“แปดเซียนข้ามสมุทร” เกมที่ “ซูสีไทเฮา” โปรดปราน ตรัส “ไม่มีใครเล่นชนะได้”

พระนางซูสีไทเฮา ราชวงศ์ชิง
(ขวา) ซูสีไทเฮา (โดย Photographer: Yu Xunling, Scanned from Che Bing Chiu; Gilles Baud Berthier (2000) Yuanming Yuan : Le jardin de la clarté parfaite [Yuanming Yuan: The Garden of Perfect Clarity], Besançon: Editions de l'Imprimeur ISBN: 978-2-910735-31-9. (Empress Dowager Cixi (c. 1890).png) [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)

“แปดเซียนข้ามสมุทร” เกมที่ “ซูสีไทเฮา” โปรดปราน ตรัส “ไม่มีใครเล่นชนะได้” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง พระนางซูสีไทเฮา สตรีสูงวัยในพระราชวังอันยิ่งใหญ่แทบจะเป็นอีกหนึ่งสตรีที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคโบราณช่วงนั้น ลักษณะที่ว่านี้สะท้อนผ่านสถานภาพในราชสำนักและความเป็นอยู่ที่หรูหราในพระราชวังฤดูร้อน พระนางมีสิ่งของและพระกระยาหารที่โปรดปรานหลากหลายชนิด ทั้งยังทรงชื่นชอบ “เกม” ซึ่งจากข้อมูลของผู้ใกล้ชิดที่บอกเล่าผ่านการจดบันทึก กิจกรรมที่พระนางซูสีไทเฮาโปรดปรานอย่างหนึ่งคือเกมที่เรียกว่า “แปดเซียนข้ามสมุทร”

พระนางซูสีไทเฮา พระพันปีหลวงที่มีอิทธิพลมากที่สุดพระองค์หนึ่งในจีน ชีวิตช่วงบั้นปลายหลังจากเผชิญกับการระรานของมหาอำนาจตะวันตก ส่วนใหญ่แล้วจะประทับในพระราชวังฤดูร้อนที่เรียกว่า “อี๋เหอหยวน” ความเป็นอยู่ก็ยังรักษาความหรูหราเอาไว้เช่นกัน ภาพบรรยากาศในช่วงเวลานั้นถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบันทึกของบุคคลสำคัญมากหน้าหลายตา แต่หากจะเอ่ยถึงผู้ที่เข้าไปสัมผัสกับความเป็นอยู่ใกล้ชิดที่สุด ย่อมต้องมีชื่อของ “เต๋อหลิง” มาเกี่ยวข้องด้วย

เต๋อหลิง เป็นธิดาของอ๋องอวี้เกิง ราชทูตจีนซึ่งทำหน้าที่ประจำที่ฝรั่งเศส 4 ปี เต๋อหลิงพร้อมบิดาและคณะผู้ติดตามเดินทางกลับถึงเซี่ยงไฮ้ช่วงต้น ค.ศ. 1903 หลังเดินทางกลับก็ได้เข้าเฝ้าพระพันปีหลวง ปรากฏว่า เต๋อหลิงเป็นที่โปรดปรานของไทเฮา จนได้รับแต่งตั้งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ ทำหน้าที่เป็นล่ามและจัดลำดับการเข้าเฝ้าของชาวต่างชาติให้พระนางซูสีไทเฮา

ช่วงที่เดินทางกลับมา บิดาของเต๋อหลิงป่วยและสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว หลังจากปฏิบัติหน้าที่ในวังได้ 2 ปีก็ได้รับโทรเลขจากเซี่ยงไฮ้แจ้งอาการของบิดาที่ทรุดหนักลง และเสียชีวิตลงในปลาย ค.ศ. 1905 หลังบิดาถึงแก่กรรม เต๋อหลิงถวายบังคมทูลลาออกจากวัง และเขียนบันทึกความทรงจำชื่อ “สองปีในพระราชวังต้องห้าม” (Two Years in the Forbidden City) ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1911

เนื้อหาในบันทึกบอกเล่าความทรงจำและสะท้อนสภาพราชสำนักแมนจู สอดแทรกข้อมูลเรื่องขนบธรรมเนียมในวัง และที่สำคัญคือประสบการณ์การถวายรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระนางซูสีไทเฮา โดยตลอดเวลาที่ถวายการรับใช้ เต๋อหลิง อ้างว่า เป็นที่โปรดปรานและได้รับการดูแลอย่างดีจากจักรพรรดินีหม้าย ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวและสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนความนึกคิดของพระนางซูสีไทเฮาอย่างใกล้ชิดแบบที่ขันทีและนางกำนัลอื่นยากประสบ

ส่วนหนึ่งของหนังสือบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วงแรกของการเข้าวัง และได้ขึ้นยอดเขาติดตามพระนางซูสีไทเฮาไปเสวยพระกระยาหารกลางวันที่พลับพลาชื่อ “ฝอเซียงเก๋อ” เต๋อหลิงบรรยายว่า พลับพลาแห่งนี้มี 2 ห้อง ทุกด้านเป็นหน้าต่าง สามารถมองออกไปชมบรรยากาศรอบด้าน ไทเฮาเสวยพระกระยาหารกลางวันในห้องใหญ่ และใช้อีกห้องเป็นห้องพระสุคนธ์ (ทาเครื่องหอม)

ตลอดช่วงที่พระนางซูสีไทเฮาเสวย เต๋อหลิงยืนตลอด (ครั้งหนึ่งที่เต๋อหลิงได้ร่วมโต๊ะเสวยก็ต้องยืนกิน บันทึกเล่าว่า พระนางซูสีไทเฮาตรัสว่า เป็นกฎมณเฑียรบาลที่ฮ่องเต้องค์ก่อนตราขึ้น ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ แม้กระทั่ง “ฮองเฮาจะอยู่ต่อหน้าด้วย ฮองเฮาก็นั่งไม่ได้”) เมื่อเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว พระนางซูสีไทเฮาตรัสชักชวนให้ร่วมเล่นทอยลูกเต๋า เนื่องจากคนมีเล่นด้วยไม่พอ

ห้องที่ใช้เล่นนั้นเป็นห้องเดิมที่เสวยพระกระยาหารกลางวัน ห้องโถงมีโต๊ะสี่เหลี่ยมกลางห้องบนโต๊ะมีแผนที่ขนาดเท่าโต๊ะกางอยู่ พระนางซูสีไทเฮา ประทับบนบัลลังก์ตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ (ทิศโปรดของพระนาง)

บนแผนที่วาดเป็นเส้นหลากสี ตรงกลางของแผนที่มีอักษรบอกวิธีการเล่นว่า “เกมนี้ชื่อ แปดเซียนข้ามสมุทร หลู่ว์เซียน จางเซียน หลี่เซียน เฉาเซียน หานเซียน และฮั่นเซียน เจ็ดเซียนเป็นบุรุษ เหอเซียนกูเป็นเซียนหญิงเพียงคนเดียว”

เต๋อหลิงบรรยายว่า แผนที่บนโต๊ะในเกม “แปดเซียนข้ามสมุทร” คือแผนที่ของจักรวรรดิจีนนั่นเอง บนแผนที่จารึกชื่อมณฑลกำกับในภาพ อุปกรณ์ที่ใช้เล่นคืองาช้าง 8 ชิ้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วครึ่ง แต่ละชิ้นสลักชื่อเซียนแต่ละองค์ เท่ากับว่าผู้เล่นในเกมมีได้ 8 คน หรือ 4 คน (แต่ละคนถือหมากเซียน 2 องค์)

ใจกลางแผนที่ เกม “แปดเซียนข้ามสมุทร” จะมีถ้วยกระเบื้องเคลือบวางไว้สำหรับทอยลูกเต๋า ในเกมใช้การนับแต้มลูกเต๋า 6 ลูก แต้มสูงสุดที่ได้คือ 36 แต้ม เมื่อได้แต้มก็นำหมากไปวางตามเมืองที่ต่างกันในแผนที่ หากเต๋าทั้ง 6 ลูกออกแต้มเดียวกัน 1-3 คู่ แต้มต่ำสุดคือคู่หนึ่ง คู่สอง และคู่สาม หากหมากเซียนที่โชคไม่ดีทอยได้แต้มนี้ก็จะตกรอบและถูกเก็บหมากออกไป หมากของผู้เล่นรายใดเดินรอบแผนที่จนถึงวังหลวงได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ

เต๋อหลิงบรรยายว่า เป็นผู้ออกเสียงถวาย ขณะที่พระนางซูสีไทเฮาตรัสว่า เกมนี้เป็นเกมที่พระนางคิดค้นขึ้นเองและสอนให้นางใน 3 คนเล่น แต่ต้องสอนให้อ่านภาษาจีน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่านางในจะเรียนรู้ แต่แล้วพระนางซูสีไทเฮาก็หมดกำลังใจก่อนจะได้เล่น

พระนางซูสีไทเฮาทรงเล่นชนะเสมอ เมื่อเริ่มเล่นนั้น หมากของพระนางซูสีไทเฮาก็นำหน้าหมากของเต๋อหลิงทั้งหมด พระนางซูสีไทเฮา ทรงกระตุ้นว่าหากหมากเซียนองค์ไหนเอาชนะหมากของพระนางได้ จะมอบของขวัญพิเศษให้

แต่แล้วก็ไม่มีหมากของเต๋อหลิงที่นำหน้าหมากของพระนางซูสีไทเฮาได้ แต่พระนางยังรับสั่งให้นางกำนัลเด็กหยิบผ้าซับพระพักตร์ปักลายของพระองค์มามอบให้ ทันทีที่เต๋อหลิงจะคุกเข่าเพื่อขอบพระทัย (เต๋อหลิงยังสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตกในพระราชวังจีน ตามพระราชประสงค์ของซูสีไทเฮาที่ต้องการทอดพระเนตรชุดตะวันตก) กลับไม่สามารถขยับขาได้ ต้องพยายามอย่างทุลักทุเลจนสำเร็จ

พระนางซูสีไทเฮาทรงพระสรวลพร้อมตรัสว่า เห็นจะไม่คุ้นกับการยืนนานๆ และตรัสให้ไปนั่งพักที่ระเบียงสักครู่ ขณะที่ฮองเฮาทรงล้วงนาฬิกาแล้วรับสั่งกับเต๋อหลิงว่า “เกมนี้ใช้เวลาเล่น 2 ชั่วโมง” อย่างไรก็ตาม เต๋อหลิง บรรยายว่า ในความรู้สึกว่าแล้วเหมือนใช้เวลานานกว่านั้นอีก

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เต๋อหลิง. ประวัติศาสตร์ลับ หลังวังซูสีไทเฮา. ปานชีวา บุตราช แปล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562