ส่องตำนาน “ซูสีไทเฮา” ถวายงานคืนแรก ณ ห้องบรรทม บันไดสู่อำนาจเหนือมังกร

ซูสีไทเฮา จีน
(ขวา) ซูสีไทเฮา (โดย Photographer: Yu Xunling, Scanned from Che Bing Chiu; Gilles Baud Berthier (2000) Yuanming Yuan : Le jardin de la clarté parfaite [Yuanming Yuan: The Garden of Perfect Clarity], Besançon: Editions de l'Imprimeur ISBN: 978-2-910735-31-9. (Empress Dowager Cixi (c. 1890).png) [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)

ซูสีไทเฮา เป็นอีกหนึ่งสตรีในราชสำนักจีนที่ประวัติศาสตร์จารึกหลากหลายแง่มุม แต่อีกด้านหนึ่งผู้เขียนเรื่องราวหลายรายมักแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต อารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ทั่วไปเข้าไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะแง่ภูมิหลังที่พยายามอธิบายที่มาที่ไปของการการ “ถวายตัว” ครั้งแรก อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญไปจนถึงการขึ้นสู่อำนาจ

ผลงานนักวิชาการ นักเขียน ผู้สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ กล่าวถึงพระนางซูสีไทเฮาในแง่มุมต่างๆ ไว้มากมาย อาทิ เบื้องหลังอิทธิพลทางการเมือง การใช้อำนาจ ความหรูหราในพระราชวัง และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

สำหรับนักเขียนไทยก็มีหลายแหล่งที่รวบรวมเรื่องราวไว้ ไม่ว่าจะเป็น “น.ม.ส.” (นามปากกาของมหาอำมาตย์โท พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส), ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เสฐียร พันธรังษี, เจน จำรัสศิลป์ และอีกมากมาย ข้อมูลที่ยกมาก็มีรายละเอียดบางจุดแตกต่างกัน บางจุดก็อาจผสมสีสันเข้าไปโดยไม่ได้บ่งบอกถึงที่มา หรือข้อมูลบางจุดก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะยืนยันในเชิงข้อเท็จจริง แต่การแต้มสีสันเหล่านี้พอจะใช้เป็นเครื่องมือที่สะท้อนมุมมองซึ่งคนรุ่นหลังมีต่อบุคคลในยุคก่อนได้บ้างไม่มากก็น้อย

เสถียร จันทิมาธร นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนที่ศึกษาวรรณคดีและพงศาวดารจีน เป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่รวบรวมข้อมูล เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางซูสีไทเฮา จากผู้รู้ ทั้งรายนามที่เอ่ยข้างต้น และนักเขียนจากต่างประเทศ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ “วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา”

ภูมิหลัง “ซูสีไทเฮา” 

แค่จุดตั้งต้นเรื่องชาติกำเนิดของซูสีไทเฮาก็มีหลากหลายแล้ว แต่พระราชประวัติที่โดยสากลทั่วไปยอมรับกันนั้น เสถียร จันทิมาธร สรุปไว้ว่า พระนางประสูติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) สถานที่กำเนิดยังไม่สามารถระบุแน่ชัด แต่ข้อมูลอื่นทั่วไปให้รายละเอียดใกล้เคียงกันว่า เป็นธิดาของฮวยเจิง ข้าราชการชาวแมนจู ตระกูลเยโฮนาลา (แปลว่าดอกกล้วยไม้) กับภรรยาเอกชื่อฟู่ฉา โดยพระนางซูสีไทเฮามีพระนามเดิมว่า “ซิ่งเจวิน”

เมื่อครั้งฮวยเจิงเสียชีวิต ครอบครัวเยโฮนาลา เดินทางเพื่อนำศพไปฝัง ณ สุสานกรุงปักกิ่ง ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกเอกสารบรรยายถึงวุฒิภาวะอันโดดเด่นของเยโฮนาลาอย่างสอดคล้องกัน

เจน จำรัสศิลป์ ผู้เรียบเรียงหนังสือ “ซูสีไทเฮา ราชินีขี่มังกร” บรรยายว่า เมื่อถึง ค.ศ. 1850 กษัตริย์เต้ากวงเสด็จสวรรคต พระราชโอรสใหญ่จากโอรส 9 พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงพระนามว่า “เสียนเฟิง”

อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์แมนจูมีประเพณีว่า กษัตริย์พระองค์ใหม่ห้ามมีพระสนมหรือมเหสีขณะไว้ทุกข์ให้กษัตริย์องค์ก่อนเป็นเวลา 27 เดือน ช่วงเวลานี้เจน จำรัสศิลป์ บรรยายว่า เป็นช่วงเวลาที่เยโฮนาลา เดินทางมากรุงปักกิ่ง และอาศัยในตรอกตะกั่ว

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายในบทที่ 2 ของหนังสือ “ซูสีไทเฮา” ว่า หลังสิ้นกำหนดไว้ทุกข์กษัตริย์เต้ากวงแล้ว นางฮองไทเฮา พระราชมารดาจึงตรัสสั่งให้หาสตรีแมนจูมีสกุลเข้ามาเป็นนางสนมกำนัล ให้เจ้าเมืองทำทะเบียนสตรีมีสกุลที่อายุน้อยกว่าหรือรุ่นเดียวกับฮ่องเต้ไว้ ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวแมนจู ธิดาของขุนนางแมนจูตั้งแต่อันดับ 2 ขึ้นไป เมื่ออายุครบ 14 ปี จะต้อง ถวายตัว เข้าวัง เพื่อให้องค์จักรพรรดิทรงเลือกพระสนมหากทรงมีพระราชประสงค์

สำหรับกระบวนการรับการคัดเลือก แหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งบอกเล่าแตกต่างกัน “น.ม.ส.” บรรยายใน “นางพญาฮองไทเฮา” และเสฐียร พันธรังษี บรรยายใน “นางพญาเม่งจู” ว่าเยโฮนาลา เกาะไปกับสะโกตา ธิดาของ “มูยังคา” ข้าราชการกองธงใน 8 กองธงในยุคนั้น ซึ่งเยโฮนาลา มาพักอาศัยด้วยในกรุงปักกิ่งไปอย่างง่ายดาย

ขณะที่ข้อมูลจากอันฉี หมิน อดีต “เรดการ์ด เยาวชนแดง” ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “Empress Orchid” หรือ “ซูสีไทเฮา ราชินีดอกกล้วยไม้” เล่าทำนองเยโฮนาลา ดิ้นรนสู้อย่างสุดฤทธิ์เพื่อโอกาสเข้าวัง

เมื่อมีโอกาสเข้าวังแล้ว เสฐียร พันธรังษี บรรยายข้อมูลในรูปแบบ “ฝรั่งเล่า” ในหนังสือ “นางพญาเม่งจู” ของตัวเอง ว่าด้วยรายละเอียดการถวายงานว่า เยโฮนาลา ศึกษาวิทยายุทธ์จากหนังสือ “ความฝันในหอแดง” และ “บุปผาในกุณฑีทอง” ก่อนเข้าถวายงานด้วย

รายละเอียดการพบกันครั้งแรกของเยโฮนาลา กับฮ่องเต้ก็แตกต่างกันด้วย เสฐียร บรรยายว่า เยโฮนาลา ใช้เวลา 3 เดือนจึงได้รับความสนพระทัย

ขณะที่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของอันฉี หมิน ซึ่งเล่าในมุมมองสมมติจากปากของพระนางซูสีไทเฮาที่เป็นตัวละครนำเรื่องเองว่า หลังจากได้เข้าวังต้องห้าม 58 วัน พระจักรพรรดิทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า โดยใช้วิธีดึกดำบรรพ์ที่สุดคือตามขันทีสื่อมาพบและมอบกล่องทองคำแกะสลัก

ส่วน “น.ม.ส.” บรรยายว่า ช่วงเริ่มต้นที่เยโฮนาลา อยู่ในวัง เป็นฤดูดอกไม้ร่วง ขณะที่นางนั่งเย็บผ้าและร้องเพลงคลอไปด้วยที่มุมหนึ่งของสวน เผอิญพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านสวนไป พระองค์ทรงได้ยินเสียงเพลงและหยุดฟัง แล้วโปรดให้พานางไปเข้าเฝ้า

ข้อมูลของ “น.ม.ส.” ใกล้เคียงกับข้อมูลจากเสฐียร ในหนังสือ “นางพญาเม่งจู” ที่ว่า ระหว่างที่สะโกตา ตั้งครรภ์ พระเจ้าแผ่นดินมักเสด็จประพาสหาความสำราญตามที่ต่างๆ วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปท้ายสวน ทรงได้ยินเสียงขิมจีน และเพลงอันขับร้องโดยเยโฮนาลา จึงเสด็จตามไปจนใกล้เสียง คราวนี้ก็เหลือเป็นแค่อำนาจของกามเทพ แต่ก็ยังทอดเวลาออกไป กระทั่งถึงเวลาค่ำ ขันทีพรวดเข้ามาในห้องนอนแจ้งว่า “ทรงรับสั่งให้เข้าเฝ้า”

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับหนังสือบันทึกเรื่องรักของเยโฮนาลา ที่เขียนโดยคนตะวันตกมีรายละเอียดที่น่าสงสัยอย่างหนึ่งคือ บางเล่มเล่าว่า เยโฮนาลา ร้องขอนำสุนัขเข้าไปเข้าเฝ้าด้วยน้ำเสียงยืนกรานแบบเด็ดขาด

หากพิจารณาจากข้อมูลเรื่องธรรมเนียมการถวายตัวที่รับรู้กันทั่วไปว่า สนมต้องเปลือยเปล่า มีแค่ผ้าแดงผืนใหญ่คลุมเท่านั้น รายละเอียดเรื่องนำสุนัขเข้าไปนี้จึงเป็นไปได้ยากยิ่ง

ซูสีไทเฮา (โดย Photographer: Yu Xunling, Scanned from Che Bing Chiu; Gilles Baud Berthier (2000) Yuanming Yuan : Le jardin de la clarté parfaite [Yuanming Yuan: The Garden of Perfect Clarity], Besançon: Editions de l’Imprimeur ISBN: 978-2-910735-31-9. (Empress Dowager Cixi (c. 1890).png) [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)

คืนแรก ณ ห้องบรรทม

เจน จำรัสศิลป์ บรรยายว่า เยโฮนาลา ถูกนำเข้าห้องที่ติดกับห้องโถงใหญ่ โดยขันทีแบกร่างใส่บ่าไปยังห้องบรรทมของฮ่องเต้ ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติมข้อมูลเรื่อง ถวายตัว ฮ่องเต้ที่ต้องมีธรรมเนียมเปลือยเปล่าถวายตัวนั้น ว่ากันว่าเกิดจากครั้งรัชสมัยหย่งเจิ้งฮ่องเต้ พระองค์ถูกนางสนมลอบปลงพระชนม์ เป็นเหตุให้ฮ่องเต้องค์ต่อมาจึงระวังกันมาก อย่างไรก็ตาม สาเหตุการสวรรคตของพระองค์ยังมีหลากหลาย (จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลพระองค์ไม่ได้ระบุสาเหตุแน่ชัดอันเป็นสาเหตุให้มีเสียงคาดการณ์แตกต่างกันออกไป)

และแล้วก็มาถึงจุดสนใจที่สุดของเรื่องนั่นคือเหตุการณ์ในห้องบรรทม

เจน จำรัสศิลป์ เรียบเรียงข้อมูลในหนังสือ “ซูสีไทเฮา ราชินีขี่มังกร” เล่าว่า เยโฮนาลา (ในสำนวนเจน จำรัสศิลป์ ใช้ชื่อ “หลานเอ๋อ”) หลังนางถูกแบกเข้าห้องบรรทม นางยืนสงบนิ่ง เมื่อขันทีดึงผ้าคลุมร่างออก นางยืนเปลือยใต้แสงไฟ ตัวสั่นระริก ทั้งด้วยอากาศเย็น และความตื่นกลัว

ฮ่องเต้ทรงเข้าสวมกอดนางอย่างละมุนละไม เวลาผ่านไป มหาดเล็กกับขันทีหันมองหน้ากัน จากนั้นกราบทูลขึ้น “สมควรแก่เวลาเสด็จแล้วพ่ะย่ะค่ะ”

นางหรี่ตา ยิ้มพลางกราบทูล “น่าเห็นใจ มหาดเล็ก ขันที ต้องยืนหนาวสั่นรอพระองค์ด้วยความห่วงใย” เป็นอันสบพระทัย ฮ่องเต้ตรัสว่า “จริงซีนะ พวกนี้ควรกลับไปนอนได้แล้ว มาเรียกให้รำคาญทำไมก็ไม่รู้” พร้อมกับตะโกนสั่งให้มหาดเล็กขันทีกลับไป และรับสั่งว่าพระองค์จะค้างที่นี่

ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สรุปในหนังสือ “ซูสีไทเฮา” ว่า ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าเสียนเฟิงฮ่องเต้ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาในเยโฮนาลายิ่งกว่านางสนมกำนัลอื่น

ขณะที่หนังสือ “ซูสีไทเฮา ราชินีดอกกล้วยไม้” ของอันฉี หมิน เล่าถึงสารอันมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เสียนเฟิงฮ่องเต้มาพบเยโฮนาลา หลานเอ๋อ แบบมากด้วย “ปัญหาในหัวใจ” สืบเนื่องมาจากช่วงทำสนธิสัญญาที่ถูกบับคั้นจากต่างชาติ พระองค์มากด้วยความเครียด มากด้วยความวิตกกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมือง

อันการร้องจากมหาดเล็กขันทีนั้น เป็นการร้องเรียกตามธรรมเนียม โดยเจน จำรัสศิลป์ บรรยายว่า พวกขันทีต้องรออยู่นอกห้องประมาณ 1 ชั่วยามให้หลัง สำหรับเกมสวาทเรียบร้อยก็จะสั่งกราบทูล “สมควรแก่เวลาเสด็จกลับ” หากไม่มีรับสั่งก็จะต้องทูลเร่งอีก 2 ครั้ง

เมื่อตรัสเรียกแล้ว ขันทีกลุ่มนี้จะเข้าไปนำสนมที่อยู่ในสภาพเปลือยเปล่าออกจากผ้าห่มทางปลายพระบาท เอาผ้าคลุมกายแบกออกจากห้องไป

ในฉบับกึ่งนวนิยายของอันฉี หมิน ยังมีแต่งเติมประสบการณ์ ณ ห้องบรรทมของเยโฮนาลา ค่อนข้างละเอียดทีเดียว

หลังจากนั้นเป็นต้นมา การบอกเล่าของนักเขียนหลายท่าน ทั้ง “น.ม.ส.” และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าว่า พระเจ้าเสียนเฟิงฮ่องเต้มีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาเยโฮนาลา ยิ่งกว่านางสนมกำนัลอื่น เสด็จมาหานางเป็นนิจ โดย “น.ม.ส.” อธิบายว่า เยโฮนาลา เป็นสนมโปรดแล้ว นางต้องการหรือจะกระทำสิ่งใดก็เป็นอันได้หมดทุกอย่าง และด้วยความเฉลียวฉลาดของเยโฮนาลา นางสามารถหลีกเลี่ยงความอิจฉาของพวกพระสนมอื่นด้วยกัน อีกทั้งยังเข้าหาพระนางฮองไทเฮาราชมารดาจนเป็นที่พอพระทัย

บทความของนายเวมิง (Wei Ming) เรื่อง “พระนางซูสีไทเฮา” แปลโดยศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล เล่าว่า นางเยโฮนาลา มักทูลอาสาช่วยเหลือพระเจ้าเสียนเฟิง ในการเก็บรักษาเอกสารราชการอยู่บ่อยครั้ง และเนื่องจากนางเป็นคนฉลาด ใฝ่รู้อ่านหนังสือต่างๆ อย่างกว้างขวาง เมื่อได้โอกาสช่วยเหลือก็มักมองข้ามพระพาหา (แขนตั้งแต่ไหล่ถึงศอก) ของพระองค์ในขณะที่ทรงเซ็นหนังสือราชการ ในไม่ช้าก็มีความรู้ราชการงานการเมือง

พ.ศ. 2399 นางมีพระโอรสกับฮ่องเต้เสียนเฟิง ซึ่งเป็นพระโอรสองค์เดียวของพระองค์จึงได้เลื่อนเป็นสนมเอก เมื่อ พ.ศ. 2403 กองทัพต่างชาติรุกรานจีน หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าเสียนเฟิง พระประชวรหนัก และสวรรคตใน พ.ศ. 2404

ไซชุน พระโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ ขณะพระชนมายุเพียง 6 พรรษา มีซูชุน เสนาบดีกระทรวงพระคลังและข้าราชการอีก 7 คนเป็นผู้สำเร็จราชการ พระนางซูสีไทเฮา สามารถกำจัดซูชุน (ซึ่งวางแผนกำจัดพระนางซูสีไทเฮาเช่นกัน) ได้ก่อน

หลังจากผ่านเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากมาย พระนางซูสีไทเฮาขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเพียงองค์เดียวพระนางซูอัน (พระราชินี) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2424 และเป็นจุดที่ทำให้พระนางซูสีไทเฮา ขึ้นสู่อำนาจ โดยยุคนี้เองเป็นที่รู้กันว่าพระนางซูสีไทเฮาทรงมีความเป็นอยู่อย่างหรูหรา ใช้งบประมาณจำนวนมาก หลังจากนั้นในรัชสมัยของพระเจ้ากวงสู พระนางซูสีไทเฮาก็ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติม กางเมนูพระกระยาหารจักรพรรดิจีน 1 มื้อ-บางมื้ออุปกรณ์เสวยทะลุ 200 ชิ้น มีอาหารอะไรบ้าง)

หลังพระเจ้ากวงสูสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2451 พระนางซูสีไทเฮา ทรงตั้งเจ้าชายปูยี โอรสของพระอนุชาของพระเจ้ากวงสู ซึ่งมีพระชนมายุ 3 ขวบขึ้นเป็นรัชทายาท

พระนางซูสีไทเฮา สิ้นพระชนม์ไม่กี่วันหลังจากแต่งตั้งเจ้าชายปูยี พระนางมีพระชนม์ 73 พรรษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เสถียร จันทิมาธร. วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560

เวมิง. “พระนางซูสีไทเฮา”. แปลโดย ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม, 2529)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2561