15 พฤศจิกายน 1908 วันสวรรคต “ซูสีไทเฮา” สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

ซูสีไทเฮา สตรีผู้ทรงอิทธิพล ประวัติศาสตร์จีน 15 พฤศจิกายน
ซูสีไทเฮา 5 ปีก่อนเสด็จสวรรคต ทรงฉายเมื่อ 1903 (ภาพจาก LIFE Photo Archive / Public domain or Public domain, via Wikimedia Commons)

15 พฤศจิกายน 1908 วันสวรรคต “ซูสีไทเฮา” สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

พระพันปีฉือสี่ (Empress Dowager Cixi) หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ “ซูสีไทเฮา” ประสูติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทรงเป็นพระสนมของพระเจ้าเสียนเฟิง (Xianfeng, ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1850-1861, หรือ พ.ศ. 2393-2404) และทรงเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าถงจื้อ (Tongzhi, ครองราชย์ ค.ศ. 1861-1875 หรือ พ.ศ. 2404-2418) รวมถึงพระราชมารดาบุญธรรมของพระเจ้ากวังซฺวี่ (Guangxu, ครองราชย์ ค.ศ. 1875-1908 หรือ พ.ศ. 2418-2451)

ซูสีไทเฮา ทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในการปกครองแผ่นดินจีนนานเกือบครึ่งศตวรรษ ทำให้พระองค์กลายมาเป็นสตรีที่มีอิทธิพลในการเมืองจีนมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

Advertisement
ซูสีไทเฮา และราชสำนักฝ่ายใน รวมถึงขันที

เดิมที ซูสีไทเฮาทรงเป็นเพียงพระสนมระดับล่างของพระเจ้าเสียนเฟิง แต่เมื่อ ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) ซูสีไทเฮาทรงให้กำเนิดพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระเจ้าเสียนเฟิง เมื่อพระเจ้าเสียนเฟิงสวรรคต พระราชโอรสวัย 6 พรรษาจึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าถงจื้อ โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการจำนวน 8 คน เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน องค์ชายกงชินหวัง (Gong Qinwang) พระอนุชาของพระเจ้าเสียนเฟิง ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการ แล้วให้ซูสีไทเฮา และซูอันไทเฮา (หรือพระพันปีหลวงฉืออัน พระสนมใหญ่ของพระเจ้าเสียนเฟิง) เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกัน ส่วนองค์ชายกงได้รับตำแหน่งเป็นองค์ชายที่ปรึกษา (prince counsellor)

การปกครองหลังการยึดอำนาจ กลุ่มอำนาจใหม่ภายใต้การนำขององค์ชายกง สามารถจัดการกับการก่อกบฏที่เกิดขึ้นทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ และมุ่งหน้าไปสู่การปฏิรูปตามอย่างตะวันตก ตั้งแต่การตั้งโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ มีการรับธรรมเนียมอย่างตะวันตกมาใช้ รวมถึงวิทยาการด้านการทหาร มีการตั้งองค์กรประสานงานด้านต่างประเทศ มีความพยายามในการแก้ปัญหาการทุจริต และหาคนมีฝีมือเข้ามารับราชการ

เมื่อพระเจ้าถงจื้อเจริญพระชนมายุถึงวัยที่สามารถใช้อำนาจเต็มได้ คณะผู้สำเร็จราชการจึงถูกยกเลิกไป แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะพระเจ้าถงจื้อสวรรคตหลังจากนั้นราว 2 ปี สองพระพันปีจึงกลายมาเป็นผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง ในรัชสมัยของพระเจ้ากวังซฺวี่ พระนัดดาของซูสีไทเฮา ซึ่งพระองค์ทรงรับเป็นพระโอรสบุญธรรม

แต่เมื่อซูอันไทเฮาสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันในปี 1881 (พ.ศ. 2424) ซูสีไทเฮาก็กลายมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนแต่เพียงผู้เดียว และอีกสามปีต่อมา พระองค์ก็ทรงปลดองค์ชายกงออกจากตำแหน่งองค์ชายที่ปรึกษา

ในปี 1889 (พ.ศ. 2432) ซูสีไทเฮาทรงลดบทบาททางการเมืองลง และหันไปใช้ชีวิตอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนที่พระองค์สร้างขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง แต่ในปี 1898 (พ.ศ. 2441) ไม่กี่ปีหลังจากที่จีนพ่ายแพ้ในสงครามกับญี่ปุ่น (1894-1895 หรือ พ.ศ. 2437-2438) พระเจ้ากวังซฺวี่ได้รับอิทธิพลจากเหล่าข้าราชการสายปฏิรูปที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทำให้มีการออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจีนยกใหญ่ในยุคนี้ แต่สุดท้ายก็ถูกข้าราชการสายอนุรักษนิยมออกมายึดอำนาจจากองค์จักรพรรดิแล้วคืนตำแหน่งผู้สำเร็จราชการให้กับซูสีไทเฮาอีกครั้ง

ซูสีไทเฮา
ซูสีไทเฮา 5 ปีก่อนเสด็จสวรรคต ทรงฉายเมื่อ 1903 (ภาพจาก LIFE Photo Archive / Public domain or Public domain, via Wikimedia Commons)

การปฏิรูปที่เริ่มดำเนินการในรัชกาลของพระเจ้ากวังซฺวี่จึงสูญเปล่า ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า นั่นคือการปิดโอกาสสุดท้ายของจีนที่จะทำการปฏิรูปได้สำเร็จโดยสันติ

หลังจากนั้นมา ซูสีไทเฮาทรงหนุนหลังเหล่าข้าราชการที่คอยยุยงกลุ่มกบฏนักมวย ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมให้ออกมาเล่นงานชาวต่างชาติ โดยในปี 1900 (พ.ศ. 2443) การเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏนักมวยถึงจุดสูงสุด มีชาวต่างชาติถูกฆ่าตายในช่วงนี้นับร้อยราย สถานทูตของประเทศต่างๆ ถูกปิดล้อม แต่กองกำลังต่างชาติก็รวมกำลังกันโต้ตอบและสามารถเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ

ซูสีไทเฮาจึงต้องทรงหลบหนีออกจากเมืองหลวง และสุดท้ายก็ต้องทรงยอมรับข้อตกลงสันติภาพที่ถูกมองว่าเป็นการหยามเกียรติของพระองค์ ต่อเมื่อพระองค์ทรงกลับไปประทับที่กรุงปักกิ่งในปี 1902 (พ.ศ. 2445) พระองค์จึงเริ่มการปฏิรูปที่เคยถูกยกเลิกไปในปี 1898 อีกครั้ง แม้ว่าพระเจ้ากวังซฺวี่จะไม่มีบทบาทในรัฐบาลอีกต่อไปแล้วก็ตาม

อีก 6 ปีต่อมา เมื่อมีการประกาศในวันที่ 14 พฤศจิกายน 1908 (พ.ศ. 2451) ว่าพระเจ้ากวังซฺวี่เสด็จสวรรคต วันถัดมา 15 พฤศจิกายน ซูสีไทเฮาก็เสด็จสวรรคตตามไป ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า พระเจ้ากวังซฺวี่น่าจะถูกลอบปลงพระชนม์ โดยผู้ต้องสงสัยหลักก็คือซูสีไทเฮาเอง แต่ก็ไม่มีหลักฐานอันใดยืนยันได้

ก่อนที่ในปี 2008 นักวิจัยและตำรวจสามารถสรุปหลักฐานยืนยันได้ว่า พระเจ้ากวังซฺวี่ถูกวางยาพิษด้วยสารหนูจริง แต่ก็มิได้มีการระบุว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica. Cixi empress dowager of China”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2563