จีนสมัยสาธารณรัฐ เกิด “กองทัพหางเปีย” ที่ลุกขึ้นฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย

จางซวิน เจ้าของฉายา "แม่ทัพหางเปีย" ผู้นำการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย สมัยสาธารณรัฐจีน

จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “สาธารณรัฐ” ใน ค.ศ. 1912 อันเป็นการสิ้นสุดการปกครองภายใต้ราชวงศ์ชิง ประชาชนต่างพากันตัดหางเปียข้างหลังศีรษะ ที่แสดงถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของราชวงศ์ชาวแมนจูทิ้ง แต่กลับมี “กองทัพหางเปีย” ที่พยายามฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย

นายทหารคนหนึ่งชื่อ “จางซวิน” ที่ไม่ยอมตัดหางเปีย และสั่งห้ามทหารทุกคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาตัดหางเปีย คนทั่วไปจึงเรียกเขาว่า “แม่ทัพหางเปีย” และเรียกกองทัพของเขาว่า “กองทัพหางเปีย”

จางซวินเป็นชาวอำเภอเฟิงซิน มณฑลเจียงซี เกิดในครอบครัวยากจน ค.ศ. 1879 เขาไปเป็นทหารในกองทัพ เคยเข้าร่วมสงครามระหว่างจีนกับฝรั่งเศส จางซวินได้รับความก้าวหน้ามาเรื่อยมา ค.ศ. 1911 เลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารพื้นที่ทางใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง หลังสถาปนาสาธารณรัฐจีน จางซวินไปเป็นทหารในสังกัดของหยวนซื่อข่าย ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารมณฑลเจียงซู และแม่ทัพพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง

ค.ศ. 1916 หลังหยวนซื่อข่ายเสียชีวิตลงเกิดเหตุการณ์ “การต่อสู้ระหว่างสองทำเนียบ” คือ ทำเนียบประธานาธิบดี มีหลีหยวนหง รองประธานาธิบดีที่ต้องการเป็นประธานาธิบดีต่อจากหย่วนซื่อข่าย กับทำเนียบนายกรัฐมนตรี มีต้วนฉีลุ่ย ขุนศึกเป่ยหยางและนายกฯ ผู้กุมอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในมือ ค.ศ. 1917 ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัญหาที่ว่าประเทศจีนจะเข้าร่วม “สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง” หรือไม่

จางซวินที่จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ได้ให้ค่าอะไรกับทั้ง 2 ทำเนียบแต่อย่างใด เขาเพียงเฝ้ารอว่าการต่อสู้ระหว่างหลีหยวนหงกับต้วนฉีลุ่ย เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหาย จะเป็นโอกาสในการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยให้เป็นจริงอีกครั้ง สำหรับจางซวินมีเพียง “ราชวงศ์ชิง จักรพรรดิ และราชสำนักเท่านั้นที่เป็นสิ่งมีค่าอันศักดิ์สิทธิ์”

เมื่อสบโอกาส จางซวินเสนอหลีหยวนหงว่า ตนยินดีเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหา หลีหยวนหงจึงเชิญเขาเข้ากรุงปักกิ่ง ต้วนฉีลุ่ยก็ต้องการกำลังของจางซวินมาช่วยยุบสภาเพื่อโค่นล้มหลีหยวนหง จึงเห็นด้วยกับการที่ให้จางซวินออกหน้าไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ดังนั้นจางซวินจึงนำทัพเดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อช่วย “ไกล่เกลี่ย” ปัญหา

วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1917 จางซวินนำทหารกองทัพหางเปีย 6,000 นายเดินทางมาถึงบริเวณนอกตัวเมืองของกรุงปักกิ่ง โดยอ้างว่าปฏิบัติตามคำสั่งเกณฑ์ทหารของประธานาธิบดีหลีหยวนหงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อจางซินมาถึงกรุงปักกิ่งวันแรก เพียงเข้าที่พักไม่พบปะกับผู้ใด วันที่สองจางซวินเข้าพบหลีหยวนหง โดยเรียกร้องให้ยุบสภาทันที มิฉะนั้นเขาจะไม่รับทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ วันที่สามเขาเข้าวังไปเฝ้าปูยี [ขณะนั้นสละราชย์แล้ว แต่รัฐบาลยังให้พำนักในพระราชวัง]

หลีหยวนหงเพิ่งกระจ่างว่า จางซวินมาโดยมีจุดมุ่งหมายอย่างอื่น และเริ่มตระหนักว่าคำสั่งเกณฑ์ทหารของตนนั้นจะทำให้เกิดมหันตภัย แต่ตัวเขาเองไม่มีกำลังทหาร จึงทำได้เพียงแต่ยุบสภาตาม “คำสั่ง” ของจางซวิน

เมื่อจางซวินมากรุงปักกิ่ง พวกผู้อาวุโสที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิงต่างดีอกดีใจกันยกใหญ่ พวกเขาเคลื่อนไหวกันบ่อยครั้งขึ้น มีการวางแผนอัญเชิญปูยีอดีตจักรพรรดิขึ้นครองราชย์อีกครั้ง วันที่ 28 มิถุนายน คังโหย่วเหวยเข้ากรุงปักกิ่งเพื่อสนับสนุนจางซวิน ซึ่งทำให้จางซวินมีความมั่นใจยิ่งขึ้น

วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1917 หลังจากเตรียมการวางแผนลับ การฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยก็เริ่มขึ้น จางซวินพยายามลวงผู้คนด้วยการแสร้งทำเป็นไปดูงิ้วที่สมาคมมณฑลเจียงซีทั้งวัน เขาดูงิ้วจนถึงเที่ยงคืน ขณะที่ในบ้านพักของเขา เหล่าทหารติดอาวุธเตรียมพร้อมรอรบ เสนาธิการผู้วางแผนการรบเดินเข้าๆ ออกๆ และจัดวางกำลังพลมากมายหลายครั้ง

จางซวินส่งคนไป “เชิญ” หวังซื่อเจิน ผู้บัญชาการใหญ่กองทัพเตรียมรบเฉพาะกาลพื้นที่กรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน, เจียงเฉาจง และเฉินกวางหย่วน รองผู้บัญชาการกองทัพเตรียมรบเฉพาะกาลพื้นที่กรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน รวมถึงอู๋ปิงหู อธิบดีกรมตำรวจนครบาล มาที่บ้านพักของเขาและแจ้งสาเหตุว่า

“ที่เรานำทหารเข้ากรุงปักกิ่งมาครั้งนี้ ไม่ได้จะมาไกล่เกลี่ยปัญหาให้ใคร หากแต่มาฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย เพื่อพระองค์ท่าน มาเพื่อกอบกู้แผ่นดินของมหาราชวงศ์ชิง…เราตั้งปณิธานไว้แล้วว่าต้องทำให้ได้ หากพวกท่านเห็นด้วยก็จงเปิดประตูเมืองให้เรานำทหารและม้าเข้ามาทันที มิฉะนั้นก็เชิญทุกท่านกลับไปจัดวางกำลังพลเอง สู้กันให้ตายไปข้างหนึ่ง”

ทุกคนที่ได้แต่มองหน้ากันทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าพูดอะไร จางซวินสั่งให้เปิดประตูเมือง กองทัพหางเปียของเขาทั้งหมดเข้ามาในตัวกรุงปักกิ่ง

ก่อนฟ้าสาง วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 จางซวินสวมหมวกของขุนนางราชวงศ์ชิงนำคังโหย่วเหวยและคณะมาที่ตำหนักหย่างซินเพื่อสนับสนุนปูยีขึ้นครองราชย์ จางซวินยังตั้งเป็นเสนาบดีใหญ่, ข้าหลวงใหญ่มณฑลจื๋อลี่ และควบตำแหน่งข้าหลวงพาณิชย์เป่ยหยาง กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งทางการเมืองและการทหาร

ในวันเดียวกันจางซวินออกประกาศพระราชโองการ 8 ฉบับ ในนามจักรพรรดิปูยี กำหนดให้เปลี่ยนปีที่หกของสาธารณรัฐจีนเป็น “รัชศกเซวียนถ่งปีที่ 9” เปลี่ยนธงห้าสี [ธงชาติจีนสมัยสาธารณรัฐ] เป็นธงมังกรเหลือง [ธงชาติจีนสมัยปลายราชวงศ์ชิง] ฟื้นฟูระบบขุนนางราชวงศ์ชิง นำฎีกาที่คังโหย่วเหวยเขียนแทนหลีหยวนหงเรื่อง “หลีหยวนหงทูลขอจักรพรรดิทรงกลับมาบริหารราชการอีกครั้ง” ไปทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อให้หลีหยวนหงลงนามในฎีกา

ทว่าหลีหยวนหงไม่กล้าลงนาม (วันรุ่งขึ้นหลีหยวนหงส่งโทรเลขถึงเฝิงกั๋วจางแจ้งให้ปฏิบัติราชการแทนประธานาธิบดีในนามรองประธานาธิบดี และยังแต่งตั้งต้วนฉีลุ่ยเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนตนเองหนีไปหลบอยู่ในสถานทูตญี่ปุ่น)

เช้าตรู่วันเดียวกันนี้ ตำรวจในกรุงปักกิ่งไปออกคำสั่งตามบ้านเรือนทีละหลังให้แขวนธงมังกรเหลือง พวกขุนนางที่หวังให้ฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยโดยราชวงศ์ชิงมานาน ต่างพากันสวมชุดเสื้อคลุมยาวแบบจีนโบราณ เดินแกว่งผมหางเปียทั้งของแท้และของเทียมไปมาในเมือง

การกระทำทวนกระแสของจางซวินขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชนและยุคสมัย ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศทันที ซุนยัตเซ็นเมื่อทราบข่าวจึงออกประกาศ “แถลงการณ์ปราบปรามการสวนกระแส” ในทันที และเตรียมจัดตั้งกองกำลังปราบปรามจางซวินทุกแห่งในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองเอกของทุกมณฑลในภาคใต้มีประชุมมวลชน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงตีพิมพ์บทความจำนวนมากเรียกร้องให้ปราบปรามจางซวินเป็นเสียงเดียวกัน

3 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 ต้วนฉีลุ่ยที่บรรลุวัตถุประสงค์ในการขับไล่หลีหยวนหงและยุบสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงส่งโทรเลขแจ้งให้ทราบและออกหนังสือประกาศยกทัพปราบปรามจางซวินที่เมืองเทียนจิน และจัดตั้งกองทัพปราบผู้ทรยศ โดยตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการใหญ่ของกองทัพ

เช้ามืดของวันที่ 12 ค.ศ. 1917 กองทัพปราบผู้ทรยศบุกเข้ากรุงปักกิ่ง กองทัพหางเปียถูกปราบปรามในเวลาอันรวดเร็ว จางซวินหลบหนีไปอยู่ในสถานทูตฮอลันดา จักรพรรดิปูยีประกาศสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง เรื่องฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยของจางซวินแม้จะสำเร็จ แต่ก็จบลงในเวลาเพียง 12 วัน 


ข้อมูลจาก

เส้าหย่ง-เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล- แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร: ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2564