“การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” ปฐมบทการล่มสลาย “ราชวงศ์ชิง”

การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง กองกำลัง ปฏิวัติ ราชวงศ์ชิง ที่ หวู่ชาง มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน
ทหารฝ่ายปฏิวัติยืนถ่ายภาพกับธงสัญลักษณ์การต่อสู้ ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย หลังจากการลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง (ภาพ : Wikimedia Commons)

“ราชวงศ์ชิง” ก่อตั้งโดยชาวแมนจู เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองประเทศจีนอยู่ราว 276 ปี คือระหว่าง ค.ศ. 1636-1912 ช่วงท้ายๆ ของราชวงศ์ชิงเป็นยุคแห่งการเสื่อมถอย ทั้งปัจจัยจากมหาอำนาจภายนอก และความสั่นคลอนภายในที่ถูกคลื่นลมการปฏิวัติโจมตี ซึ่งปฐมบทจุดจบของราชวงศ์ชิงเกิดจาก “การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” ใน “หวู่ชาง” มณฑลหูเป่ย เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911

“หวู่ชาง” เป็นเขตการปกครองหนึ่งของเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน อู่ฮั่นตั้งอยู่ที่จุดบรรจบของแม่น้ำแยงซีเกียง (แม่น้ำฉางเจียง) กับแม่น้ำฮั่นสุ่ย ทวนแม่น้ำแยงซีเกียงทางตะวันตกเป็นปากทะเลสาบต้งถิง รุดหน้าต่อไปผ่านช่องสามผาก็จะเข้าสู่เสฉวน ทางตะวันตกออกตามแม่น้ำแยงซีเกียงก็ไปถึงเซี่ยงไฮ้ และเมื่อทางรถไฟปักกิ่ง-ฮั่นโข่ว ให้บริการได้ตลอดสาย การคมนาคมระหว่างมณฑลต่างๆ ทางเหนือก็จะยิ่งสะดวกรวดเร็ว

นี่จึงทำให้ “อู่ฮั่น” เป็นเมืองที่มีทำเลที่ตั้งดั่งทอง

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดีเช่นนี้ ทำให้อู่ฮั่นเป็นเมืองทางการค้า ได้รับอิทธิพลด้านเศรษฐกิจจากต่างชาติ ทั้งยังมีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง เยาวชนหนุ่มสาวจำนวนมากหลั่งไหลมาศึกษาหาความรู้ที่นี่ ขณะเดียวกันก็มีหนุ่มสาวจากหูเป่ยออกไปเรียนต่อต่างประเทศค่อนข้างมาก

ราชสำนักชิง จับตามองการเติบโตของมณฑลหูเป่ยอยู่ตลอด เพราะการรับอิทธิพลตะวันตกมากเกินไปอาจสั่นสะเทือนความนิยมในราชวงศ์ได้ ประกอบกับขณะนั้นรัฐบาลชิงไม่ยอมให้ขุนนางตามมณฑลมีกองทัพขนาดใหญ่ อนุญาตให้จัดตั้งเพียง 1 กองพล และ 1 กองพลน้อย เท่านั้น

มณฑลหูเป่ย จึงมีเพียงกองพลที่ 8 และกองพลน้อยที่ 21 แต่กลับเป็นกองทหารแผนใหม่ที่มีอาวุธและการฝึกที่ดี ทหารในกองมีสัดส่วนการรู้หนังสือค่อนสูง อย่างไรก็ตาม ทหารส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน ถูกกดขี่จากนายทหาร ทำให้ทหารแผนใหม่เริ่มรับความคิดปฏิวัติ และกลายเป็นกำลังหลักในการลุกขึ้นสู้

ราชวงศ์ชิง ช่วงปลายๆ มีราษฎรที่ไม่พอใจราชสำนักลุกฮือขึ้นเป็นระยะ แต่รัฐบาลชิงก็ปราบปรามได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชิงคิดไม่ถึงว่ากองกำลังที่เตรียมไว้เพื่อปราบพวกปฏิวัติ จะกลับไปเข้ากับฝ่ายปฏิวัติเสียเอง

ในมณฑลหูเป่ยมีกลุ่มปฏิวัติค่อนข้างใหญ่อยู่ 2 กลุ่ม คือ สำนักวรรณคดี และ สมาคมก้งจิ้นเส้อ ซึ่งผู้นำกลุ่มต่างก็เป็นสมาชิกสมาคมพันธมิตร นำโดย ซุนยัตเซ็น

กลุ่มปฏิวัติทั้งสองดำเนินการเผยแพร่แนวคิดการปฏิวัติในหมู่ทหารแผนใหม่อย่างลับๆ แรกสุดใช้ทหารราบกรมที่ 14 แห่งกองพลน้อยที่ 21 เป็นฐาน ก่อนจะขยายไปตามหน่วยต่างๆ แบบไม่ขาดตอน จนถึงกองพันทหารช่างที่ 8 และกรมทหารปืนใหญ่ที่ 8

ตามแผนที่วางไว้ กำหนดการลุกขึ้นสู้ คือ วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับวันไหว้พระจันทร์ (15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน) แต่เนื่องจากเตรียมการไม่พร้อม ประกอบกับมีข่าวลือหนาหูว่า ฝ่ายปฏิวัติจะก่อการในวันไหว้พระจันทร์ ทางการจึงออกคำสั่งให้ทหารและหน่วยงานต่างๆ จัดงานไหว้พระจันทร์ล่วงหน้าในวัน 14 ค่ำ ขณะที่ฝ่ายปฏิวัติก็เลื่อนวันก่อการจากวันที่ 6 ตุลาคม ไปเป็นวันที่ 9 ตุลาคม

แต่การเตรียมระเบิดของฝ่ายปฏิวัติเกิดข้อผิดพลาด ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นระหว่างการประกอบ ฝ่ายปฏิวัติ 3 คน ได้แก่ เผิงฉู่พาน, หลิวฟู่จี และ หยางหงเซิ่ง ถูกจับกุม

ขณะที่ถูกคุมตัวออกไปนอกห้องโถง หลิวฟู่จีเห็นด้านนอกมีฝูงชนยืนออกันแน่น จึงตะโกนว่า “พี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย! ทุกคนพยายามต่อไปเถอะ สงสารแต่พี่น้องร่วมชาติที่ทุกข์ยากลำเค็ญ”

คำพูดของหลิวฟู่จีกลายเป็นการจุดประกาย “การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” ในหมู่ประชาชน

เผิงฉู่พาน, หลิวฟู่จี และหยางหงเซิ่ง ถูกตัดสินโทษประหารในเช้าวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ข่าวการเสียชีวิตของผู้กล้าแพร่ไปทั่ว 3 เขตการปกครองของอู่ฮั่น คือ ฮั่นโข่ว, ฮั่นหยาง และหวู่ชาง

เพื่อป้องกันเหตุลุกลามบานปลาย รัฐบาลชิงสั่งปิดประตูเมืองอู่ฮั่น มีการตรวจตราอย่างเข้มงวด ข้าหลวงใหญ่มีคำสั่งให้กวาดล้างครั้งใหญ่ แต่ค่ำวันที่ 10 ตุลาคมนั้นเอง “การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” ก็เกิดขึ้น เริ่มจากกองพันทหารช่างที่ 8 ในกองพลที่ 8 แห่งกองทหารแผนใหม่ในเมืองหวู่ชาง

การสู้รบดำเนินไปตลอดคืนอย่างดุเดือด กำลังพลของรัฐบาลชิงตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจนพ่ายแพ้ ในที่สุดกองทหารปฏิวัติก็ยึดหวู่ชางได้ทั้งเมือง วันที่ 11 ตุลาคม ยึดเขตฮั่นหยางได้ วันที่ 12 ตุลาคม ยึดเขตฮั่นโข่วได้ และในที่สุดก็ยึดทั้ง 3 เขตของเมืองอู่ฮั่นได้ทั้งหมด

ชัยชนะของการลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง ทำให้เมืองอู่ฮั่นคึกคักขึ้นทันที ทั้งเมืองเต็มไปด้วยเสียงโห่ร้องยินดีของประชาชน ในที่สุดความรู้สึกเก็บกดภายใต้การกดขี่อย่างยาวนานของระบอบศักดินาก็ปะทุออกมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด ประชาชนต่างเฉลิมฉลองชัยชนะ “การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” ราวกับฉลองเทศกาล

ขณะที่เกิดการลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง อันเป็นจุดเริ่มการปฏิวัติที่เรียกว่า “ซินไฮ่” ซุนยัตเซ็นกำลังโฆษณาระดมทุนอยู่ที่โคโลราโด สหรัฐอเมริกา เขารู้ข่าวนี้ด้วยความตื่นเต้นจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

หลังชัยชนะที่หวู่ชาง พื้นที่อื่นๆ ของจีนต่างลุกฮือขึ้นต่อต้าน “รัฐบาลชิง” ต่อเนื่องเหมือนโดมิโน เริ่มจากมณฑลหูหนาน, ซ่านซี, เจียงซี และซานซี ปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 มี 14 มณฑลจาก 24 มณฑลทั่วประเทศ แยกตัวเป็นอิสระ

เมื่อรวมกับปัจจัยภายนอก การปกครองของรัฐบาลชิงก็ถึงคราวล่มสลายลงเป็นลำดับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หลิวเสี่ยวฮุ่ย เขียน, เรืองชัย รักศรีอักษร แปล. ซุนยัตเซ็น มหาบุรุษผู้ผลิกแผ่นดินจีน, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2556

เสถียร จันทิมาธร. วิถีแห่งอำนาจซุนยัตเซ็น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2567