เปิดเคล็ดลับสุขภาพสูตร “ซูสีไทเฮา” และกำเนิดเมนูโปรดของพระนาง

ซูสีไทเฮา
พระนางซูสีไทเฮา ประกาศพระราชโองการว่าด้วยการเตรียมใช้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข (โดย Photographer: Yu Xunling, Scanned from Che Bing Chiu; Gilles Baud Berthier (2000) Yuanming Yuan : Le jardin de la clarté parfaite [Yuanming Yuan: The Garden of Perfect Clarity], Besançon: Editions de l'Imprimeur ISBN: 978-2-910735-31-9. (Empress Dowager Cixi (c. 1890).png) [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)

พระกระยาหาร ของ ซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิง เป็นที่รู้กันว่าไม่เพียงแต่พิถีพิถัน แต่ยังอลังการงานสร้าง เพียบพร้อมทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพ รายละเอียดในพระกระยาหารที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบในเมนูที่ว่ากันว่าเป็นที่โปรดปรานของพระนาง และว่ากันว่าเป็นเคล็ดลับที่ช่วยรักษาสุขภาพความงาม

พระกระยาหาร ของจักรพรรดิและราชวงศ์ในพระราชวังจีนขึ้นชื่อเรื่องความหรูหรา จนเป็นที่สนใจของคนทั่วไป เมนูหลายอย่างถูกนำมาประยุกต์ หรือถอดสูตรมาผลิตจำหน่ายในภัตตาคารชั้นเลิศทั่วเอเชีย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่หลายคนพิจารณาคือวัตถุดิบที่นำมาปรุงพระกระยาหารนั้นล้วนพิถีพิถัน เมื่อราชวงศ์มีทั้งอำนาจและการเงิน ย่อมสามารถหาคนครัวชั้นยอดมาใช้งานได้

ข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์พบคือ ห้องเครื่องสมัยพระนางซูสีไทเฮามีกำลังคนราว 200 คน และขันทีที่คอยจัดเครื่องเสวยให้ซูสีไทเฮามีมากกว่า 20 คน

แม้ว่าในพระราชวังจะมีระเบียบปฏิบัติ เพื่ออารักขาความปลอดภัยในส่วนพระกระยาหาร โดยเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติกันมาจนเป็นระเบียบแบบแผน และจากระเบียบเหล่านี้ทำให้แม้แต่ขันทีคนสนิทที่ถวายการรับใช้มานับ 10 ปี หรือสาวรับใช้ในวัง ก็ยังไม่รู้ว่าองค์จักรพรรดิทรงโปรดปรานอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์มีข้อมูลเพียงพอจะสันนิษฐานได้ว่า อาหารที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในพระราชวังสมัยราชวงศ์แมนจูคือเมนู “หม้อไฟ” ข้อมูลหลายแหล่งสะท้อนถึงความนิยมนี้ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ใน ค.ศ. 1279 ทหารมองโกลที่หิวโหยกำลังพักผ่อน และเตรียมอาหารในแคมป์ทหาร ทันใดนั้นเกิดเสียงกลองดังลั่น เป็นสัญญาณแจ้งว่า ข้าศึกกำลังเดินทัพใกล้เข้ามาแล้ว ทหารที่หิวโหยจัดการโยนเนื้อวัวและเนื้อแกะลงในหม้อที่น้ำกำลังเดือดปุด จากนั้นก็รับประทานให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นกำลังสำหรับสู้ศึก

กองทัพมองโกลอันเกรียงไกรสามารถพิชิตแผ่นดินฮั่นในภายหลัง และสถาปนาราชวงศ์หยวนปกครองจีนระหว่างปี 1271-1368 เรื่องราวเกี่ยวกับต้นกำเนิดของหม้อไฟในจีนยังเกี่ยวข้องกับอาหารที่ใช้รับประทานในช่วงหน้าหนาว กระทั่งอีก 300 ปีต่อมา ในราชวงศ์ชิง ห้องครัวในพระราชวังต้องห้ามยังใส่เมนูหม้อไฟ หรือหม้อร้อน ในพระกระยาหารของจักรพรรดิอยู่เสมอ ในแต่ละมื้อต้องมีเมนูนี้ไม่ต่ำกว่า 1 จานโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว

ในช่วง ซูสีไทเฮา กุมอำนาจ เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่า พระนางโปรดปรานและพิถีพิถันเรื่องสุขภาพ การกิน และความงาม องค์ประกอบจำเป็นสำหรับเรื่องการบำรุงพระวรกายของพระนางซูสีไทเฮา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เล่าสืบต่อกันมาพูดถึง 3 สิ่ง คือ น้ำนมคน, ผงมุข และดอกเบญจมาศ หรือดอกเก๊กฮวย (chrysanthemum)

ในตำราการแพทย์จีนระบุถึง ดอกเก๊กฮวย ว่า มีสรรพคุณลดอุณหภูมิร่างกายและบำรุงผิวพรรณ อีกทั้งยังช่วยขับถ่ายพิษในร่างกาย

สำหรับ ซูสีไทเฮา มีข้อมูลจากบันทึกของคนใกล้ชิดของพระนางระบุว่า ดอกเบญจมาศ เป็นที่โปรดปรานของพระนางซูสีไทเฮาอย่างมาก ในวิถีชีวิตประจำวันของพระนางมีดอกเบญจมาศเป็นองค์ประกอบ ตั้งแต่การล้างมือ ไปจนถึงการเสวยพระกระยาหาร ซูสีไทเฮา ยังโปรดให้คัดดอกเบญจมาศสดจากพระราชวังในฤดูหนาวมาเสวยด้วย โดยพระนางรับสั่งให้นำกลีบมาโปรยในน้ำซุปที่กำลังเดือด นอกจากจะทำให้น้ำซุปมีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีผลต่อรสชาติ และบำรุงสุขภาพตามความเชื่อตามตำราแพทย์จีน

การปรุงพระกระยาหารด้วยดอกเบญจมาศ ยังไปจนถึงผสมในการดื่มชา (ซึ่งดื่มกันทั่วไป) จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายไปสู่ชาวบ้านทั่วไป เมนูหม้อไฟผสมกลีบดอกเบญจมาศยังได้รับความนิยมในช่วงปลายราชวงศ์ชิงด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จ้าวกว่างเชา. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม. แปลโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560

MOK, LARAMIE.  “Why did the Empress Dowager Cixi add chrysanthemum petals to her Chinese hotpot?”. South China Morning Post. Web. 7 FEB 2019. <https://www.scmp.com/magazines/style/travel-food/article/2184918/why-did-empress-dowager-cixi-add-chrysanthemum-petals>

Xu Qixian. “Imperial Food in the Qing Dynasty”. Chinese Imperial Cuisines and Eating Secrets. Translated by Zhang Tingquan. China : Panda Books, 1998


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562