ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | องค์ บรรจุน |
เผยแพร่ |
การประท้วงต่อต้านที่อยู่ในประวัติศาสตร์ความทรงจำของมวลมนุษยชาติมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การทำลายล้าง การฆ่าตัวตาย และการประจาน ยิ่งการประท้วงของชนชั้นล่างที่ไม่ควรสรุปได้โดยง่ายว่าเกิดจากความนิยมในความรุนแรง ด้วยอาจเป็นไปเพียงเพื่อให้ผู้มีอำนาจมองเห็นปัญหาของพวกเขา หนึ่งในนั้นคือการประท้วงด้วยการ “ตัดนิ้วตนเอง” ดังปรากฏมีมานานหลายศตวรรษในสังคมมอญ-พม่า
ล่าสุดคือชายชาวกะเหรี่ยง ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าผู้ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตัวแทนไปใช้สิทธิ์แทนตนในสภาลุดด่อ (Pyidaungsu Hluttaw) ในการเลือกตั้งใหญ่ของพม่าครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558

เรื่องราวการประท้วงด้วยการตัดนิ้วตนเองเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฏในตำนานมอญมีมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1600 เมื่อพระเจ้าอโนรธา (Anawrahta) หรือที่คนไทยเรียกพระเจ้าอนุรุธ (ครองราชย์ พ.ศ. 1587-1620) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงพุกาม อาณาจักรเริ่มแรกของชนชาติพม่า ได้กรีธาทัพเข้าโจมตีอาณาจักรสะเทิม (สุธรรมวดี) ของมอญซึ่งอยู่ทางตอนใต้ เพื่อแย่งชิงพระไตรปิฎก ตลอดจนกวาดต้อนนักปราชญ์ราชบัณฑิตและช่างศิลป์ ตามคำแนะนำจาก “ชิน อรหันต์” ภิกษุมอญผู้ซึ่งได้รับการยกให้เป็นสังฆราชและครูใหญ่แห่งราชสำนักพม่า ดังบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (ฉบับหอแก้ว) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อ พ.ศ. 2545 ความว่า
“พระองค์ตรัสสั่งให้พลทหารเอาพระไตรปิฎก 30 สำรับ บรรทุกหลังช้างเผือก 32 ช้าง [ช้างเผือก 32 ช้างนี้เป็นของพระเจ้ากรุงสระถุง (สะเทิม) – ผู้เขียน] แล้วพระองค์ทรงตรัสให้พลทหารอาราธนาพระบรมธาตุ พระโลมา ซึ่งพระเจ้ากรุงสระถุงก่อนๆ ได้ทรงบรรจุไว้ในกระเช้าแก้วรัตนนั้น ขึ้นบนหลังช้างเผือก 2 ช้าง แล้วพระองค์ก็รับสั่งให้พระเจ้ากรุงสระถุงแลพระมะเหษีทั้งปวง กับรับสั่งให้เก็บชาวช่างวิเศษแลช่างต่างๆ แลพลทหารราษฎรทั้งปวงกับสาตราอาวุธเครื่องประหลาดทั้งปวงเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับกรุงภุกาม…”
อารยธรรมมอญจึงเคลื่อนจากกรุงสะเทิมสู่กรุงพุกาม เป็นต้นแบบอารยธรรมทั้งหลายทั้งปวงของพม่านับแต่นั้นมา ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในครั้งนั้นมอญจะปราชัยสงคราม ทว่าอารยธรรมมอญกลับมีชัยเหนือพม่า กระทั่งตัวอักษรมอญที่พม่าได้นำไปใช้จดบันทึกภาษาของตน ภาษามอญและพม่าจึงเหมือนกันมาก แยกแยะได้ยากสำหรับผู้ที่ไม่รู้ และส่วนใหญ่ก็มักจะเหมาเอาว่าเป็นภาษาพม่า
แต่อย่างน้อยภาษามอญและพม่าก็มีความแตกต่างกันตรงที่ ภาษาพม่ารับเอาตัวอักษรมอญไปใช้ทั้งหมด 33 ตัว ยกเว้นตัว “บะ” กับ “แบะ” ซึ่งคนมอญมักจะเล่าเป็นตำนานว่า พระตะละซอน ถูกพม่าจับตัวไปและบังคับให้ถ่ายทอดตัวหนังสือมอญให้พม่า แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ยอมตัดมือตัวเอง พม่าจึงได้ตัวหนังสือมอญไปไม่ครบ ขาด 2 ตัว คือ “บะ” กับ “แบะ” ในภาษาพม่าจึงไม่มีพยัญชนะ 2 ตัวนี้ (แต่ในความเป็นจริง น่าเชื่อได้ว่า ธรรมชาติภาษาพม่านั้นไม่มีเสียง บ ดังนั้น พม่าจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำอักษรมอญ 2 ตัวดังกล่าวไปใช้)
การประท้วงอีกครั้งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างพ่อลูก ตามที่ปรากฏในพงศาวดารมอญ ซึ่งไทยเราดัดแปลงมาเป็นวรรณคดีเรื่อง “ราชาธิราช” พระเจ้าราชาธิราชทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1830-49 และพระราชโอรสอันเกิดแต่พระมเหสีเดิมชื่อ พ่อลาวแก่นท้าว ซึ่งกัดนิ้วตัวเองจนขาดต่อพระพักตร์ เพราะไม่ต้องการยกมือไหว้นางเม้ยมะนิก พระมเหสีใหม่ของพระราชบิดา (พระยาน้อย) ด้วยแค้นใจที่พระมารดาของตนไม่ได้รับการเหลียวแล ภายหลังพระเจ้าราชาธิราชยกย่องนางเม้ยมะนิก ที่มีพื้นเพมาจากแม่ค้าตลาดสดขึ้นเป็นเอกอัครมเหสีแทน ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องราชาธิราชฉบับหอสมุดแห่งชาติ ความว่า
“อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จเข้าที่เสวย เม้ยมะนิกผู้เป็นอัครมเหสีก็เฝ้าอยู่ในที่นั้น พ่อลาวแก่นท้าวเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระราชบิดา พอเหลือบไปเห็นเม้ยมะนิกเฝ้าอยู่ก็ขัดแค้นพระทัยทรงพระดำริว่า พระราชบิดารักกายิ่งกว่าหงส์ เอากามาตั้งให้ใหญ่กว่าหงส์ฉะนี้ หาควรที่จะถวายบังคมไม่
เหตุด้วยมีนิ้วมืออยู่จึงต้องไหว้ พ่อลาวแก่นท้าวทรงพระโกรธนัก จึงกัดนิ้วพระหัตถ์เสีย ครั้นพระราชบิดาเพ่งพระเนตรดูก็กัดเสียอีกนิ้วหนึ่งแล้วถ่มเสีย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ตกตะลึงพระทัยไปแล้วทรงดำริว่า บุตรเรามากัดนิ้วตัวเองเสียดังนี้ เพื่อจะประสงค์สิ่งใด ชะรอยมันคิดว่า จะมิไหว้กูแล้วจึงทำองอาจดังนี้ได้ เมื่อมันเป็นลูกจะมิไหว้พ่อฉะนี้จะเลี้ยงไว้มิได้ นานไปจะคิดประทุษร้ายต่อกู…”

คิดได้ดังนั้น พระเจ้าราชาธิราชก็ถึงกับน็อตหลุด ในเมื่อจิตใจลูกหยาบกระด้าง ยอมกัดนิ้วตัวเองเพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องไหว้พ่อและเมียใหม่ของพ่ออีกต่อไป คงด้วยกลัวเสื่อมเกียรติมือของตน ดังนั้นก็อย่าเป็นพ่อเป็นลูกกันอีกต่อไปเลย ขืนปล่อยไว้วันหนึ่งลูกอาจคิดร้ายฆ่าพ่อได้ พระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้สมิงอายกอง เจ้าหน้าที่ประหารนักโทษมานำตัวไปฆ่าเสีย
ก่อนถูกประหาร พ่อลาวแก่นท้าวขอไปบูชาพระมหาธาตุมุเตาและได้กล่าวอธิษฐานผูกพยาบาท ขอให้ได้ไปเกิดใหม่เป็นพม่า เกิดในครรภ์พระอัครมเหสีพระเจ้ามณเฑียรทอง (พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง) ณ กรุงอังวะ เมื่อไปปฏิสนธิในครรภ์แล้วนั้น ก็ขอให้พระมารดาต้องการเสวยดินใจกลางเมืองหงสาวดีของมอญ เมื่ออายุได้ 22 ปี ก็ขอให้ได้มาทำสงครามกับพระราชบิดาองค์นี้
เมื่อพระเจ้าราชาธิราชรับรู้คำอธิษฐานของพระราชโอรส ก็เป็นเดือดเป็นแค้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระมหาธาตุมุเตา ถอดพระมาลาซึ่งทรงไปนั้นออกบูชาพระมุเตาและกราบอธิษฐานว่า สิ่งที่ลูกชายคิดพยาบาทจะมาทำสงครามแก่ตนนั้น ขอพระมุเตาจงช่วยคุ้มครองรักษา ให้ลูกที่คิดร้ายต่อพ่อจงพ่ายแพ้
จากนั้นไม่นาน คำอธิษฐานของพ่อลาวแก่นท้าวก็เป็นจริง แม้ว่าพระเจ้าราชาธิราชจะได้แก้เคล็ด ภายหลังได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ามณเฑียรทอง ที่ขอพระราชทานดินใจกลางเมืองหงสาวดีไปถวายพระมเหสีเสวยเป็นโอสถแก้แพ้ขณะทรงครรภ์ โดยการสั่งให้ขุดดินในที่จัณฑะคาระสถานเก่า (ส้วมเก่า) นำมาปรุงให้หอม
เมื่อพ่อลาวแก่นท้าวเกิดใหม่ ณ ใจกลางกรุงอังวะก็มีนามว่า มังรายกะยอชวา จนอายุได้ 22 ปี ก็ยกทัพมารบกับพระเจ้าราชาธิราชตามคำอธิษฐาน แต่ที่สุดก็ถูกจับตัวเป็นเชลยด้วยมุทะลุด้อยชั้นเชิงในการศึกสงคราม แต่ด้วยเคยผูกพันเป็นพ่อลูกกันมาแต่ชาติปางก่อน พระเจ้าราชาธิราชคิดจะไม่เอาโทษ โดยจะขอชุบเลี้ยงไว้ในเมืองหงสาวดี แต่มังรายกะยอชวาไม่ยินดี ยืนยันที่จะตายให้สมชาติทหาร พระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้ประกอบพิธีปฐมกรรม นำตัวเข้าสู่เกย ชำระพระบาทให้น้ำนั้นไหลรด พร้อมกับวิญญาณที่หลุดจากร่างมังรายกะยอชวา ณ บัดนั้น
ถัดมา ว่าด้วยชีวประวัติพระอะเฟาะ ติณวิหารโภคาหํ พระเถระปราชญ์ชาวมอญคนสำคัญ มีชีวิตอยู่เมื่อ 300 ปีเศษที่ผ่านมา พระอะเฟาะเกิดในเมืองหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2242 คาดว่ามีอายุมาจนถึงรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย ท่านได้ประพันธ์วรรณกรรมไว้ร่วม 150 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมร้อยกรองทางด้านศาสนา มีบ้างที่เป็นนิยายและนิทาน งานนิพนธ์ของท่านแพร่หลายทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์จวบจนทุกวันนี้
ตามประวัติกล่าวว่า หลังมอญเสียเอกราชแก่พม่าครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2300 พระอะเฟาะได้หนีออกจากเมืองหงสาวดี กระนั้นพม่ายังตามมาบังคับให้ท่านแต่งหนังสือและแปลตำราภาษามอญออกเป็นภาษาพม่าไม่หยุดหย่อน ในช่วงท้ายของชีวิต ท่านจึงตัดนิ้วมือของท่านทิ้ง ด้วยไม่ต้องการเขียนหนังสือในอันที่จะเป็นคุณแก่พม่าอีกต่อไป
นอกจากการประท้วงตัดนิ้วตนเองในวัฒนธรรมมอญแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2550 นายโยชิฮิโร ตันโจ วัย 54 ปี ชาวญี่ปุ่น ก็ประท้วงนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ด้วยการตัดนิ้วของตนเองพร้อมจดหมายและดีวีดีบันทึกภาพการตัดนิ้วของตนส่งไปยังพรรคเสรีนิยม เนื่องจากไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรีไม่เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคูนิในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ในวาระครบรอบ 62 ปีแห่งการประกาศยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
ต่อมา ใน พ.ศ. 2553 มีเหตุแรงงานชาวจีน 4 คน ก่อเหตุตัดปลายนิ้วก่อนกลืนลงท้องเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เพื่อประท้วงหลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แม้จะนำเรื่องร้องเรียนกรรมการแรงงานท้องถิ่นและฟ้องศาลแล้วแต่ไม่เป็นผล นอกจากถูกเพิกเฉยข้อเรียกร้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม แถมถูกข่มขู่เอาชีวิต
ใน พ.ศ. 2554 เป็นการประท้วงของ ชอย ชายชาวเกาหลีใต้ วัย 47 ปี เมื่อวันที่ 21 เมษายน หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล ด้วยการร้องตะโกน ชูนิ้วที่ถูกตัดจนเกือบขาด พร้อมขู่จะฆ่าตัวตาย เพื่อประท้วงที่ญี่ปุ่นซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพิพาท
นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2555 ยังมีเหตุการณ์การตัดนิ้วประท้วงต่อต้านกองกำลังคณะปฏิวัติโคลัมเบีย (FARC) ซึ่งมีการถ่ายทำคลิปวิดีโอเผยแพร่เป็นที่สยดสยองไปทั่วโลก
ล่าสุด การประท้วงตัดนิ้วมือของตนในสังคมมอญ-พม่าก็คือ การประท้วงของชายชาวกะเหรี่ยง วัย 36 ปี ในพม่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ภายหลังใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่เมืองโอ้กกะลาปะเหนือ เขตย่างกุ้ง ชายชาวกะเหรี่ยงผู้นี้ไม่ได้รับใบลงคะแนนเลือกผู้แทนในสภาภูมิภาคและสภารัฐ ทำให้เขาไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนราษฎรที่เป็นคนในชาติพันธุ์ของตนได้

ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปของพม่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนจะได้รับบัตรเลือกตั้งจำนวน 3 ใบ เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนรัฐ และสมาชิกวุฒิสภา ส่วนชาติพันธุ์อื่น เช่น มอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง กะฉิ่น จะต้องลงคะแนน 4 ใบ ที่เพิ่มมาคือ สมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ ภายหลังการกากบาทเลือกตั้ง นิ้วก้อยของผู้ที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะได้รับการจุ่มหมึกเพื่อแสดงว่าได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 23 ธันวาคม 2562