“เกมเศรษฐี” เกมเล่นเก็งกำไรแบบนักลงทุน มีที่มาจากการจงใจเสียดสีนายทุน

บอร์ดเกม (เกมกระดาน) วันนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย นอกจากการขายบอร์ดเกมแล้ว ยังมีการเปิดสถานที่นัดพบให้มาเล่นบอร์ดเกม เรียกว่า “บอร์ดเกม คาเฟ่” ซึ่งในบรรดาเกมต่างๆ “เกมเศรษฐี” คือเกมอมตะที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

เกมเศรษฐีมีที่มาอย่างไร ใครเป็นผู้ออกแบบและสร้างกติกา “เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์” (รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) 2549 ทำเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด ซึ่งขอสรุปบางส่วนมานำเสนอดังนี้

ค.ศ. 1930 ชาร์ลส์ ดาร์โรว์ (Charles Darrow) ที่กำลังว่างงานได้ร่างหน้าตา และวิธีเล่นเกมใหม่ของเขาขึ้น และแน่นอนว่าเกมทำมือนี้เป็นที่นิยมในหมู่เพื่อนฝูงของเขา นั่นทำให้เขาคิดว่ามันสามารถแปรเป็นธุรกิจได้ ดาร์โรว์ได้ไปพบกับ บริษัทปาร์กเกอร์ บราเธอร์ส (Parker Brothers) แต่เขาถูกปฏิเสธ เนื่องจากเกมยังมีข้อเสียอยู่มาก เช่น ใช้เวลาเล่นเกมนาน, กติกาซับซ้อน, การชนะไม่ชัดเจน

หาดาร์โรว์ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เป็นช่างพิมพ์ เขาขายเกม 500 ชุดให้ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เอฟ.เอ.โอ. ชวอร์ส (F.A.O. Schwarz) ยอดขายเกมดังกล่าว ทําให้ปาร์กเกอร์ บราเธอร์ส เปลี่ยนใจและผลิตเกมเศรษฐี 20,000 ชุดต่อสัปดาห์ ภายในหกเดือนนับตั้งแต่เริ่มสัญญา ดาร์โรว์กําลังกลายเป็นผู้ออกแบบเกมกระดานเศรษฐีคนแรกของโลก

เกมเศรษฐีมาจากไหน

การคิดเกมเศรษฐีมีที่มาจากความตั้งใจที่จะกระตุ้นการริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อรางวัลในเกมและการเก็งกำไร ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เนื้อหาในเกมมุ่งให้ผู้เล่นทำ แต่ในระหว่างการดำเนินคดีเพื่อจดทะเบียนการค้าหลังดาร์โรว์เสียชีวิต ปรากฏว่า มีเกมกระดานที่มีลักษณะคล้ายกับของดาร์โรว์ เกมที่ว่านี้เป็นของชาวเควกเกอร์ (Quakers-คริสต์นิกายหนึ่ง) ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา และเล่นกันมากว่า 30 ปี ก่อนที่ดาร์โรว์จะ “คิดค้น” เกมเศรษฐีเสียอีก

แม้ตารางกระดานจะมีชื่ออสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน แต่เกมของเควกเกอร์มีเป้าหมายต่างออกไป เควกเกอร์ต้องการชี้ให้เห็นความชั่วร้ายของการเก็งกําไร และค้ากําไรเกินควรเป็นหลัก ไม่ใช่ผลตอบแทนจากการประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ เพื่อนสนิทดาร์โรว์คนหนึ่งบอกว่า เขาเคยเล่นเกมของเควกเกอร์ และยืมกติกามาใช้ด้วย

ชาวเควกเกอร์คัดค้าน

ราล์ฟ อันส์แพช (Ralph Anspach) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เปิดเผยเรื่องต่อไปนี้ ระหว่างเปิดศึกต่อต้านบริษัทเกม ปาร์กเกอร์-เจเนอรัล มิลส์ (Parker-General Mills) ในเรื่องลิขสิทธิ์ของเกม “ต้านเกมเศรษฐี” ของเขา ซึ่งมีเป้าหมายคือ ทำลายบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย หลังจากปรากฏตัวทางโทรทัศน์ในปี ค.ศ. 1974 อันส์แพชได้รับโทรศัพท์จากหญิงสูงวัยคนหนึ่ง

“ฉันว่าบริษัทปาร์กเกอร์ บราเธอร์ส มุ่งฟ้องคุณที่พยายามทำให้เกมของเขาไม่เป็นเอกสิทธิ์ของใคร” เธอบอกเขา จากนั้นก็เล่าเรื่องเพื่อนสมัยเรียนที่ครอบครัวของเขาเคยเล่นกระดานอสังหาริมทรัพย์ของเควกเกอร์ ก่อนหน้าที่จะมีเกมเศรษฐีนานแล้ว ราล์ฟ อันส์แพชสืบสาวย้อนรอยเกมพื้นบ้านหลายเกมจนมาหยุดที่เกมของเอลิซาเบท มาจี (Elizabeth Magie) ในแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร “เกมเจ้าที่ดิน” (Landlord’s Game) เมื่อ ค.ศ. 1904

มาจีเป็น “ผู้จ่ายภาษีตามระบบภาษีชั้นเดียว” (Single-taxer) เธอสนับสนุนการเก็บภาษีรัฐชั้นเดียวเพื่อต้านการเก็งกำไรที่ดิน เกมกระดานเจ้าที่ดินมีช่องอสังหาริมทรัพย์ริมขอบทั้งสี่ด้านของกระดานสี่เหลี่ยม มีธนาคาร โรงทานหนึ่งแห่ง รางรถไฟ สาธารณูปโภค คุก และมีที่ดินที่มุมกระดานมุมหนึ่ง ขณะเล่นเกม ผู้เล่นอาจไปหยุดอยู่ที่ย่านคนจนหรือย่านคนรวยซึ่งกระจายอยู่รอบกระดาน

เกมเจ้าที่ดินเริ่มเป็นที่นิยมในคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยตามฝั่งอีสต์โคสต์ นักศึกษาเพิ่มกติกาใหม่หนึ่งข้อคือ เงินค่าเช่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีบ้านกระดาษหลังเล็กตั้งบนที่ดินนั้น หลังเพิ่มกติกาใหม่ผู้คนเรียกชื่อว่า เกมเศรษฐีประมูล (Auction Monopoly) แล้วก็ย่อเป็นเกมเศรษฐี (Monopoly) มาจีจดสิทธิบัตรเกมเจ้าที่ดินอีกครั้งใน ค.ศ. 1924

น้อยคนจะซื้อเกมที่มาจีผลิตขาย พวกเขาวาดกระดานกันเองโดยใช้ชื่อถนนในถิ่นอาศัย เพื่อให้สนุกยิ่งขึ้น และเลียนแบบกติกากันไปมา ในที่สุด ราล์ฟ อันส์แพชก็สืบพบว่าชาร์ลส์ ดาร์โรว์มาพบเกมนี้ได้อย่างไร

“โฆษณาในหนังสือ Christian Science Monitor ทำให้ผู้คนรู้จักเกมเศรษฐี ชาร์ลส์ ทอดด์ (Charles Todd) จากฟิลาเดลเฟียหวนนึกถึงวันหนึ่งใน ค.ศ.1932 เขาบังเอิญพบเพื่อนสมัยเด็กชื่อ เอสเทอร์ โจนส์ (Esther Jones) ซึ่งแต่งงานกับดาร์โรว์ ทอดด์ชวนสองสามีภรรยามารับประทานอาหารเย็นที่บ้านหลัง อาหารก็เล่นเกมของมาจี ‘เป็นเกมใหม่แกะกล่องสำหรับพวกเขา’ ทอดด์กล่าว ‘เขาไม่เคย เห็นมาก่อนและสนใจเกมมาก…เห็นได้ชัดว่า ดาร์โรว์ชอบเกมนี้มาก’ เขาเล่นเกมด้วยกันอีก 5-6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายชาร์ลส์ขอกติกาที่เขียนไว้ ‘เขาบอกว่าเกมนี้ดีมากอยากแก้ไขให้ถูกต้อง’”

ความสําเร็จของเกม

ทำให้เกมเศรษฐีน่าดึงดูดใจด้วยการออกแบบสมัยใหม่ไม่เหมือนใคร มีลูกเล่นในบัตรเงินทุนและบัตรเสี่ยงโชคที่แปลกตา ฯลฯ เกมรูปแบบใหม่กลายเป็นกิจกรรมเสพติดของครอบครัว เล่นช่วง ค.ศ. 1934 และรายได้งามจากกระแสนิยมสร้างความมั่งคั่งให้บริษัทปาร์กเกอร์ บราเธอร์ส

โรเบิร์ต บาร์ตัน (Robert Barton) ประธานบริษัทปาร์กเกอร์ บราเธอร์ส เขียนจดหมายถึง ดาร์โรว์ว่า “เกมเศรษฐีของเราไปได้ดี และเราต้องการทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้เพื่อปกป้องชื่อเสียงและสถานะของเกมนี้” เขาเชิญดาร์โรว์ มาเซ็นเอกสารรับรองว่าเกมเศรษฐีเป็นเกมที่ดาร์โรว์คิดขึ้นเองทั้งหมด

เอลิซาเบท มาจีไม่ได้แข่งกับปาร์กเกอร์ บราเธอร์สเรื่องเกมเศรษฐี แต่เธอกลับขอเจรจาต่อรองกับพวกเขาแทน เธอเพียงอยากให้ความคิดเกี่ยวกับนโยบายภาษีชั้นเดียวนิยมแพร่หลาย และพิสูจน์ว่าผู้เก็งกำไรที่ดินต่างได้เปรียบด้านเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นธรรม

ปาร์กเกอร์ บราเธอร์สจ่ายค่าสิทธิบัตรให้มาจี 500 เหรียญ และแม้ไม่มีส่วนแบ่งการขาย แต่บริษัทก็สัญญาว่าจะผลิตเกมเจ้าที่ดินฉบับต้นแบบเพื่อขายให้สาธารณชน บริษัททำตามสัญญาที่ตกลงกัน แม้ยอดขายจะเพียงไม่กี่ร้อยก็ตาม

ปาร์กเกอร์ บราเธอร์ส ทำเกมเจ้าที่ดินที่ออกจำหน่ายให้ตามสัญญา โดยมาจีได้เขียนหมายเหตุที่แนบไปกับเกม สรุปเป้าหมายว่าต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า “เจ้าของที่ดินได้เปรียบคนอาชีพอื่นอย่างไร” แต่สําหรับเกมเศรษฐี ซึ่งเป็นเกมกระดานการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนว่าการลงทุนโดย ใช้ข้อได้เปรียบนี้เป็นประเด็นสําคัญของเกม

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เกมเศรษฐี” ฉบับจีนโบราณที่ “ซูสีไทเฮา” โปรดปราน ทรงตรัส “ไม่มีใครเล่นชนะได้”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2562