สำรวจปริศนา เมืองไทยเคยมี “ขันที” จริงหรือไม่?

ภาพขันทีแขก ที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่อแบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)

แม้ว่าเราจะไม่พบข้อมูลหรือบันทึกโดยตรงเกี่ยวกับ ขันที ในเมืองไทย จนทำให้คนส่วนใหญ่พากันคิดว่าในเมืองไทยไม่เคยมีขันที แต่กระนั้นก็ตามเรายังคงพอมีเอกสารประวัติศาสตร์บางอย่างที่พอจะทำให้เห็น “ร่องรอย” ของขันทีในเมืองไทยได้

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นหากจะกล่าวถึง “ขันที” มักจะเรียกว่า “นักเทษขันที” (บางครั้งเขียน นักเทศขันที ก็มี) ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า นักเทษ และ ขันที นี้ คงเป็นขุนนางชายที่ถูกตอนเหมือนกัน หากแต่มีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่ง ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร กล่าวว่า ฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) นั้นรับราชการฝ่ายขวา ส่วนอีกฝ่ายที่เรียกว่า ขันที นั้นรับราชการฝ่ายซ้าย

หนึ่งในบรรดาเอกสารสำคัญที่กล่าวถึง ขันที ในเมืองไทยไว้ก็คือ กฎมณเทียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเนื้อความกล่าวถึงขันทีไว้ว่า

…ถ้าเสดจ์ขนานหน้าวังตำรวจในลง ถ้าเสดจ์ในสระแก้วหฤๅไทยราชภักดีลง ถ้าเสดจ์หนไนมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวก แลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง… 

…อนึ่ง พระราชกุมารพระราชบุตรี นักเทษขันทีจ่าในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนนอกด่านผิดอายการ…

…ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช แลพระศรีอไภย ขุนราซาข่าน ขุนมโน บหลัดทัง 4 นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพช นายจ่านายกำนัล มหาดเลกเตี้ยค่อม

จากความข้างต้นไม่เพียงจะเห็นบทบาทหน้าที่ของขันทีในพระราชสำนักเท่านั้น หากแต่ยังให้ราชทินนามของข้าราชสำนักในตำแหน่งนักเทษขันทีด้วย โดยในที่นี้ได้มีการระบุชื่อข้าราชการฝ่ายนักเทษขันทีคือ

1. พระศรีมโนราช หรือ ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยวัลย์ เจ้ากรมขันที ศักดินา 1000

2. พระศรีอไภย หรือ ออกพระศรีอภัย (ราชภักดีศรีปลัยวัลย์) เจ้ากรมนักเทษ ศักดินา 1000

3. ขุนราซาข่าน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน กรมวัง เขียนเป็น (ออก) หลวงราชาชานภักดี ศักดินา 500 ปลัดกรม และ

4. ขุนมโน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนตรงกับ (ออก) หลวงศรีมโนราชภักดีศรีองคเทพรักษาองค ขันที ศักดินา 600

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นักเทษขันทีน่าจะมีมากกว่าที่ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ยกเลิกประเพณีใช้นักเทษขันทีในพระราชวังหลวงแล้ว ผู้ชำระกฎหมายจึงไม่ได้เอาใจใส่หรือเห็นความสำคัญ ซึ่งก็เห็นจะเป็นจริงตามนั้น เพราะในสมัยอยุธยาตอนปลายพบชื่อของ ขันทีราขาร และ สังขสุรินทร ในกระบวนแห่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เพิ่มเติมเข้ามา

ดังความปรากฏใน พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง (ฉบับความสมบูรณ์) ดูในตอนที่ 4 คำให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา) ตอนหนึ่งว่า

…แล้วถึงทับพระราชธิดานั้นทรงช้างกูบจำลอง กูบทองประดับกระจก แล้วถัดมานั้น พระราชวงษา แลพระสนมกำนันทั้งปวงนั้นขี่กูบทองต่างต่าง บ้างขี่สัปคับทองบ้างเปนชั้นหลั่นตามที่เปนอันมาก จึ่งมีขันทีมีชื่อ คือ ราขาร แลสังขสุรินได้ดูกำกับฝ่ายข้างกรมฝ่าย แลขุนนางกรมฝ่ายในนั้นได้ดูแลข้างพระสนมกำนันทั้งปวงเปนอันมาก แล้วจึ่งถึงช้างเจ้าขรัวนายทั้งสี่คน…

นอกจากกฎมณเทียรบาลแล้วยังปรากฏชื่อ ขันที ในกฎหมายตราสามดวงด้วย อาทิ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน รวมถึงกฎหมายอื่นๆ อีก ซึ่งทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่ของนักเทษขันทีไปในทำนองเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า บทบาทหน้าที่ของนักเทษขันทีในราชสำนักไทย (สมัยอยุธยา) นั้น ถูกจำกัดอยู่ในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวงเท่านั้น ซึ่งแยกออกจากฝ่ายหน้าอย่างชัดเจน นอกจากนี้ชื่อเรียกนักเทษขันที ยังมีนัยว่าคงเป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกที่ถูกนำเข้ามา โดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งหน้าที่ขันทีนี้ก็ได้สูญหายไปจากราชสำนักไทยเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ให้พนักงานสตรีที่มีรูปร่างกำยำแข็งแรงที่เรียกว่า โขลน ทำหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดกับฝ่ายในแทนตำแหน่งขันทีที่มีมาแต่เดิม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “จาก ‘คิมชูชอน’ มหาดเล็กเกาหลี ถึง ‘นักเทษขันที’ ในวรรณคดีไทย” เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2551)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2561