กลศึกของ “พระเจ้าตาก” ในศึกนางแก้ว คุมแหล่งน้ำ ตัดกำลังทัพพม่าอังวะ

พระเจ้าตาก
ภาพวาด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) โดย "ปิยะดา" (ประเวส สุขสมจิตร) จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546

กลศึกของ “พระเจ้าตาก” ใน ศึกนางแก้ว คุมแหล่งน้ำ ตัดกำลังทัพพม่าอังวะ

พม่าที่ตั้งอยู่บ้านนางแก้ว แบ่งเป็น 3 ค่าย ค่ายเล็ก 2 ค่าย ค่ายใหญ่ 1 ค่าย แม่ทัพใหญ่คือ งุยอคุงหวุ่น มีกำลังราว 3,000 เศษ พระเจ้าลูกเธอ (พระองค์เจ้าจุ้ย) กับพระยาธิเบศร์บดี จึงยกกำลังทัพออกจากเมืองราชบุรีมายังบ้านนางแก้ว แล้วให้หลวงมหาเทพเป็นกองหน้าคุมพล 1,000 คน ยกไปตั้งค่ายประชิดโอบล้อมพม่าทางด้านทิศตะวันตก และทัพพระเจ้าหลานเธอ (พระองค์เจ้ารามลักษณ์) จำนวนพล 1,000 คน ยกไปตั้งประชิดทางด้านทิศตะวันออก ส่วนทัพพระเจ้าลูกเธอกับพระยาธิเบศร์บดี ตั้งค่ายมั่นอยู่ที่โคกกระต่าย ทิศใต้ของค่ายพม่า [1]

เนื่องจากเป็นศึกสำคัญใกล้ธนบุรี พระเจ้าตาก จึงให้เกณฑ์ไพร่พลจากหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งเหนือ ใต้ และตะวันออก มาร่วมในสงคราม ได้แก่ เมืองสุพรรณบุรี นครไชยศรี วิเศษไชยชาญ นครสวรรค์ สิงห์บุรี นนทบุรี สามโคก นครนายก เพชรบุรี กุยบุรี คลองวาฬ บางสะพาน เป็นต้น ส่วนหัวเมืองห่างไกล เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา และจันทบุรี ทรงให้จัดส่งข้าวสารมาเป็นเสบียงแก่กองทัพ เมืองละ 400 เกวียน ถ้าขัดสนหรือจัดหาได้ไม่ครบ ให้ส่งเป็นเงินมาแทน โดยคิดเป็นราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 5 ตำลึง  ข้าวสารเกวียนละ 10 ตำลึง เป็นต้น [2]

ไพร่พลจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่เกณฑ์มาได้ในเบื้องต้นมีจำนวนไพร่พลกว่า 8,800 คน ที่จริงแล้วทรงกะเกณฑ์ให้ได้ถึง 10,000 คน แต่เพราะทัพเมืองนครราชสีมาอีก 1,000 กว่าคน เดินทัพมาล่าช้า จึงได้ไม่ครบ 10,000 คน ครั้นจะรอทัพเมืองนครราชสีมา ก็เกรงจะไม่ทันการ จึงให้ทัพเมืองนครราชสีมาค่อยตามไปสมทบภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เอกสารพม่าระบุว่า ทัพฝ่ายไทยที่ยกมาล้อมค่ายบ้านนางแก้วนั้น มีกำลังมากถึงราว 20,000 คน และปิดล้อมค่ายพม่าทุกด้านไว้ถึง 4 ชั้น จนแม้แต่หากอะตีญ์หวุ่นจียกทัพใหญ่จากเมาะตะมะมาเอง ก็อาจเอาชนะได้โดยยาก ด้วยว่าทัพธนบุรีนั้น “คนแน่นหนานัก” [3]

เมื่อพิจารณาจากจำนวนหัวเมืองต่าง ๆ ที่พระเจ้าตากทรงให้เกณฑ์ทัพมาเข้าร่วม และการที่อะตีญ์หวุ่นจี ณ เมืองเมาะตะมะ ได้มีหนังสือบอกไปยังพระเจ้าอังวะ ว่าการจะยกทัพไปแก้เอาพม่าที่ถูกล้อมอยู่ “เขานางแก้ว” นั้น ต้องเกณฑ์ไพร่พลให้ได้มากกว่าข้าศึกคือราว 30,000 คน [4] ก็ทำให้ตัวเลขที่พม่าระบุนี้ (ว่าฝ่ายไทยมี 20,000 คน) ไม่น่าจะเกินจริงแต่อย่างใด  

เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้แล้ว พระเจ้าตากจึงได้ยกทัพเสด็จออกจากธนบุรีโดยทางชลมารคทั้งกลางวันและกลางคืน หยุดประทับพลับพลา ณ เมืองสาครบุรี เพื่อรอน้ำขึ้น [5] พอพลบค่ำเวลา 5 ทุ่ม น้ำขึ้นแล้ว ก็ให้เคลื่อนทัพขึ้นไปตามลำน้ำ รุ่งเช้าเสด็จประทับและเสวยพระกระยาหาร ณ วัดกลางค่ายบางกุ้ง (วัดบางกุ้ง แถวอัมพวา) แล้วเสด็จต่อไปราวบ่ายโมงเศษ ก็ถึงค่ายมั่นเมืองราชบุรี

พระองค์ทรงดำรัสสั่งให้พระยาวิจิตรนาวีออกไปสืบข่าวข้าศึกที่บ้านนางแก้ว แล้วเกณฑ์ชาวเมืองราชบุรีเข้าสมทบกับกองทัพเพิ่มเติม ก่อนให้ยกไปทางวัดอรัญญิก (วัดอรัญญิกาวาส อำเภอเมืองฯ จังหวัดราชบุรี ในปัจจุบัน) ตามทางคลองบางสองร้อย เข้าล้อมค่ายพม่าที่บ้านนางแก้ว (ย่านอำเภอโพธาราม ในปัจจุบัน) ถึง 3 ชั้น [6]

นอกจากให้ตั้งค่ายล้อมพม่าไว้แล้ว น่าสังเกตว่า ยุทธวิธีการรบของพระเจ้าตากในครั้งนี้ ยังเป็นไปโดยให้ความสำคัญกับการ “ควบคุมแหล่งน้ำ” จุดต่าง ๆ ในย่านเส้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองและคลองบางสองร้อยอีกด้วย

เช่น ให้พระยาราชาเศรษฐี (จีน) ที่ตั้งอยู่ค่ายตัวเมืองราชบุรี รื้อค่ายเปล่าในเมือง แล้วลงไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ให้พระยาอินทรอภัยไปตั้งค่ายรักษาสระน้ำที่เขาชั่วพราน (เขาช่องพราน) อยู่ 3 ค่าย

ให้พระกุยบุรีและพระคลองวาฬ รักษาด่านทางไว้ ให้ใส่ยาเบื่อหนองน้ำที่ทางพม่าจะเดินทัพมาช่วยทัพที่ถูกล้อมไว้นั้น อย่าให้กินน้ำได้ ให้หลวงภักดีสงครามคุมไพร่ 500 คน ยกไปเป็นกองโจร คอยปั่นป่วนลอบตีตัดเสบียงอาหารและกำลังหนุนของพม่าที่จะมาจากทางปากแพรก ให้ถมห้วยหนองบึงบ่อน้ำตามทางจากปากแพรกมาจนถึงเขาชะงุ้ม ถ้าถมไม่ได้ ให้เอาเปลือกไม้เบื่อเมาและนำศพมาทิ้งลงในน้ำ อย่าให้ข้าศึกกินน้ำได้ เป็นต้น [7]

เพราะในการเดินทางสมัยก่อน จำเป็นต้องอาศัยแหล่งน้ำตามเส้นทาง สำหรับพม่าที่อยู่ในค่ายนางแก้ว เมื่อถูกล้อมถูกตัดทางที่จะไปอาศัยน้ำในแหล่งน้ำข้างเคียง ก็ได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งขุดบ่อน้ำ แต่การขุดบ่อในที่ดอน แถมยังเป็นที่ราบชายเขา ใต้พื้นดินเต็มไปด้วยหินแลง ก็ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าสาหัสแก่กองทัพ ดังที่เอกสาร มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า บันทึกไว้ว่า

“ฝ่ายฉับปะยากงโบ่กับพลทหาร 3000 ที่ต้องล้อมนั้นอดน้ำที่สุด ครั้นให้พลทหารขุดบ่อก็ไม่ได้เพราะเปนที่ดอน ฉับปะยากงโบ่แลพลทหาร 3000 ก็สิ้นกำลังอ่อนเพลียไม่เปนอันรบพุ่งได้ก็จมซบจมที่อยู่นั่น” [8]

นอกจากนี้ กองทัพธนบุรีที่ล้อมค่ายอยู่นั้นก็มิได้ล้อมอยู่เฉย ๆ มีการยิงปืนใหญ่เข้าไปในค่ายเป็นระยะ ๆ จนพม่าต้องขุดหลุมหลบภัยขึ้นในค่าย ไว้หลบภัยเมื่อฝ่ายไทยยิงปืนใหญ่เข้ามา [9]

งุยอคุงหวุ่นและแม่ทัพนายกองคงได้รับคำสั่งจากอะตีญ์หวุ่นจีให้ตั้งค่ายมั่นไว้ที่บ้านนางแก้ว รอกำลังทัพใหญ่เข้ามาหนุนช่วย ในขณะที่ฝ่ายธนบุรี พระเจ้าตากก็วางแผนการรบโดยให้ล้อมไว้ ถนอมกำลังเพื่อเตรียมการรับศึกใหญ่ที่จะยกตามมา

แต่ปรากฏว่า อะตีญ์หวุ่นจีเจอปัญหาการเมืองภายในของพม่า บวกกับมี “ทัพฮ่อ” หรือจีนราชวงศ์ชิงยกลงมาจากทางเหนือ ซึ่งเป็นศึกใหญ่กว่าสำหรับพม่า [10] ทำให้ยังไม่สามารถส่งทัพใหญ่มาช่วยงุยอคุงหวุ่นได้ มีเพียงทัพของตะแคงมรหม่องกับหม่องจายิด ที่แบ่งกำลังยกลงมาจากปากแพรก เพื่อหมายจะมาสมทบกับทัพงุยอคุงหวุ่น แต่ทัพหม่องจายิดต้องไปตั้งค่ายอยู่ที่เขาชะงุ้ม ไม่สามารถข้ามเขาพระ เขานม และเขาช่องพราน ลงมาหางุยอคุงหวุ่นที่บ้านนางแก้วได้ เพราะมีทัพธนบุรีปิดล้อมเส้นทางไว้อยู่    

เมื่อทัพเจ้าพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ที่ติดตามพม่าไปตีเชียงแสน ยกลงมาสมทบเพิ่มเติม พระเจ้าตากได้ให้เจ้าพระยาจักรีไปตั้งค่ายอยู่ที่เขาพระ และพระยาสุรสีห์ไปตั้งค่ายอยู่ที่เขานม คอยกันไม่ให้ทัพของหม่องจายิดยกข้ามมาที่บ้านนางแก้วได้ หม่องจายิดที่ตั้งอยู่เขาชะงุ้มต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกับงุยอคุงหวุ่น

เมื่อพระยารามัญวงศ์กับกองมอญ 500 คน ได้รับคำสั่งให้เป็นกองโจรไปคอยดักตีพม่าที่มาตักน้ำบริเวณด้านตะวันตกของเขาพระและเขานม หม่องจายิดก็ต้องแบ่งกำลังขุดสระน้ำขึ้นในค่าย เช่นเดียวกับงุยอคุงหวุ่นที่บ้านนางแก้ว แต่ก็มีน้ำไม่พอใช้ในกองทัพ ต้องยกกำลังออกไปตีชิงแหล่งน้ำเอาจากฝ่ายไทยอยู่เนือง ๆ บริเวณที่ถูกโจมตีบ่อยคือค่ายพระยาอินทรอภัยที่เขาชั่วพราน เพราะเป็นจุดที่มีกำลังรักษาสระน้ำห่างจากค่ายอื่น ๆ แต่พระยาอินทรอภัยก็จัดการวางกำลังป้องกันสระน้ำไว้อย่างเข้มแข็ง  

ในระหว่างบัญชาการศึก พระเจ้าตากประทับอยู่ที่ค่ายหลวงโคกกระต่ายเป็นหลัก เพราะเป็นจุดที่สามารถสังเกตการณ์ และคอยส่งกำลังหนุนไปยังค่ายต่าง ๆ ที่ล้อมอยู่นั้นได้สะดวก เนื่องจากโคกกระต่ายตั้งอยู่ริมคลองบางสองร้อย ที่สามารถแล่นเรือขึ้นเหนือลงใต้ได้โดยง่าย

มีตำนานความเชื่อในท้องถิ่นว่า ครั้งนั้นเสด็จฯ ไปนั่งสมาธิเจริญพระสติภาวนาอยู่ที่ถ้ำมรกต เขาข้าง (ชื่อปัจจุบันคือ “เขาค่าง”) ขณะที่โบราณวัตถุที่พบอยู่ภายในถ้ำมรกต ไม่มีสิ่งใดที่ยืนยันถึงความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากได้แน่ชัด อีกทั้งบริเวณปากถ้ำยังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขาข้าง (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่วัดเขาค่าง) ซึ่งเป็นจุดที่กองหน้าของพม่าจากค่ายเขาชะงุ้ม สามารถลาดตระเวนมาปะทะกับทัพไทยเพื่อแย่งแหล่งน้ำอีกด้วย  

อย่างไรก็ตาม การที่ทรงวางแผนการรบในลักษณะตั้งค่ายปิดล้อมอย่างยืดเยื้อยาวนาน ไม่เร่งเผด็จศึก  อีกทั้งยังมีเหตุการณ์สะเทือนพระราชหฤทัย จากการที่กรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดาทรงประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ไป โดยที่ไม่ได้เสด็จฯ กลับไปธนบุรี ทรงเลือกที่จะอยู่บัญชาการศึกต่อ และให้ปิดข่าวการสิ้นพระชนม์ของกรมพระเทพามาตย์ไว้เป็นความลับ เพราะเกรงไพร่พลจะระส่ำระสาย

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทรงต้องการความสงบและสถานที่ในการบำเพ็ญเพียรภาวนาตามที่โปรดปรานก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า โปรดการทำสมาธิเข้ากรรมฐาน ที่ธนบุรีเมื่อทรงว่างจากราชกิจก็มักจะใช้ไปเจริญพระกรรมฐานอยู่ที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม ฝั่งธนฯ ในปัจจุบัน) เป็นประจำ และพระองค์ก็เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความมุ่งหมายจะสำเร็จโพธิญาณตามคติพุทธเถรวาท [11]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 81. 

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 91. ตามอัตราเทียบค่าเงิน 4 บาท เท่ากับ 1 ตำลึง ดังนั้น การตีราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 5 ตำลึง จะเท่ากับเกวียนละ 20 บาท และอัตราค่าข้าวสารเกวียนละ 10 ตำลึง ก็จะเท่ากับเกวียนละ 40 บาท

[3] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 282. 

[4] พงศาวดารมอญพม่า, น. 82. 

[5] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 81. 

[6] เรื่องเดียวกัน. 

[7] เรื่องเดียวกัน, น. 87-88. 

[8] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 282. 

[9] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่นๆ, น. 92. 

[10] พงศาวดารมอญพม่า, น. 79. 

[11] นอกจากถ้ำมรกต ในย่านยังมีถ้ำสาริกาอีกแห่งที่มีตำนานเล่าถึงพระเจ้าตาก แต่การเล่าว่าเป็นถ้ำที่พระเจ้าตากและกองทัพของพระองค์แวะมาพักทัพหลังฝ่าวงล้อมออกจากอยุธยา ก่อนจะไปจันทบุรี แต่ตำนานนี้ดูไม่สมเหตุสมผลตามภูมิศาสตร์ และขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารที่เล่าเรื่องการเดินทัพไปจันทบุรีของพระเจ้าตาก ทรงมุ่งไปทางทิศตะวันออกโดยตรง มิได้ย้อนมาทางตะวันตกคือเมืองราชบุรีก่อนแล้วถึงค่อยเลียบชายฝั่งไป เหมือนอย่างตำนานได้กล่าวเอาไว้แต่อย่างใด

แม้จะขาดความน่าเชื่อถือ แต่ตำนานนี้เป็นที่เชื่อกันมากในท้องถิ่น แม้แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม ก็เล่าประวัติความสำคัญของถ้ำสาริกาตามตำนานข้างต้น ตำนานถ้ำสาริกาเพิ่งเล่าไม่กี่ปีมานี้แน่นอน เพราะจากเอกสารรวบรวมโดยคณะครูในท้องถิ่นราชบุรี พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2519 ยังไม่ได้ระบุถึงถ้ำสาริกาในแง่นี้แต่อย่างใด (สำนักงานศึกษาธิการเขต 5 ราชบุรี. ของดีเมืองราชบุรี. น. 15-18)

ส่วนแม้ใน พ.ศ. 2534 หน่วยงานท้องถิ่น เช่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี (ศธ.ราชบุรี) ได้รวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำหนังสือเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง ก็ระบุประวัติความสำคัญของถ้ำสาริกาว่า เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส และพระราชทานนามไว้ว่า “ถ้ำสาริกา” ไม่กล่าวอ้างความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตาก แต่อย่างใด [สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี. บันทึกเมืองราชบุรี. (ราชบุรี : โรงพิมพ์อักษรสุวรรณ, 2534), น. 142].

อย่างไรก็ตาม วัดถ้ำสาริกาและชาวบ้านในย่านก็ยังคงมีสิทธิ์ในการทำอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงพระเจ้าตากและวีรกรรมของพระองค์ได้ แม้ว่าใน พ.ศ. 2310 พระองค์จะยังมิได้เสด็จฯ มาตามตำนาน แต่บริเวณเขาที่ถ้ำสาริกาตั้งอยู่ ก็จัดอยู่ในเขตสมรภูมิศึกนางแก้วด้วยเช่นกัน


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ พระเจ้าตาก กับ “ศึกนางแก้ว” เมืองราชบุรี เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2564