ทำไม “ปูยี” สละบัลลังก์ไป 12 ปี ถึงเพิ่งออกจากพระราชวังต้องห้าม

จักรพรรดิปูยี ภายใน พระราชวังต้องห้าม
จักรพรรดิปูยี ภายในพระราชวังต้องห้าม ถ่ายเมื่อราว ค.ศ. 1920-1924

การสถาปนาสาธารณรัฐจีนเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 แต่การสละราชสมบัติของ “จักรพรรดิปูยี” เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน หลงอวี้ไทเฮาทรงประกาศ “พระราชโองการสละราชสมบัติ” ในนามของปูยี (ค.ศ. 1906-1967) จักรพรรดิองค์สุดท้าย และราชวงศ์สุดท้ายของจีน

หากปูยีและคณะก็ยังอาศัยอยู่ในพระราชต้องห้าม หรือพระราชวังกู้กงต่อไปได้ตาม “ระเบียบการปฏิบัติต่อพระราชสำนักอย่างดีเป็นกรณีพิเศษ” ที่กำหนดขึ้น และทุกปียังได้รับเงินจำนวน 4 ล้านหยวน จากรัฐบาลสาธารณรัฐจีน

ปูยีขณะนั้นมีอายุเพียง 6 ปี ยังคงพำนักในพระราชวัง ขุนนางที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิงยังคงวนเวียนเข้าออกพระราชวังอยู่บ่อยๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมืองอย่างไม่ขาดสาย เช่น การพยายามฟื้นฟูราชวงศ์ชิงของจางซวิน ใน ค.ศ. 1917 ที่แม้จะล้มเหลว หากก็สร้างความไม่พอใจกับบุคคลชิงชังราชสำนักชิง

แต่ที่หนักข้อ คือ การรัฐประหารในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1924

เดือนตุลาคม ค.ศ. 1924 เฝิงอวี้เสียง ก่อรัฐประหารปักกิ่ง เขาคุมขังประธานาธิบดีเฉาคุน-ประธานาธิบดีที่ได้ตำแหน่งมาจากการซื้อเสียงเลือกตั้ง วันที่ 3 พฤศจิกายน กองทัพของเฝิงอวี้เสียงปลดอาวุธของกองอารักขาเดิมที่ภูเขาจิ่งซาน พระราชวังกู้กง และให้ไปรวมตัวกันที่บริเวณเป่ยย่วน เพื่อรอการจัดกำลังกองพลใหม่

เหตุการณ์นี้ทำให้ราชสำนักชิงรู้สึกตื่นตระหนกและหวาดผวาที่สุด จึงได้ติดต่อกับภายนอกอย่างลับๆ เพื่อหาวิธีรับมือ เมื่อคนฝ่ายพิทักษ์จักรพรรดิเห็นว่า สถานการณ์ในกรุงปักกิ่งสับสนวุ่นวาย ก็ฉวยโอกาสเคลื่อนไหวเช่นกัน ขณะเดียวกันก็เกิดข่าวลือเรื่องการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยของราชวงศ์ชิงแพร่กระจายไปทั่ว

จักรพรรดิปูยี ภายในพระราชวังต้องห้าม ถ่ายเมื่อราว ค.ศ. 1922-1924

ลู่จงหลิน ผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังรับมือสถานการณ์ ทราบข่าวเหล่านี้ ก็รีบรายงานให้เฝิงอวี้เสียง และรักษาการนายกรัฐมนตรีหวงฝูทันที พร้อมระบุว่าต้องขับไล่ปูยีออกจากวังโดยเร็ว หากชักช้าเกรงว่าจะเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น หวงฝูจึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วนในคืนนั้น

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปูยีปรับเงื่อนไขการปฏิบัติตาม “ระเบียบการปฏิบัติต่อพระราชสำนักอย่างดีเป็นกรณีพิเศษ”, ให้ปูยีออกจากพระราชวัง และมีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลจัดการแก้ปัญหาทุกอย่างที่จะตามมา

เช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน ลู่จงหลิน ผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังรับมือสถานการณ์ และ จางปี้ ผู้ตรวจการใหญ่ตำรวจ นำกำลังตำรวจและทหารรวม 60 นาย พร้อมกับหลี่อวี้อิ๋ง-ผู้มีชื่อเสียงในสังคม ไปยังประตูทิศเหนือของพระราชวังกู้กง เพื่อขับไล่ปูยีออกจากพระราชวัง ลู่จงหลินวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารไว้นอกพระราชวังกู้กง และสั่งการให้ตัดสายโทรศัพท์ที่เชื่อมกับพระราชวังกู้กงทิ้ง จากนั้นก็นำเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร 20 นายเข้าไปในพระราชวัง

ลู่จงหลินและคณะตรงไปยังที่พักของปูยี พวกเขาพบว่าราชสำนักชิงกำลังประชุม “เฉพาะพระพักตร์” กันอยู่ พวกลู่จงหลินจึงแสดงเงื่อนไขการปฏิบัติต่อพระราชสำนักอย่างดีเป็นกรณีพิเศษฉบับแก้ไข ซึ่งอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีแก่ เส้าอิง ผู้เป็นเสนาบดีสำนักพระราชวัง ทันที และแจ้งจุดประสงค์ของการมาในครั้งนี้ ขอให้เส้าอิงช่วยบอกปูยีย้ายออกจากพระราชวังกู้กงทันที

เส้าอิงที่ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก เมื่อตั้งสติได้เข้าก็กดดันหลี่อวี้อิ๋งและลู่จงหลิน ด้วยการตั้งคำถามว่า ทั้งสองต่างเป็นบุตรชายของอดีตขุนนางใหญ่ของราชสำนักชิง เหตุใดจึงทำเช่นนี้

จักรพรรดิปูยี และจักรพรรดินีหว่านหรง ภายในพระราชวังต้องห้าม ถ่ายเมื่อราว ค.ศ. 1922-1924

หลี่อวี้อิ๋งยิ้มไม่ตอบอะไร ลู่จงหลินตอบว่า “ท่านควรรู้ไว้ว่า พวกเรามาที่นี่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรี พวกเราทำเพื่อสาธารณรัฐ ขณะเดียวกันก็ทำเพื่อราชสำนักชิงด้วย หากไม่ใช่พวกเราแล้ว ก็อย่าได้คิดว่าจะได้สบายอกสบายใจเช่นนี้เลย” เส้าอิงจนปัญญา จึงรีบรายงานให้ปูยีทราบ

หลังการปรึกษาหารือ เส้าอิงแจ้งว่า การย้ายทันทีนั้นค่อนข้างลำบาก จึงขอผ่อนเป็นเวลา 3 เดือน หากลู่จงหลินยืนยันว่า ภายในวันนี้ต้องยกเลิกพระนามจักรพรรดิ, ส่งมอบพระราชลัญจกรและพระราชวัง, ต้องย้ายออกจากพระราชวังกู้กงทันที และห้ามย้ายไปที่พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวนด้วย เพราะพระราชวังฤดูร้อนก็จะยึดเป็นของรัฐบาล

เส้าอิงพยายามต่อรองยืดเวลาออกไป แต่เมื่อลู่จงหลินยืนยันหนักแน่น หลังจากเจรจาต่อรองกันอยู่หลายหน สุดท้ายปูยีก็ตอบรับว่าจะออกจากพระราชวัง เวลา 16.00 น. วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924 ปูยีส่งมอบพระราชลัญจกร เก็บข้าวของส่วนตัว และย้ายออกจากพระราชวังต้องห้ามไปพักที่ตำหนักเดิมของเจ้าชายตำแหน่งคุนแถวสะพานกานสุ่ย ท่ามกลางการเฝ้าดูแลความเคลื่อนไหวและอารักขาของลู่จงหลินและคณะ

หลังจากปูยีออกจากพระราชวังกู้กงไปแล้ว คณะกรรมการดูแลจัดการปัญหาได้ทำบัญชีรายการ และจัดระเบียบโบราณวัตถุมีค่าในพระราชวังกู้กงตามกฎระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด และเตรียมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง ซึ่งต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ในที่สุดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1925

ส่วนปูยีหลังออกจากพระราชวัง ช่วงแรกไปพำนักที่ตำหนักเจ้าชายตำแหน่งคุน จากนั้นก็ไปอยู่เมืองเทียนจินอย่างลับๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวญี่ปุ่น หลังเหตุการณ์ “18 กันยา” ปูยีก็ไปเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดแห่ง “อาณาจักรแมนจูกัว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

เส้าหย่ง, หวังไห่ผิง-เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล- แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2564