จักรพรรดิราชวงศ์ชิงเสวยลิ้มรสได้แค่ 2 คำต่อจาน งบอาหารต่อวันเลี้ยงปชช.ได้ 40 ปี!

ซูสีไทเฮา
พระนางซูสีไทเฮา ประกาศพระราชโองการว่าด้วยการเตรียมใช้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข (โดย Photographer: Yu Xunling, Scanned from Che Bing Chiu; Gilles Baud Berthier (2000) Yuanming Yuan : Le jardin de la clarté parfaite [Yuanming Yuan: The Garden of Perfect Clarity], Besançon: Editions de l'Imprimeur ISBN: 978-2-910735-31-9. (Empress Dowager Cixi (c. 1890).png) [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)

ราชวงศ์สุดท้ายของจีนอย่าง ราชวงศ์ชิง อาจประสบปัญหาทางการเมืองหลายประการ ท่ามกลางปัญหามากมาย การรับประทานอาหารในราชวงศ์กลับยังถือว่าเป็นกิจกรรมขึ้นชื่อลือชาเรื่องพิธีรีตรองและความหรูหราฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะในยุคพระนางซูสีไทเฮาทรงมีอำนาจ แม้กระทั่งการเสวยพระกระยาหารหนึ่งจานในพระราชวังสมัยราชวงศ์ชิง ก็มีความเชื่อว่าห้ามลิ้มชิมรสเกิน 2 คำ

ช่วงปลายราชวงศ์ชิงถูกนักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นช่วงเวลาที่มืดหม่นที่สุดอีกหนึ่งยุคในประวัติศาสตร์จีน เกิดการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย ขณะที่สภาพการเมืองการปกครองอ่อนแอ สิ่งที่ยังคงรักษาอย่างเข้มแข็งคือระเบียบปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาในพระราชวังของราชวงศ์ชิงว่าด้วยการเสวยพระกระยาหารของจักรพรรดิหรือแม้แต่ของพระนางซูสีไทเฮาเอง

Advertisement

เป็นที่รู้กันว่าราชวงศ์ชิงไม่มีกำหนดแบ่งงบประมาณที่ตายตัวสำหรับใช้จ่ายเพื่อเป็นอาหารของจักรพรรดิ แต่ใช้เป็นระบบชำระตามที่ผลิตไปแล้ว หวัง ไหลอิน (Wang Laiyin) ผู้เขียนบทความ “ครัวตะวันตก, ครัวส่วนพระองค์ของพระนางซูสีไทเฮา” (Western Kitchen, Cixi’s Private Kitchen) เล่าว่า พระกระอาหารของจักรพรรดินี/พระพันปีหลวงใช้งบประมาณ 60 ตำลึงเงิน (1 ตำลึงน้ำหนักประมาณ 30 กรัม) ต่อวันในช่วงที่จักรพรรดิเฉียนหลงครองราชย์

ซึ่งพระนางซูสีไทเฮาก็ยังไม่ทรงพอพระทัยกับผลลัพธ์ที่ได้จากเพดานงบประมาณเท่านี้ นักประวัติศาสตร์ประเมินกันว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับอาหารต่อวันของพระนางซูสีไทเฮาอยู่ที่ประมาณ 100 ตำลึงเงินต่อวันทีเดียว มูลค่านี้มากพอซื้อข้าวสาร 12,000 ชั่งในยุคนั้นได้

เมื่อคำนวณการบริโภคเฉลี่ยของบุคคลต่อปีแล้ว ตัวเลขการบริโภคข้าวอยู่ที่ 300 ชั่งต่อปี นั่นหมายความว่าอาหารหนึ่งวันของพระนางซูสีไทเฮา สามารถเลี้ยงบุคคลหนึ่งให้อิ่มท้องนานถึง 40 ปี!

พระนางซูสีไทเฮายังมีครัวพิเศษเฉพาะทั้งในพระราชวังและพระราชวังฤดูร้อน ในการเสวยพระกระยาหารแต่ละครั้ง จักรพรรดิและจักรพรรดินี จะนั่งคอยพระนางซูสีไทเฮาทางตะวันออกและตะวันตก จักรพรรดิจะเป็นผู้ถวายอาหารให้พระมารดา ขณะที่จักรพรรดินีทรงตรัสชื่อเมนูนั้น โดยมีขันทีอาวุโสเป็นผู้บอกชื่ออาหาร เนื่องจากพระองค์ไม่สามารถจดจำชื่อเมนูที่มีมากมายได้อย่างแน่นอน

ข้อกำหนดสำหรับเรื่องอาหารของจักรพรรดิในพระราชวังยุคปลายราชวงศ์ชิงห้ามองค์จักรพรรดิตรัสถามหรือร้องขออาหารที่ต้องการเสวย และยังไม่สามารถเสวยอาหารชนิดเดียวกัน 2 วันติดต่อกัน แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ทรงโปรดปรานก็ตาม

เมื่อองค์พระจักรพรรดิเสวยอาหาร พระองค์สามารถเสวยชิมรสได้ 1-2 ช้อนเท่านั้น และไม่สามารถเสวยช้อนที่ 3 ได้ ทันทีที่พระองค์จะเสวยช้อนที่ 3 ขันทีผู้ใหญ่ที่เฝ้าอยู่ด้านข้างจะร้องเตือนด้วยเสียงอันดังกึกก้องทันที อาหารจานนั้นจะหายไปจากรายชื่ออาหารที่เสวย 1-2 สัปดาห์

สอดคล้องกับลักษณะการเสวยพระกระยาหารของพระนางซูสีไทเฮาที่นักประวัติศาสตร์บันทึกว่า เมื่อถึงเวลาเสวย หากพระนางซูสีไทเฮาทอดพระเนตรไปที่อาหารจานไหน ขันทีจะรีบนำมาไว้ที่หน้าพระที่นั่ง ทรงเสวยจานละ 1-2 คำเท่านั้น ที่เหลือในจานจะถูกส่งต่อให้ขันที, พระสนม หรือเจ้าหน้าที่อื่นในวัง แต่ละมื้อก็ทรงเสวยไม่กี่จานเท่านั้น ขณะที่ห้องครัวส่วนพระองค์เตรียมขนมไว้มากกว่า 400 ชนิด อาหารหรูหราอีก 4,000 ชนิดที่มีวัตถุดิบอย่าง หูฉลาม, อุ้งเท้าหมี, รังนก, เป็ด, ปลา และเนื้อ

ระเบียบเหล่านี้ถือเป็น “ธรรมเนียมของราชวงศ์” ซึ่งถูกสอนต่อกันมาว่า “อย่าโลภมากในเรื่องอาหารจะได้ไม่ถูกปลิดปลง” อันมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่จักรพรรดิสิ้นพระชนม์จากยาพิษแบบกะทันหัน

ระหว่างเสวยพระกระยาหาร ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดินี ขันที หรือพระสนม ก็ไม่สามารถส่งเสียงเรียกให้องค์จักรพรรดิเสวยอะไรเป็นพิเศษ ทุกคนต้องรอองค์จักรพรรดิ (ปลายราชวงศ์ชิงจักรพรรดิต้องรอพระนางซูสีไทเฮา) ขันทีอาวุโสจะเป็นผู้คุมกฎระเบียบ พร้อมเอ่ยว่า “หุบปาก” และตบหน้าผู้ละเมิดกฎ

ข้อกำหนดเพื่อรักษาความปลอดภัยเหล่านี้กลายเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติกันมาจนเป็นระเบียบแบบแผน และจากระเบียบเหล่านี้ทำให้แม้แต่ขันทีคนสนิทที่ถวายการรับใช้มานับ 10 ปี หรือสาวรับใช้ในวัง ก็ยังไม่รู้ว่าองค์จักรพรรดิทรงโปรดปรานอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Wang, Laiyin. Western Kitchen, Cixi’s Private Kitchen. Chinese Imperial Cuisines and Eating Secrets. China : Panda Books, 1998


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2561