พระราชวังต้องห้ามที่ยิ่งใหญ่ แต่ทำไมจักรพรรดิราชวงศ์ชิงไม่โปรดประทับ

หยวนหมิงหยวน ปล้นสะดม
ภาพวาดแสดงการปล้มสะดม และขนโบราณวัตถุออกจากหยวนหมิงหยวน โดยกองทหารอังกฤษ-ฝรั่งเศส

บรรพชนของราชวงศ์ชิงเป็นชาวแมนจู ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าเขา ชื่นชอบการขี่ม้า ล่าสัตว์ ชมธรรมชาติ ขณะที่ “พระราชวังต้องห้าม” รายล้อมด้วยกำแพงสูง พื้นปูลาดด้วยอิฐและหินที่ร้อน แข็งกระด้าง ชวนให้อึดอัด จึงไม่ใช่ที่ประทับที่ปรารถนา

ในรัชกาลจักรพรรดิคังซีจึงมีคำสั่งให้สร้าง “อุทยาน” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง

อุทยานดังกล่าวไม่ใช่ “อี๋เหอหยวน” หรือพระราชวังฤดูร้อน ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง หากเป็น “หยวนหมิงหยวน” หรือที่ “พระราชวังฤดูร้อนเก่า” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นที่ประทับหลักของพระองค์ แต่ละปีละเสด็จกลับไปประทับที่ พระราชวังต้องห้าม เพียง 1-2 เดือนในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น และเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศ

อุทยานหยวนหมิงหยวน แต่เดิมในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นเพียงสวนป่าของราชนิกุล ถึงราชวงศ์ชิงจักรพรรดิคังซีพระราชทานพื้นที่ดังกล่าวแก่องค์ชายสี่ (จักรพรรดิยงเจิ้ง) หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งให้ปรับปรุงหยวนหมิงหยวนครั้งใหญ่ โดยมีเหลยจินอี้ว์สถาปนิกหลวงผู้ควบคุมดูแลการซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม เป็นผู้คุมงานปรับปรุงหยวนหมิงหยวน

พระราชวังต้องห้าม
พระราชวังต้องห้าม

ปลายรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง อุทยานแห่งนี้มีขนาดเทียบเท่าสนามฟุตบอล 600 สนามรวมกัน ถึงรัชกาลจักรพรรดิเจียชิ่ง มีการขยายพื้นที่ของอุทยานเพิ่มออกไป จนหยวนหมิงหยวนอุทยานที่มีขนาดใหญ่ถึง 3.5 ล้านตารางเมตร หรือกว่า 2,200 ไร่

ไม่เพียงแต่ความยิ่งใหญ่เท่านั้น หยวยหมิงหยวนยังจำลองทิวทัศน์ดินแดนเจียงหนาน ด้วยการใช้เนินเขาคดเคี้ยวเป็นตัวกันสายตา แบ่งพื้นที่ด้วยกำแพง แล้วเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและลำน้ำเล็กๆ ที่ลดเลี้ยวไปมา ว่ากันว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นของจักรพรรดิคังซี

ในรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง จีนเป็นหนึ่งในราชอาณาจักรที่มั่งคั่งที่สุด มีการสร้างอาคารฝรั่ง และติดตั้งระบบน้ำพุเช่นเดียวกับพระราชวังแวร์ซายส์ เป็นระบบน้ำแห่งแรกในประเทศจีน สวนน้ำพุสร้างด้วยหินแกะสลัก มีรูปหล่อนักษัตรสำริด 12 ราศี ทุก 2 ชั่วโมง รูปหล่อนักษัตรแต่ละจะพ่นน้ำตามลำดับ และในเวลาเที่ยงตรงของทุกวันรูปหล่อทั้ง 12  นักษัตร ที่ออกแบบโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส นอกจากสถาปัตยกรรมที่รุ่มรวย หยวนหมิงหยวนยังเก็บสะสมศิลปวัตถุ ทรัพย์สินมีค่า ฯลฯ ไว้อีกด้วย

เมื่อเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ค.ศ. 1860 กองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส บุกหยวนหมิงหยวน เผาทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้าและไม่สามารถฉกฉวยได้ ไฟไหม้หยวนหมิงหยวนอยู่ 3 วัน 3 คืน ส่วนสิ่งของมีค่าที่เคลื่อนย้ายได้ก็ปล้นชิงขนกลับประเทศตนเอง และมีการนำออกประมูลในตลาดนักสะสมของเก่าภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นิธิพันธ์ วิประวิทย์. ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร, สำนักพิมพ์มติชน , กันยายน 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2564