ที่มา | หลังสิ้นบัลลังก์มังกรฯ |
---|---|
ผู้เขียน | เส้าหย่ง, วังไห่เฟิง-เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล-แปล |
เผยแพร่ |
เดือนกันยายน ค.ศ. 1898 ซูสีไทเฮา ทรงก่อรัฐประหาร ทรงระดมกำลังจับกุมตัวพวกกลุ่มปฏิรูปและประหารชีวิตพวกเขา วันที่ 28 ราชสำนักชิงลงโทษประหารชีวิตถานซื่อถง หยางเซินซิ่วและพรรคพวกรวมหกคน
วันถัดมาราชสำนักชิงประกาศพระราชโองการ โดยพระนามของจักรพรรดิกวงซวี่ กล่าวโทษพวกคังโหย่วเหวยว่า “วางแผนปิดล้อมพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวนเพื่อจับกุมและควบคุมตัวไทเฮา” และถือว่าเรื่องนี้เป็นความผิดมหันต์ของกลุ่มปฏิรูป
การที่รัฐบาลราชวงศ์ชิงตั้งใจระบุคำว่า “ปิดล้อมอี๋เหอหยวน จับกุมไทเฮา” เป็นพิเศษนั้น ไม่ได้ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อหาข้ออ้างในการก่อรัฐประหารเลย ที่จริงแล้วมีเรื่องการ “ปิดล้อมอี๋เหอหยวน จับกุมไทเฮา” อยู่จริง คังโหย่วเหวยไม่เพียงเตรียมการ “จับกุมและควบคุมตัวไทเฮา” แต่ยังวางแผนถือโอกาสนี้ลอบสังหารพระนางด้วยเพื่อที่จะทำให้การปฏิรูปดำเนินไปอย่างราบรื่น
ส่วนคนที่ถูกไหว้วานให้รับหน้าที่สำคัญ ในการ “ปิดล้อมอี๋เหอหยวน จับกุมไทเฮา” ในขณะนั้นก็คือปี้หย่งเหนียน ซึ่งเป็นผู้นำสมาคมใต้ดินที่มาจากมณฑลหูหนาน
ปี้หย่งเหนียนเป็นชาวเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน เกิดเมื่อ ค.ศ. 1869 “มีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย จิตใจกว้างขวาง ชอบคบเพื่อนใหม่” ค.ศ. 1897 เขาสอบจอหงวนได้ระดับจวี่เหวิน หลังจากขบวนการปฏิรูปก่อตัวและพัฒนาขึ้น ปี้หย่งเหนียนก็สนิทสนมกับถานซื่อถงและถางไฉฉาง แล้วเขาก็ค่อยๆ กลายเป็นพวกหัวรุนแรงในกลุ่มปฏิรูป ปี้หยงเหนียนใช้ประโยชน์จากสถานะพิเศษของตนเองในการคบค้ากับสมาคมใต้ดินแบบลับๆ
วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1898 จักรพรรดิกวงซวี่ทรงประกาศพระราชโองการเรื่อง “การกำหนดนโยบายประเทศ” ดำเนินการปฏิรูปประเทศ นโยบายปฏิรูปเหล่านี้ไปกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจหัวโบราณที่มีซูสีไทเฮาเป็นผู้นำ จึงทำให้พวกเขาต่อต้านอย่างรุนแรง ในขณะนั้นคังโหย่วเหวยซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มปฏิรูปมีความหวังสูงสุดว่าจะพึ่งพาจักรพรรดิกวงซวี่ ค่อยๆ นำพาประเทศจีนพัฒนาไปสู่ลัทธิทุนนิยม โดยวิธีปฏิรูปจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างแบบสงบสุข และถูกกฎหมาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ทำให้ประเทศเข้มแข็ง รุ่งเรืองและกอบกู้วิกฤตชาติล่มสลาย
ทว่าต่อมาคังโหย่วเหวยค่อยๆ ตระหนักว่าซูสีไทเฮาเป็นผู้กุมอำนาจอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลราชวงศ์ชิงไว้ในพระหัตถ์ จักรพรรดิทรงไม่มีอำนาจใหญ่โตอะไรเลย ซูสีไทเฮาทรงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของขบวนการปฏิรูป เขาเคยกล่าวไว้ว่า หากต้องการ “เคารพยกย่องพระราชอำนาจของจักรพรรดิ” แล้ว “จะไม่กำจัดไทเฮาไม่ได้” พวกคังโหย่วเหวยเห็นว่าขอเพียงซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ อุปสรรคของการปฏิรูปก็จะมลายหายไป ดังนั้นพวกเขาจึงวางแผนลับกันเองหลายครั้งว่า หากการปฏิรูปถูกซูสีไทเฮาทำลาย จนดำเนินการต่อไปไม่ได้แล้วก็จะต้อง “ใช้แผนการแยบยลต่อไป”
หลังจากที่ขบวนการปฏิรูปดำเนินการเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งระหว่างจักรพรรดิกวงซวี่กับซูสีไทเฮาก็รุนแรงมากขึ้นทุกวัน ถึงขั้นที่ว่ามีแนวโน้มจะถึงจุดเดือดและปะทุออกมา วันที่ 15 มิถุนายน ซูสีไทเฮาทรงบังคับจักรพรรดิกวงซวี่ให้ปลดเวิงถงเฮ่อออกจากตำแหน่งและเนรเทศเขากลับบ้านเกิด
ขณะเดียวกันพระนางยังทรงบังคับจักรพรรดิกวงซวี่ให้มีรับสั่งว่า ขุนนางตำแหน่งขั้นสองขึ้นไปที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่จะต้องมากล่าวคำแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเฉพาะพระพักตร์พระนาง ในวันเดียวกันซูสีไทเฮายังทรงบังคับจักรพรรดิกวงซวี่ให้ทรงแต่งตั้งหรงลู่ซึ่งเป็นคนสนิทของพระนางเป็นรักษาการข้าหลวงใหญ่มณฑลจื๋อลี (หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่อย่างเป็นทางการ) ควบคุมกองทัพในเมืองหลวงและปริมณฑล
เมื่อพวกกลุ่มปฏิรูปเห็นเหตุการณ์ดังนี้ ก็รู้สึกหวาดผวายิ่งและลนลานกันไปทั่ว พวกคังโหย่วเหวยซึ่งขาดประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมือง คาดเดาสถานการณ์และระดับความอันตราย ณ ตอนนั้นไว้รุนแรงเกินเหตุ พวกเขาคิดว่าซูสีไทเฮากับหรงลู่สมคบคิดกัน เตรียมลงมือจัดการกลุ่มปฏิรูปทุกเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจเสี่ยงชีวิตเพราะไม่มีทางสู้ โดยการเร่งวางแผนเตรียมการใช้กำลังยึดอำนาจ ขณะเดียวกันก็สั่งการแบบลับๆ ให้ปี้หย่งเหนียนรีบมากรุงปักกิ่งด่วน
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 ปี้หย่งเหนียนตอบรับเทียบเชิญจากคังโหย่วเหวย เดินทางมากรุงปักกิ่งแบบไม่หยุดพักต่อเนื่องกันหลายคืน ขณะเดียวกันคังโหย่วเหวยก็ยังเร่งถางไฉฉางให้รีบมากรุงปักกิ่งด้วย จะได้ปรึกษาหารือวิธีรับมือ หลังจากที่ปี้หย่งเหนียนมาถึงกรุงปักกิ่งแล้ว คังโหย่วเหวยก็วิเคราะห์วิกฤตการณ์ในขณะนั้นให้เขาฟังเป็นลำดับแรก โดยเน้นภาวะอันตรายที่จักรพรรดิทรงเผชิญอยู่ หวังว่าเขาจะสามารถปฏิบัติภารกิจยิ่งใหญ่อันสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วพื้นปฐพี โดยคำนึงถึงสถานการณ์ในภาพรวมและถือเอาประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
จากนั้นคังโหย่วเหวยก็เปิดเผยแผนการอันอาจหาญให้เขารู้ ซึ่งก็คือสั่งให้ปี้หย่งเหนียนนำทหารชั้นดีหนึ่งกองทัพ ไปปิดล้อมพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน แล้วใช้โอกาสนี้จับซูสีไทเฮาสังหารเสีย หลังจากที่ปี้หย่งเหนียนได้ยินดังนั้น เขาก็ตกใจใหญ่ เขาคิดไม่ถึงว่าคังโหย่วเหวยซึ่งเป็นคนแสดงออกอย่างอ่อนโยน เป็นผู้มีความรู้และมีบุคลิกสง่านั้นจะคิดวิธีที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” เช่นนี้ออกมาได้
คังโหย่วเหวยบอกปี้หย่งเหนียนว่า แผนการนี้เป็น “การกระทำของคนที่อยู่ในสภาพจนตรอก” โดยแท้จริง เขายังกล่าวว่า ได้ส่งถานซื่อถงไปบ้านหยวนซื่อข่ายเพื่อยุแยงหยวนซื่อข่ายกับหรงลู่ให้แตกคอกันโดยหวังว่าจะทำให้ปี้หย่งเหนียนหายกังวลใจ จากที่คังโหย่วเหวยทั้งกระตุ้นและผลักดัน ปี้หย่งเหนียนพูดตอบไปในทันทีว่า ขอแค่สามารถปกป้องจักรพรรดิไม่ให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ และสามารถเร่งให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จเร็วขึ้นได้ เขาก็ “ยินดีเสี่ยงตายไม่ยอมถอย”
เดือนกันยายน ค.ศ. 1898 ขณะที่การต่อสู้ของกลุ่มหัวโบราณ และกลุ่มหัวสมัยใหม่รุนแรงขึ้นทุกทีนั้น คังโหย่วเหวยยังเคยยุหวังจ้าวให้ไปเกลี้ยกล่อมเนี่ยชื่อเฉิงให้นำกองทัพไปอารักขาจักรพรรดิกวงซวี่ ระหว่างที่ถานซื่อถงไปเยือนหยวนซื่อข่ายในยามวิกาลนั้น คังโหย่วเหวยก็ปรึกษาหารือกับหวังจ้าวว่าจะ “ขอโยกย้ายกองทัพของหยวนซื่อข่ายเข้าเมืองหลวงมารับใช้จักรพรรดิ” จะเห็นได้ว่า คังโหย่วเหวยได้วางแผนลับว่าจะกวาดล้างอุปสรรคในการปฏิรูปโดยวิธีใช้กำลังทหารจริง
แต่โชคไม่ดีที่ว่าหลังจากซูสีไทเฮาทรงเตรียมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระนางก็ทรงลงมือตัดหน้าเป็นฝ่ายรุกเสียเอง โดยทรงก่อรัฐประหารในวันที่ 21 กันยายน แผนการของคังโหย่วเหวยที่จะใช้กำลังทหารยึดอำนาจนั้นยังไม่ทันได้ปฏิบัติก็พังทลายลงเสียก่อน
คืนก่อนวันรัฐประหาร ขณะที่ซูสีไทเฮาเสด็จกลับพระราชวังต้องห้าม ด้วยอารมณ์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟนั้น พระนางทรงถามจักรพรรดิกวงซวี่ว่า “คังโหย่วเหวยผู้ทรยศกำลังวางแผนจับตัวเรา พระองค์ไม่ทรงทราบเลยหรือ”
พระนางทรงก่นด่าอย่างรุนแรงต่อไปว่า “พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นราชนิกุลสายตรง เราเป็นผู้มอบราชบัลลังก์นี้ให้โดยเฉพาะ พระองค์ทรงเข้าวังมาตั้งแต่พระชนมายุสี่พรรษา เราทั้งเลี้ยงดูสอนสั่ง เหน็ดเหนื่อยกายใจเรื่อยมากระทั่งพระองค์ทรงอภิเษกสมรสและทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง ขอถามหน่อยว่า พระองค์ทรงต้องการขังเราไว้ที่อี๋เหอหยวนจริงหรือ พระองค์ทรงสู้สัตว์เดรัจฉานไม่ได้เลยจริงๆ”
ซูสีไทเฮายังตรัสอีกว่า “เจ้าเด็กโง่เอ๋ย หากวันนี้ไม่มีเราแล้ว พรุ่งนี้จะมีเจ้าได้อย่างไรเล่า” จะเห็นได้ว่า ณ ขณะนั้นซูสีไทเฮาทรงมั่นพระทัยว่าจักรพรรดิกวงซวี่ทรงสมรู้ร่วมคิดกับคังโหย่วเหวย เตรียมจับตัวพระนางกักขังไว้ที่พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน
หลังจากที่การปฏิรูปล้มเหลว คังโหย่วเหวยและเหลียงฉี่เชาก็ปิดบังเรื่อง “ปิดล้อมอี๋เหอหยวน จับกุมไทเฮา” อย่างมิดชิด พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมรับครั้งแล้วครั้งเล่า ในความเป็นจริงแล้วพวกคังโหย่วเหวยและถ่านซื่อถงไม่ได้ใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไปและวิธีปฏิรูปอย่างสงบสุขเพียงอย่างเดียว
เพื่อเร่งให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ พวกเขาเคยวางแผนลับปิดล้อมพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวนเพื่อจับกุมตัวซูสีไทเฮาจริง จะได้กำจัดอุปสรรคที่ขวางการปฏิรูป ภายหลังปี้หย่งเหนียนได้บันทึกเหตุการณ์ที่คังโหย่วเหวยพูดเกลี้ยกล่อมเขาให้นำทหารไปปิดล้อมพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวนไว้ในหนังสือเรื่อง บันทึกแผนลับลวงหลอก ไว้ค่อนข้างละเอียด [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
อ่านเพิ่มเติม :
- การปฏิวัติ 100 วัน การต่อสู้ระหว่างอำนาจ 2 ขั้วในราชสำนักแมนจู
- 15 พฤศจิกายน 1908 วันสวรรคต “ซูสีไทเฮา” สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565