ผ่าข้อมูล “สวนเฉียนหลง” ในวังต้องห้าม จักรพรรดิเฉียนหลงออกแบบเอง (ยัง)ไม่เปิดให้เข้าชม

ภาพจำลอง อุทยานหนิงโซ่งกง ส่วนที่ 3 (ภาพจาก "ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม", 2561)

พระราชวังต้องห้าม สถาปัตยกรรมอันลือชื่อของจีนมีพื้นที่ขนาด 2 เอเคอร์ซึ่งเคยถูกอนุรักษ์ฟื้นฟูมาอย่างยาวนาน

ความยิ่งใหญ่ของพระราชวังต้องห้ามเป็นที่ประจักษ์ไม่ใช่แค่ในหมู่นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี แต่ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ว่ากันว่าพระราชวังต้องห้ามคือกลุ่มอาคารไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งยังหลงเหลือในปัจจุบัน

Advertisement

จักรพรรดิเฉียนหลง

จักรพรรดิเฉียนหลง จักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ชิง เป็นจักรพรรดิผู้เคยครองสถิติครองบัลลังก์ยาวนานที่สุดในจีน ระหว่าง ค.ศ. 1735-1796 รวมระยะเวลา 60 ปี (นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่า ในทางปฏิบัติพระองค์ “ครองบัลลังก์” รวม 64 ปี เพราะหลังเป็น “ไท่ซ่างหวง” การบริหารแผ่นดินยังเป็นของพระองค์อยู่) พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ โปรดปรานศาสตร์แขนงต่างๆ ทรงเก็บหนังสือและภาพโบราณไว้มากกว่า 12,000 ชนิด ตั้งแต่เครื่องสำริดโบราณกว่า 4 พันชิ้น ตราประทับโบราณไม่ต่ำกว่า 1 พันชิ้น และยังโปรดการสะสมหยก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีกว่า 800 บทที่เกี่ยวกับหยก

รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่เรียกได้ว่าอาณาจักรรุ่งโรจน์ เพียบพร้อมราบรื่นมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์เป็นรัชทายาท ขึ้นครองราชย์ และไท่ซ่างหวง (สละราชบัลลังก์หลัง 60 พรรษา)

สวนเฉียนหลงที่ว่านี้ เรียกกันอีกชื่อว่า “หนิงโซ่วกง” (寧壽宮) จักรพรรดิเฉียนหลงทรงออกแบบเอง และทรงรับสั่งให้สร้างในวัยชรา อุทยานตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวังต้องห้าม อุทยานมีลักษณะแคบยาว ยาวจากใต้ถึงเหนือ 160 เมตร ตะวันออกถึงตะวันตกกว้าง 37 เมตร เนื้อที่ประมาณ 5,920 ตารางเมตร สวนเฉียนหลงไม่ได้มีการใช้งานเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 และจำเป็นต้องอนุรักษ์ฟื้่นฟูมรดกอันมีค่าเหล่านี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

พื้นที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยจักรพรรดิเฉียนหลงทรงออกแบบ “สวน” อันเต็มไปด้วยรายละเอียดอยู่ในพระราชวังต้องห้ามเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในช่วงบั้นปลายหลังสละราชสมบัติขึ้นเป็นไท่ซ่างหวง ในช่วงพระชนมายุ 60 พรรษา พระองค์จึงโปรดให้บูรณะถนนตะวันออกเส้นนอกของพระราชวังต้องห้าม แล้วสร้างเป็นหนิงโซ่งกง และอุทยานหนิงโซ่วกง โดยถอดแบบมาจากอุทยานเจี้ยนฝูกง (อุทยานอีกแห่งในวัยฉกรรจ์ของจักรพรรดิเฉียนหลง)

สวนเฉียนหลงที่สร้างระหว่าง ค.ศ. 1771-1776 สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ขององค์จักรพรรดิ ขณะที่อุทยานยังคงรูปแบบเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ พื้นที่แต่ละส่วนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามเจตนา “ทัศนียภาพเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าว” พระองค์สอดแทรกความคิดแบบอุดมคติของบัณฑิตเรื่อง “ความสันโดษ” ในการออกแบบ แต่ในความจริงแล้วพระองค์ไม่เคยย้ายมาประทับในที่นี้

“ลู่หยวน” ระบุว่า “หนิงโซ่วกง” ใช้งบค่าก่อสร้าง 1.43 ล้านเหลี่ยง เปรียบเทียบเป็นมูลค่าแล้วสามารถใช้ซื้อเสบียงสำหรับคน 260,000 ราย หากนับตามสถิติครอบครัวโบราณประมาณได้ว่าเฉลี่ยครอบครัวละ 5 คน ก็เท่ากับ 52,000 ครัวเรือน

อุทยานหนิงโซ่วกงแบ่งออกเป็น 4 ส่วน
(คลิกชมภาพสถานที่จริงที่นี่)

อาคารส่วนแรกคือ กู่ฮว๋าเซวียน มีต้นชิวโบราณอายุกว่าร้อยปีอยู่ด้านหน้า เมื่อสร้างโดยอิงจากต้นไม้โบราณจึงได้ชื่อว่า “กู่ฮว๋าเซียน” ด้านซ้ายของอาคารมีศาลาที่เรียกว่า “ซี่ส่าง” หมายถึงการอธิษฐานให้พ้นภัยและพบความสุขตามแบบสมัยโบราณ มีเฉลียงยื่นออกมาและสร้างเป็นร่องไว้สำหรับเล่นลอยจอกสุราตามน้ำซึ่งมีที่มาจากธรรมเนียม “ซี่ส่าง” นั่นเอง และเลียนแบบรูปแบบของศาลาหลานถิงในกวีของหวังซีจือสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ในศาลาตกแต่งด้วยลวดลายแบบไผ่ แทนสัญลักษณ์ป่าไผ่ของบัณฑิต

ส่วนที่ 2 มีลักษณะเป็นอาคาร 3 หลังหันเข้าหากัน มีเครื่องประดับตกแต่งเป็นหินจากทะเลสาบไท่หู และดอกไม้ใบประดับในรูปแบบเรียบง่าย อาคารทุกหลังเชื่อมต่อกันได้ และมีระเบียงเชื่อมต่อไปสู่ส่วนที่ 3

อาคารหลักในส่วนนี้คือซุ่ยชูถัง “ซุ่ยชู” หมายถึงการปฏิบัติตามคำมั่นว่าจะสละบัลลังก์เมื่อครองราชย์ครบ 60 ปี กลับคืนเป็นผู้สูงวัยใช้เวลากับครอบครัว เป็นอาคารที่มีลักษณะสามัญแต่ยังตกแต่งให้มีกลิ่นอาย “ราชวงศ์” เหลืออยู่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องแก้วเขียวตัดขอบเหลือง ใช้หินตาเสือประดับฐานกำแพง

ส่วนที่ 3 เต็มไปด้วยภูเขาจำลองและก้อนหินแทบเต็มพื้นที่ ภายในภูเขาจำลองออกแบบให้มีอุโมงค์ลับเชื่อมต่อถึงกัน เรียกได้ว่าออกแบบให้เรียงรายเต็มพื้นที่ ตัดกับ “ความว่าง” ในส่วนที่ 2 อาคารหลักในส่วนนี้คือหอชุ่ยส่าง พระองค์นำความทรงจำและความรำลึกถึงการเสด็จประพาสทางตอนใต้ซึ่งทรงพบเห็นทิวทัศน์ต่างๆ มาเป็นลวดลายบนก้อนหิน มีองค์ประกอบของสน ไผ่ และเหมย อันเป็นสามสหาย สื่อถึงผู้สันโดษที่คบหาสน ไผ่ และเหมย

ในส่วนนี้มีหอชุ่ยส่างมีห้องพระที่ให้กลิ่นอายปลีกจากโลกียวิสัย และมีหินจากทะเลสาบไท่หู ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เก่าแก่ที่สุดในอุทยาน หรืออาจเก่าที่สุดในพระราชวังก็ว่าได้ เป็นหินที่ขนย้ายมาจากซูโจวและหางโจว

ส่วนที่ 4 สร้างเลียนแบบอุทยานเจี้ยนฝูกง “เจี้ยนฝูกง” เดิมทีเป็นที่พักร้อนยามว่างของจักรพรรดิเฉียนหลง และยังใช้เป็นที่ประทับไว้ทุกข์เมื่อครั้งพระมารดาสวรรคต อาคารหลักคือ “ฝูว่างเก๋อ” สร้างเลียนแบบจาก “เหยียนชุนเก๋อ” อาคาร 2 ชั้นในอุทยานเจี้ยนฝูกง

อาคารหลักเป็นอาคาร 2 ชั้น กั้นห้องหลากหลายจนได้ชื่อว่าเป็น “หอวงกต” ใช้สำหรับเป็นที่ประทับเปลี่ยนพระอิริยาบถ พักผ่อน อ่านหนังสือ และชมทิวทัศน์

ไฮไลต์
(คลิกชมภาพสถานที่จริงที่นี่)

ไฮไลท์ที่สำคัญอีกประการคือ เจวี้ยนฉินไจ ซึ่งว่ากันว่าเป็นจุดที่เปรียบได้กับ “หีบอัญมณีล้ำค่าที่สุดในพระราชวัง”

จากส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นภูเขาจำลอง และหิน เมื่อเดินไปสุดทางแล้วคิดว่าไม่มีทางไปต่อ แต่แท้จริงแล้วจะมาสู่ “หีบสมบัติขนาดใหญ่” ซึ่งเรียกกันว่า เจวี้ยนฉินไจ เป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งสุดท้ายของอุทยานหนิงโซ่วกง  ยาว 30 เมตร กว้าง 7 เมตร มีหน้ากว้าง 9 ห้อง ภายในตกแต่งหรูหราอลังการเหมือนกับชมพื้นที่ภายในหีบอัญมณี

ด้านตะวันตกมีเวทีละคร มีเวทีสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ตรงกลาง รอบข้างเป็นรั้วหลายชั้นที่วิจิตรงดงามอย่างมาก ผนังที่โอบล้อมเวทีมีภาพเขียนวิวขนาดใหญ่ซึ่งเขียนโดยใช้เทคนิคทัศนมิติ (Perspective) แบบตะวันตก บนเพดานยังวาดภาพ 3 มิติรูปไม้เถาลัดเลาะระแนง

ที่ผ่านมา ทางการเคยเปิดให้เข้าชมอุทยานหลวงซึ่งมีบุปผาหลากหลายสายพันธุ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเมื่อมีผู้เข้าชมจำนวนมาก แรงสั่นสะเทือนจากการก้าวเดิน แม้เป็นการเดินที่เบาที่สุดยังสามารถส่งแรงกดดินจนกลายเป็นหินได้ และอาจส่งผลต่อต้นไม้ จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์

ขณะที่รายงานล่าสุด (เมื่อปี 2020) เผยว่า พื้นที่เวทีละครในเจวี้ยนฉินไจ ผ่านการอนุรักษ์เสร็จบริบูรณ์แล้ว แต่ไม่ว่ากำหนดการเปิดเข้าชมจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องยอมรับว่า วังต้องห้ามคืออีกสถานที่ซึ่งเป็นที่ศึกษาในด้านงานสถาปัตยกรรมเสมอมา

อัปเดตเมื่อมีนาคม 2021 : แถลงจากเว็บไซต์ผู้มีส่วนรับผิดชอบโปรเจกต์ฟื้นฟูระบุว่า สาธารณชนจะเข้าถึงพื้นที่ส่วนหนึ่งในสวนเป็นครั้งแรกผ่านศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า Interpretation Center ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022

 


อ้างอิง :

จ้าวกว่างเซา. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม. อภิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560

Annabelle Selldorf to Design Interpretation Center at Forbidden City’s Qianlong Garden. World Monuments Fund. Web. 28 JAN 2019. <https://www.wmf.org/press-release/annabelle-selldorf-design-interpretation-center-forbidden-citys-qianlong-garden>

Qianlong Garden Conservation Project. World Monuments Fund. Web. <https://www.wmf.org/project/qianlong-garden-conservation-project>


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564