กบฏมอญ ชนวนเหตุศึกนางแก้ว พระเจ้าตากรับสั่งเร่งทัพจากเชียงใหม่ลงมารับศึก

พระเจ้าตาก ทรงม้าสู้ศึก ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก
ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

สาเหตุของสงครามครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเกิด กบฏมอญ ขึ้นภายใต้การนำของพระยาหงสาวดี พระยาอุปราช และตละเกิง ซึ่งเป็นชาวมอญที่พ่ายแพ้ต่อพระเจ้าอลองพญา เมื่อพม่าอังวะเปลี่ยนรัชกาลมาเป็นพระเจ้ามังระ ก็พากันประกาศอิสรภาพไม่ยอมขึ้นกับพม่า

การปราบปรามของพม่าได้ทำให้เกิดครัวมอญอพยพเข้ามายังสยามหลายพันคน แบ่งเป็นหลายพวกด้วยกัน มอญพวกสมิงสุหร่ายกลั่นเข้ามาทางเมืองตาก และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าตากในขณะที่เสด็จประทับเมืองตาก จะขึ้นไปตีเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าตากทรงทราบเรื่อง ก็ทรงยินดีให้รับมอญเข้ามา มีรับสั่งให้พระยากำแหงวิชิตคุมพล 2,000 คน ไปคอยรับครัวมอญอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก และให้พระยายมราช (แขก) คุมกำลังไปขัดตาทัพพม่าอยู่ที่ท่าดินแดงในลำน้ำไทรโยค เมืองกาญจนบุรี คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  

Advertisement

พระเจ้ามังระเมื่อจับกุมพระยาหงสาวดี พระยาอุปราช ตละเกิง และพรรคพวกได้ ก็ให้ประหารชีวิตไปพร้อมกับผู้นำมอญคนอื่น ๆ แล้วให้เร่งกองทัพอะตีญ์หวุ่นจีซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ ให้ยกตามครัวมอญและเข้าตีธนบุรีให้ได้

ขณะนั้นกองทัพธนบุรียังติดพันรบพุ่งอยู่ที่เชียงใหม่ อะตีญ์หวุ่นจีจึงให้แม่ทัพนายกองคนสนิทของตน ได้แก่ งุยอคุงหวุ่น อุตมสิงหจอจัว ปคันเลชู เมี้ยนหวุ่น อคุงหวุ่นมุงโยะ เนมโยแมงละนรทา ยุยองโบ่ เป็นต้น ยกไพร่พลราว 5,000 คน ล่วงเข้ามาก่อนเป็นทัพหน้า แล้วให้ตะแคงมรหม่องซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้ามังระ (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าเป็น “น้า” ของพระเจ้ามังระ จัดอยู่ในชั้นพลผู้ใหญ่เช่นเดียวกับอะตีญ์หวุ่นจี) และหม่องจายิด ถือพล 3,000 คน ยกตามเข้ามาเป็นทัพหนุน

กำลังทัพพม่าเมื่อนับรวมกับที่ยกมาหนุนเพิ่มอีกภายหลังอีกราว 1,000 คน ก็จะมีกำลังรวมทั้งสิ้น 9,000 คน แบ่งเป็น 3 กอง กองหน้านำโดยงุยอคุงหวุ่น 3,000 คน ยกมาตั้งอยู่ที่บ้านนางแก้ว หม่องจายิด 3,000 คน ตั้งอยู่ที่เขาชะงุ้ม และอีก 3,000 คน คือกองของตะแคงมรหม่องตั้งอยู่ที่ปากแพรก  

“งุยอคุงหวุ่น” ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายพม่าที่ยกมาตามคำสั่งของอะตีญ์หวุ่นจีในครั้งนี้ เป็นบุคคลคนเดียวกับ “ฉับกุงโบ่” (ชื่อตำแหน่ง) หรือ “ฉับปะยากงโบ่” (ชื่อตามเอกสารมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า)[1] เมื่อครั้งสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้ง พ.ศ. 2310 โดยเป็นนายกองร่วมมาในกองทัพของมังมหานรธา มีเกียรติประวัติความดีความชอบเป็นที่ปรากฏเมื่อคราวได้รับมอบหมายเป็นนายทัพยกไปตีกองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธที่ตั้งอยู่ที่ปากน้ำโยทะกา นับเป็นนายทัพฝีมือดีผู้หนึ่งของพม่าในยุคนั้น [2]

ทัพหน้าของงุยอคุงหวุ่นตีทัพพระยายมราช (แขก) ที่ท่าดินแดงแตก พระยายมราช (แขก) ถอยลงมาอยู่ที่ดงรังหนองขาว แล้วส่งคนไปกราบทูลว่า พม่ายกกันมามากเหลือกำลังจะต้านทาน ขอพระราชทานกองทัพเพิ่มเติมเข้าไปช่วย พระเจ้าตากจึงให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุ้ย กับพระยาธิเบศร์บดี เป็นแม่ทัพ ถือพล 3,000 คน ยกไปตั้งค่ายรับ ณ เมืองราชบุรี [3]   

เมื่อเสร็จศึกเชียงใหม่ พระเจ้าตากเสด็จมาถึงธนบุรี ก็ให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทัพที่ลงมาจากเชียงใหม่ แต่ตามเสด็จลงมาไม่ทันนั้น ให้รีบยกไปราชบุรีโดยเร็ว อย่าให้ใครแวะเข้าบ้านเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดขัดขืนแวะเข้าบ้านจะประหารชีวิต เมื่อเรือท้าวพระยาขุนหมื่นทั้งปวงมาถึงเข้าเฝ้า พอกราบทูลถวายบังคมลาก็โบกพระหัตถ์สั่งให้รีบออกไปยังราชบุรี

ขณะนั้นพระเทพโยธาจอดเรือแวะขึ้นบ้าน เมื่อทรงทราบก็ทรงพิโรธ สั่งให้เจ้าพนักงานไปจับกุมตัวมาที่ตำหนักแพที่ประทับอยู่ เมื่อมาถึงก็ทรงชักพระแสงดาบฟันคอประหารชีวิตพระเทพโยธาด้วยพระองค์เอง แล้วให้เสียบประจานไว้ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง [4]

ในช่วงเดียวกันนั้น ยังมีมอญกลุ่มใหญ่อีกหลายกลุ่มที่เข้ามาจากทางหลายด่าน โดยเฉพาะจากทางด่านมะขามเตี้ย (ในอำเภอมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี) ด่านช่องเขาหนีบ (ในอำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี) ด่านเจ้าขว้าว เมืองราชบุรี (บริเวณบ้านด่าน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี) ด่านทับตะโก (ในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี) ด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้ (บ้านทุ่งเจดีย์ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี) เป็นต้น  

ในจำนวนนี้มีมอญกลุ่มพระยาเจ่ง ตละเสี้ยง ตละเกล็บ และพระยากลางเมือง ซึ่งเป็นมอญที่เคยเข้ามาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา แต่ถูกพม่ากวาดต้อนกลับคืนไปหลังสงครามเสียกรุง พ.ศ. 2310 [5] พระเจ้าตากมีพระราชหฤทัยยินดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นชาวมอญที่เคยตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาก่อน การเข้ามาของชาวมอญกลุ่มนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายแสดงถึงพระบารมีและความเป็นศูนย์กลางของธนบุรีที่สืบต่อมาจากอยุธยา  

พระเจ้าตากทรงให้ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แขวงเมืองนนทบุรี (ปากเกร็ด) และเมืองสามโคก แต่ที่เป็นชายฉกรรจ์นั้นได้ทรงให้เกณฑ์เข้ากองทัพไว้ 3,000 คน โปรดให้หลวงบำเรอภักดิ์ ขุนนางเชื้อสายมอญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เลื่อนขึ้นเป็น “พระยารามัญวงศ์” แต่ผู้คนนิยมเรียกว่า “จักรีมอญ” ทำหน้าที่ควบคุมกองมอญเก่าที่เข้ามาใหม่นี้ และโปรดพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามสรรพากรตลาดขนอนทั้งปวง [6] (ในบริเวณย่านเมืองนนทบุรีและสามโคก) พระยารามัญวงศ์ได้คุมกองมอญเข้าร่วมรบในศึกนางแก้วนี้ด้วย

ลายเป็นว่า กบฏมอญ ในอดีตกลาย เป็นกองมอญมารบเอาคืนพม่าในศึกนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ แปล. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 259. 

[2] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า, น. 456. 

[3] ระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, (กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2551), น. 78-79.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 79; อนึ่งเรื่องการใช้พระราชอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้มีการกล่าวถึงไว้ในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติด้วย แต่น้ำเสียงเป็นไปในทางยกย่องเพราะเป็นช่วงเวลาศึกสงคราม ตามหลักพิชัยสงครามแบบซุนวูที่ต้องทำให้ทหารเกรงกลัวอาญาสิทธิ์ของผู้นำทัพตนมากกว่าข้าศึกศัตรู ดู “จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศกับครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาค 6” ใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่นๆ. น. 295.

[5] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 79-80. 

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 80. 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตาก กับ ‘ศึกนางแก้ว’ เมืองราชบุรี” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2564