ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาที่คลุมเคลือ น่าสงสัย คือขุนนางและข้าราชการเหล่านี้ถูกตอนหรือไม่ ถ้าตอนจะถูกตอนที่ไหน ในสยามหรือถูกตอนจากที่อื่น จากข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ นำมาปะติดปะต่อได้เค้าเงื่อนดังนี้
1. ขุนนางเหล่านี้น่าจะถูกตอนจริง เนื่องจากความจำเป็นที่ขุนนางและข้าราชการกลุ่มนี้ต้องรับใช้ใกล้ชิดกับเจ้านายสตรี ทั้งยังต้องอยู่กับฝ่ายในเกือบตลอดเวลา
2. สันนิษฐานว่าขันทีในสมัยอยุธยาน่าจะถูกตอนจากที่อื่น คือไม่ใช่ในสยาม บุคคลเหล่านี้น่าจะเป็นพวกที่ทำอาชีพขันทีโดยตรงซึ่งถือเป็นวิชาชีพหนึ่งในโลกอาหรับ
ระหว่าง ค.ศ. 15-18 ราชสำนักมุสลิมโดยเฉพาะจักรวรรดิออตโตมาน อิหร่าน และโมกุลของอินเดีย มีแบบธรรมเนียมที่ออกจะแปลกประหลาด (ในสายตาคนยุคปัจจุบัน) เช่น การมีฮะรัม (Haram) หรือนางห้าม กับสนัม (Snum) กษัตริย์เหล่านี้ทรงมีวังของนางในเรียกว่า ฮาเร็ม (Harem) ในภาษาอาหรับหรือสะนะนะ (Sanana) ในภาษาอิหร่าน หรือปูรดาร์( Purdar) ในภาษาอินเดียแปลว่า สถานที่ของนางห้าม ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า “ประเทียบ” อย่างเช่นในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาจะเรียกเรือของฝ่ายในว่า “เรือประเทียบ” และเรียกนางในว่า “นางประเทียบ”
เมื่อมีนางอยู่ในฮาเร็มมาก จำเป็นต้องมีผู้ควบคุมดูแล คนพวกนี้ต้องมีกำลังพอที่จะป้องกันคนภายนอก จึงจำเป็นต้องใช้บุรุษเพศที่แข็งแรงกว่าสตรี โดยจัดการตอนองคชาติเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้ประกอบกิจกรรมทางเพศกับนางในทั้งหลาย
จดหมายเหตุลาลูแบร์เรียกขุนนางและข้าราชการกลุ่มนี้ว่า ยูนุค (eunuque) ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษอิหร่าน หมายถึงผู้ชายที่ตอนแล้ว มีหลักฐานระบุว่า ยูนุค หรือขันทีในราชสำนักสยามเป็นขุนนางแขก และน่าจะเป็นขุนนางมุสลิมด้วย
หลักฐานแรก คือ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ซึ่งระบุว่า ยูนุคในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มีทั้งผิวขาวและผิวดำ โดยยูนุคดำน่าจะเป็นพวกเด็กแอฟริกันที่พ่อค้าอาหรับนำมาขายเป็นทาส บางคนถูกตอนอวัยวะเพศเพื่อให้เป็นยูนุคในฮาเร็มของสุลต่าน ส่วนยูนุคขาวน่าจะได้แก่ พวกอาหรับ อิหร่าน หรืออินเดีย ที่มีอาชีพด้านนี้โดยเฉพาะ
หลักฐานที่สอง ซึ่งแสดงว่าขันทีในราชสำนักอยุธยาเป็นแขกได้แก่ ข้อความในกฎมณเฑียรบาลระบุตำแหน่งข้าราชการในกรมขันทีประกอบด้วย พระศรีมโนราช พระศรีอภัย ขุราชาข่าน ขุมโน ปลัดทั้ง 4 นักเทษ และขันที “ขุนราชาข่าน” เป็นจำแหน่งซึ่งแสดงว่าขุนนางผู้นี้น่าจะเป็นมุสลิม เพราะ “ข่าน” เป็นตำแหน่งผู้นำเผ่ามุสลิมในอิหร่าน
หลักฐานที่สามคือ ภาพจากจิตรกรรมฝาผนัง และภาพลายรดน้ำ ซึ่งเล่าเกี่ยวกับราชสำนักฝ่ายใน
1. จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดไชยทิศ บางขุนนท์ กรุงเทพฯ เป็นภาพเขียนพุทธประวัติ มีรูปของยูนุคแต่งกายตามแบบมุสลิมชาวอิหร่านปรากฎอยู่ร่วมกับกลุ่มนางกำนัลในพระราชวัง
2. ภาพลายรดน้ำบนผนังหอเขียนวังสวนผักกาด กรุงเทพฯ ซึ่งท่านเจ้าของวังทรงผาติกรรมมาจากวัดบางกลิ้ง พระนครศรีอยุธยา หอเขียนหลังนี้เดิมเป็นตำหนักประทับรอนแรมของกษัตริย์อยุธยา ปรากฏ “ยูนุค” ดังนี้
ภาพพระสงฆ์เทศนาถวายพระมหากษัตริย์ ใกล้กันเป็นเหล่านางในนั่งฟังเทศน์อยู่โดยมีม่านกั้น มียูนุคแต่งกายแบบแขกกำลังใช้ไม้ไล่ตีพวกขุนนางหนุ่มๆ ที่แอบดูนางใน (ภาพที่ 1)
ภาพเป็นรูปพระฉาก (กั้นพระทวารระหว่างฝ่ายนอกกับฝ่ายใน) ที่เขียนรูปยูนุคแต่งกายตามแบบมุสลิมอิหร่าน เหน็บกริช และถือไม้เท้า (ภาพที่ 2)
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าขุนนางในกรมขันทีจะเป็นพวกมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลข้าราชการฝ่ายในโดยตรง
การที่สยามรับคนเหล่านี้เข้ามาสู่ราชสำนักก็เปรียบเสมือนการนำเข้าความศิวิไลซ์จากโลกมุสลิม ซึ่งถือกันว่าเป็นวัฒนธรรมความเจริญของอารยชนในยุคนั้น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ขันทีแขก ในราชสำนักอยุธยา”, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2543
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561