12 กุมภาพันธ์ 1912 จักรพรรดิ “ปูยี” สละราชบัลลังก์ สู่อวสานราชวงศ์ชิง-ราชาธิปไตยในจีน

ปูยี
ปูยี เมื่อปี 1922 (พ้นจากการดำรงตำแหน่งจักรพรรดิจีนแล้ว)

ปูยี (ผู่อี๋) จักรพรรดิจีนสละราชบัลลังก์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1912 สิ้นสุดราชวงศ์ชิงและระบอบราชาธิปไตยอันยาวนานหลายพันปีของจีน

ย้อนไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 1908 รัฐบาลชิงยิ่งอ่อนแอลงไปอีก เมื่อพระนางฉือซี (ซูสีไทเฮา) ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจอย่างยาวนานของจีนสวรรคต จากนั้นจึงมีการเปิดเผยว่า จักรพรรดิกวางซี่ว์ ผู้ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศซึ่งปกติมีสุขภาพดี ก็เพิ่งเสด็จสวรรคตก่อนหน้าพระนางอย่างลึกลับไปแค่วันเดียว

ก่อนสวรรคต พระนางฉือซีได้ระบุให้เหลนของพระองค์คือเจ้าชายผู่อี๋ (ปูยี) ผู้มีพระชนม์เพียง 3 พรรษา รับราชสมบัติต่อมาในนามจักรพรรดิซวนถ่ง ซึ่งการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของจักรพรรดิกวางซี่ว์ได้ทำลายโอกาสที่จีนจะเปลี่ยนไปปกครองในระบอบ “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เนื่องจากบัลลังก์ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษนิยมที่หวงอำนาจ ทัดทานการปฏิรูป

จักรพรรดิปูยีในวัยสามพรรษา (ทรงยืน) พร้อมองค์ชายชุนพระบิดา และพระอนุชา (Wikimedia Commons)

จักรพรรดิปูยี ได้เสวยราชย์เพียง 3 ปี ก็เกิดการปฏิวัติโดยฝ่ายสาธารณรัฐนิยมในปี 1911 โดยพรรค “จงกั๋วเก้อมิ่งถงเหมิงฮุ่ย” (สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน หรือเรียกสั้นๆ ว่า ถงเหมิงฮุ่ย) นำโดย ดร.ซุน ยัตเซ็น ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของรัฐบาลเฉพาะกาล ก่อนเสนอตำแหน่งนี้ให้กับหยวนซื่อไข่ ผู้นำระบอบเก่า แลกกับการให้หยวนหันมาสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ

หยวนได้กลายเป็นความหวังสำคัญในการเลี่ยงการเกิดสงครามกลางเมืองในยามที่จีนต้องการความเป็นปึกแผ่น เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติ โดยหยวนซึ่งมี “ทหารหนุนหลัง” ได้เจรจาทั้งทางลับและเปิดเผยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุน แต่สุดท้ายหลังได้อำนาจมาเขาได้กลายเป็นเผด็จการที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่จักรพรรดิปูยี ซึ่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์รอบด้าน ได้ทรงยอมน้อมรับ “อาณัติจากสวรรค์ … ซึ่งประจักษ์ออกมาในความต้องการของประชาชน” และได้ทรงประกาศสละราชบัลลังก์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1912 (พ.ศ. 2455) นำไปสู่อวสานของราชวงศ์ชิง และระบอบราชาธิปไตยของจักรวรรดิจีนอันเก่าแก่ยาวนาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เอเชียตะวันออกยุคใหม่: จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน โดย John K.Fairbank, Edwin O. Reischauer, Albert M. Craig และ ประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562