โจวเอินไหล พูดอะไร? ที่โต๊ะอาหารต่อหน้าอดีตจักรพรรดิปูยี-อดีตชาวแมนจูผู้ยากจน

โจวเอินไหล พบ นาย Alexei Kozygin ที่ ปักกิ่ง
โจวเอินไหล ภาพถ่ายขณะพบปะกับ นาย Alexei Kozygin ที่ปักกิ่ง เมื่อ 17 กันยายน 1969 ภาพจาก XINHUA / AFP

วาทะ “โจวเอินไหล” ที่โต๊ะอาหารต่อหน้า “ปูยี” อดีตจักรพรรดิแมนจู และ “เหลาเส่อ” อดีตชาวแมนจูผู้ยากจน

การเดินขบวนฉลองวันชาติ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960 โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ จัดการให้ปูยีจักรพรรดิองค์สุดท้าย ออกมาชมการเดินขบวนฉลองวันชาติด้วยตนเอง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้อภัยต่อปูยี ไม่ถือโทษเรื่องอดีตในวันเวลาแห่งการเฉลิมฉลองทั่วทั้งแผ่นดิน

ก่อนหน้านั้นในปี 1959 เหมาเจ๋อตงประธานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศการอภัยโทษเป็นพิเศษ ให้กับปูยีจักรพรรดิองค์สุดท้าย รวมทั้งอาชญากรสงครามอีกจํานวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่คือคณะนายทหารของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง  หลังการปล่อยตัว ปูยีได้รับให้เป็นเจ้าหน้าที่พิเศษในคณะกรรมการค้นคว้าข้อมูลทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ

หลังการอภัยโทษไม่นาน โจวเอินไหลจัดงานเลี้ยงต้อนรับปูยีและครอบครัว ตามนโยบายของพรรคที่ช่วยเหลืออาชญากรสงคราม เปลี่ยนจิตแปลงใจพวกเขาให้เป็นผู้เป็นคนขึ้นมา สร้างความสามัคคีกับชนชาติต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับปูยีซึ่งเป็นชาวแมนจู หนึ่งในชนชาติส่วนน้อย 50 กว่าชาติของประเทศจีน โจวเอินไหลจึงเชิญเหลาเส่อ (นามปากกาของซูซิ่งชุน) และภรรยา เหลาเส่อซึ่งเป็นชนชาติแมนจู และนักเขียนชื่อดังแห่งยุคมาร่วมด้วย

ที่โต๊ะอาหารโจวเอินไหล กล่าวคำพูดไม่กี่คําก็พูดเข้าประเด็นแบบเนียนๆ

“คนหนึ่งคือปูยี คนหนึ่งคือเหลาเส่อ ล้วนแต่เป็นชาวแมนจู ก่อนหน้านี้ คนหนึ่งเป็นฮ่องเต้ คนหนึ่งเป็นชาวแมนจูที่ยากจน

มิใช่แต่ไม่สามารถจะนั่งคู่อยู่ด้วยกัน แม้ในขณะที่พบหน้า ทุกคนยังต้องคุกเข่าให้กับฮ่องเต้

วันนี้เรา 3 คนล้วนแต่มานั่งอยู่ข้างโต๊ะตัวเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงช่างใหญ่หลวงเหลือเกิน!

ในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้ พวกเราทุกคนก็ควรจะต้องศึกษา จึงจะสามารถสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนี้ได้ เราจะต้องมีชีวิตอยู่จนแก่เฒ่า ศึกษาจนแก่เฒ่า ดัดแปลงจนแก่เฒ่าตลอดไป”

นี่คือความสามารถทางการทูตของโจวเอินไหลที่พูดได้ดี และไม่ต้องพูดเยอะ เจ็บคอ!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ฟางจี้เฉิง, เจียงกุ้ยหนง-เขียน บุญศักดิ์ แสงระวี-แปล. โจวเอินไหล ฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2564