เผยวิธีตอน “ขันที” เตรียมตัวหลายวันก่อนผ่า ไร้ยาชา-ยาสลบ ตัดขาดในครั้งเดียว

ซูสีไทเฮา ราชสำนักฝ่ายใน ขันที ตอนขันที
ซูสีไทเฮา และราชสำนักฝ่ายใน รวมถึงขันที

เผยวิธี “ตอนขันที” เตรียมตัวหลายวันก่อนผ่า ไร้ยาชา-ยาสลบ ตัดขาดในครั้งเดียว

ขันที หรือ ไท้เจี้ยน (Tai Jian) (คำว่าไท้เจี้ยน หมายถึง ผู้กำกับราชการใหญ่) จีนได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในราชสำนักของราชวงศ์ฮั่น (ในระหว่างปี 206 ก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 220 ในขณะที่บางตำนานก็ว่า มีมาตั้งแต่สมัยยุคหวงตี้ (Huang Di) กษัตริย์เหลือง-ปฐมกษัตริย์แห่งชาติจีนเมื่อสี่พันปีที่แล้ว) เพื่อไว้รับใช้งานในราชสำนักชั้นใน และเพื่อป้องกันมิให้ข่าวสารความลับต่าง ๆ ถูกแพร่งพรายออกไปยังสาธารณชนภายนอก

เชื่อกันว่าขันทีได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในเปอร์เซีย โดยให้ตอนทาสชายที่กวาดต้อนมาไว้รับใช้ในราชสำนักและเรียกว่า ยูนุค (Eunuch) ต่อมาได้แพร่หลายเข้าไปในราชสำนักจีนและจักรวรรดิออตโตมาน ขันทีหรือยูนุคถูกยกให้เป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็น ผู้พิทักษ์ฮาเร็ม (Harem) ขององค์สุลต่านหรือกษัตริย์ เมื่อมีนางในฮาเร็มอยู่มาก จึงจำเป็นต้องมีผู้ควบคุมดูแล

คนพวกนี้ต้องมีกำลังวังชาพอจะป้องกันคนภายนอกและบุรุษทั้งหลาย มิให้รุกล้ำเข้ามายังฝ่ายใน ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์จึงจำเป็นต้องใช้บุรุษเพศที่มีเรี่ยวแรงดีกว่าสตรีในวังเป็นผู้คอยควบคุมดูแล โดยจัดการตอนองคชาต เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ไปประกอบกิจกรรมทางเพศกับนางสนมทั้งหลาย และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า สายโลหิตของพวกเธอเหล่านั้นจะไม่ถูกแปดเปื้อนจากบุคคลอื่น

ยูนุคในจักรวรรดิออตโตมานมักจะมาจากทาสชายผิวดำชาวแอฟริกัน ที่ถูกกวาดต้อนมาจากอียิปต์และซูดาน เพื่อนำมาตอนแล้วส่งเข้ามารับใช้ในราชสำนัก เหตุผลที่ทาสผิวดำนี้ได้รับความนิยมก็เพราะเชื่อกันว่า มีความทรหดอดทนมากกว่าพวกผิวขาว

ดังนั้น ยูนุคของออตโตมานจึงมักเป็นชาวต่างชาติ ส่วนของจีนมักจะเป็นคนจีนด้วยกันเองที่ได้มาจากเชลยศึก หรือไม่ก็มีพวกที่สมัครใจมาเป็นขันที เพื่อแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งในอนาคต โดยไม่พรั่นพรึงต่ออาการเจ็บปวดและความตายที่อาจมาเยือนได้จากการ “ตอนขันที”

ขันที พระนางซูสีไทเฮา
(ซ้าย) ภาพจิตรกรรมกลุ่มขันที จากสุสานเจ้าชาย Zhanghuai, 706. Qianling, Shaanxi (ขวา) พระนางซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิง พร้อมกับขันทีวังหลวง (ภาพจาก http://puyi.netor.com/gallery) [Public Domain]
มีบันทึกในประวัติศาสตร์ได้เขียนถึงกรรมวิธีเกี่ยวกับการ “ตอนขันที” ของจีน ที่ถือว่าเป็นวิทยาการทางการแพทย์ชั้นสูงของจีนในสมัยนั้น ไว้ดังนี้

“ผู้ถูกจับตอนหรือสมัครใจที่จะถูกตอน จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการตรวจคัดเลือกว่าเป็นผู้มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีอายุที่เหมาะสมคือเป็นเด็กชายพรหมจรรย์ในวัยแปดถึงสิบปีที่ยังไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

ก่อนเข้าสู่พิธีการตอนนั้น ว่าที่ขันทีจะต้องงดอาหารทุกชนิดเพื่อให้ท้องว่างเป็นเวลาอย่างน้อยสามวัน โดยระหว่างนั้นจะต้องอยู่ในห้องผ่าตัดที่มิดชิดสะอาด ห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอก ต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

เมื่อถึงเวลาผ่าตัด ว่าที่ขันทีจะต้องนอนบนเตียงพิเศษที่มีห่วงยึดแขนขาทั้งสี่ข้างให้ร่างกายตรึงแน่น เพราะระหว่างการผ่าตัดนั้นไม่มีการใช้ยาสลบหรือยาชา ต้องการให้ผู้เข้าพิธีมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่ามีความตั้งใจเป็นขันทีอย่างแท้จริง

เมื่อพร้อมแล้ว ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดอย่างสายฟ้าแลบ ด้วยมีดผ่าตัดเป็นรูปวงโค้งเหมือนเคียวเกี่ยวข้าว จะผ่าตัดทีเดียวเท่านั้น ไม่มีการทำซ้ำ ทันทีที่เลือดพุ่งกระฉุดออกจากบาดแผล ผู้ช่วยแพทย์จะใช้ผ้าสะอาดอุดและคอยซับโลหิตที่ทะลักออกมา ผู้ช่วยอีกคนหนึ่งจะใช้สุราเกาเหลียงหรือแอลกอฮอล์อื่น ๆ ทำความสะอาดรอบ ๆ แผล พร้อมกับใช้แท่งโลหะเผาไฟร้อน ๆ นาบไปทั่วบริเวณเพื่อห้ามเลือดให้หยุดโดยเร็ว หลังจากนั้นจะเสียบแท่งวัสดุพิเศษที่ทำด้วยเทียนไขอย่างดี หรือก้านขนนกที่ผ่านการฆ่าเชื้อเข้าไปในรูรั่วนั้น เพื่อให้ขันที่สามารถใช้เป็นช่องปัสสาวะได้

ศัลยแพทย์เมื่อตัดอวัยวะแล้วจะรีบทำความสะอาดแล้วดองอวัยวะสำคัญนั้นไว้ในขวดแก้วที่มีน้ำยารักษาสภาพมิให้เน่าเปื่อย เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ผนึกชื่อเจ้าของและวันเดือนปีที่ทำการผ่าตัด ส่วนที่เก็บไว้นี้จะคืนให้เจ้าของเมื่อพ้นตำแหน่งขันที หรือนำไปฝังรวมกับร่างเจ้าของในตำแหน่งที่เคยอยู่ เพื่อว่าหากมีโอกาสเกิดใหม่ในภพหน้า จะได้มีอวัยวะชิ้นนี้ติดตัวอยู่ มิต้องเป็นขันทีเสียตั้งแต่เกิด

ในระหว่างพักฟื้นจะต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลาอีกอย่างน้อยสามวัน และเมื่อพ้นระยะพักฟื้นแล้วแพทย์จะตรวจอีกครั้งให้แน่ใจว่า เป็นขันทีบริสุทธิ์หรือไม่ ถ้าเห็นว่ายังเหลือตออยู่ก็จะจัดการอีกครั้งให้สิ้นเสีย

จากนั้นขันที่ใหม่จะต้องเข้าไปรายงานตัวกับกองงานขันที โดยจะมีขันทีรุ่นพี่คอยแนะนำและสอนให้รู้จักงานตามหน้าที่และงานพิเศษแล้วแต่โอกาสและความสามารถของแต่ละคน บางคนได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว บางคนก็เป็นเพียงขันทีรับใช้ไปตลอดชีวิต”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที ‘ซำปอกง'” เขียนโดย ปริวัฒน์ จันทร (สำนักพิมพ์มติชน, 2546)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564