มกราคม 2563