รัชกาลที่ 7 เสด็จมณฑลพายัพครั้งแรก กับการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จด้วย ขบวนรถไฟ มายัง เชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงยังสถานีเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงขึ้นครองราชย์ ขณะนั้นมีหลายสิ่งในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

เวลานั้นมีการยุบรวมมณฑลมหาราษฎร์กับมณฑลพายัพ เปลี่ยนสมุหเทศาภิบาลให้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับในเวลานั้นบรรดาเจ้าล้านนาถึงแก่พิราลัยหลายองค์ เจ้าเมืองน่าน เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พิราลัยใน พ.ศ. 2460 ต่อมาเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าเมืองลำปางถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2465 จากนั้นแต่งตั้งเจ้าราชบุตรเป็นผู้รั้งเจ้านครลำปางก็ถึงแก่กรรมลงใน พ.ศ. 2468

มีข่าวลือไปต่างๆ นานา เรื่องการแต่งตั้งเจ้านครลำปางว่าจะยังคงอยู่อย่างเดิมหรือไม่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสนอความเห็นเรื่องการจัดการแต่งตั้งเจ้าทางเหนือว่าควรทำให้เรียบร้อย เนื่องด้วยเงินงบประมาณของกรมพระคลังที่ต้องพระราชทานแก่พวกเจ้าในแต่ละปีนั้น รวมแล้วเกือบ 300,000 บาท การจัดการบริหารที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนำเรื่องการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครลำปางและการเลื่อนยศแก่เจ้านายเมืองน่าน หารือในที่ประชุมอภิมนตรีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2468 กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงเห็นว่า ตำแหน่งเจ้าลาวเมืองต่างๆ หมดความสำคัญลงแล้ว ไม่เป็นที่นิยมแก่ราษฎร ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองอีกต่อไป แต่กรมพระดำรงราชานุภาพทรงมีความเห็นว่า การแต่งตั้งเจ้าเมืองต้องคงอยู่ เพียงแต่ให้ลดจำนวนเงินลง

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า การยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในเวลานี้คงไม่มีผู้ใดคัดค้านนอกจากตัวเจ้าเอง แนะให้เจ้ามณฑลพายัพไปรับราชการต่างถิ่นเหมือนข้าราชการอื่นๆ ตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัดให้ยกเลิกไป ให้เจ้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและคงยศเจ้าไว้ ปลัดจังหวัดให้เลือกเอาคนมีความสามารถ ไม่จำเป็นต้องหมายเอาคนในพื้นที่

ที่ประชุมอภิมนตรีมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องปรับรูปแบบการปกครองมณฑลพายัพให้เหมือนมณฑลอื่นตามปกติ ส่วนสกุลเจ้าต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงดูแลเช่นเดียวกับสกุลชนชั้นสูงของสยาม ผู้ใดจงรักภักดีมีความสามารถก็แต่งตั้งให้เป็นเสนาบดี เห็นสมควรตั้งเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หากไม่มีใครจึงจะแต่งตั้งคนจากส่วนกลางไปดำรงตำแหน่ง ส่วนเงินตอบแทนนั้น พระมหากษัตริย์จะพระราชทานให้เอง

แต่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตกลับมีความเห็นแย้งว่า เพราะเงินพระราชทานรายปีทำให้เจ้านายต่างอยากเป็นเจ้าผู้ครองนคร (ผู้ว่าราชการจังหวัด) พึงให้รับรู้ว่าเจ้านายในยุคนี้สมัยนี้ไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจเหมือนเช่นแต่ก่อนแล้ว

จากความเห็นที่แย้งกันในที่ปรึกษาของพระองค์ ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จประพาสมณฑลพายัพ เพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วยพระองค์เอง

การเสด็จในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์สยามเสด็จเยือนมณฑลพายัพ แม้ว่ารัชกาลที่ 6 จะเคยเสด็จมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2448 แต่ขณะนั้นทรงดำรงฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ใช่ในฐานะกษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมพระดำรงราชานุภาพเตรียมการและวางหมายกำหนดการ โดยเสด็จทางรถไฟ เชื้อพระวงศ์พร้อมด้วยข้าราชบริพารตามเสด็จด้วย

กรมพระดำรงราชานุภาพทรงตระหนักถึงความสำคัญในการเสด็จครั้งนี้ ต้องจัดให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ธรรมเนียมพื้นเมืองในแถบนี้คือการถวายดอกเอื้องแซะของพวกลัวะ ย่ำฤดูหนาวดอกเอื้องแซะจะบาน พวกลัวะจะนำเอื้องแซะพร้อมด้วยของกำนัลอย่างอื่นมาถวายเจ้าหลวงเชียงใหม่ เพื่อให้คุ้มครองพวกตน สิ่งนี้จึงได้จัดอยู่ในหมายกำหนดการด้วย โดยเปลี่ยนให้พวกลัวะถวายเอื้องแซะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ลัวะในเชียงรายเข้าเฝ้ารับเสด็จ

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ทรงมีส่วนช่วยในการเตรียมรับเสด็จครั้งนี้ด้วย พระชายาดูแลขบวนแห่ ช้างพาหนะ และเครื่องราชูปโภคต่างๆ ทั้งช่วยส่งรายชื่อวัดสำคัญๆ ในเชียงใหม่ให้แก่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อเตรียมเครื่องสักการะให้พระมหากษัตริย์พระราชทาน อันเป็นการแสดงถึงฐานะผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในหัวเมืองเหนือแทนที่เจ้าเมืองเดิม

ส่วนการรับรองการเสด็จนั้น ถนนหนทางสะอาดเรียบร้อย มีพลับพลารอรับเสด็จฯ ประดับซุ้มโคมไฟตามถนนสายต่างๆ มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟ และเครื่องอำนวยความสะดวกตามเมืองต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จยังสถานที่ราชการและวัดสำคัญๆ หลายแห่งในมณฑลพายัพ จะยกพระราชกรณียกิจสำคัญพอสังเขปดังนี้

พระองค์พระราชทานพระแสงศาสตราแก่หัวเมืองทุกเมือง เสด็จวางพวงมาลาอนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานที่วัดสวนดอก เสด็จตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ส่วนที่เมืองแพร่เสด็จวางพวงมาลาอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงเมืองแพร่ที่เสียชีวิตจากกบฏเงี้ยว

พระราชดำรัสตอบในการเสด็จเยี่ยมเมืองต่างๆ ของพระองค์คือยกประวัติศาสตร์เจ้าเจ็ดตนมาเท้าความ ที่ล้านนามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และทรงเน้นถึงความเป็นเอกภาพของชาติ

พระราชดำรัสตอบเมืองลำปางว่า เป็นเมืองสำคัญของสยาม มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรีของพระองค์ เนื่องด้วยปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ทรงช่วยให้พ้นภัยจากพม่า บ้านเมืองของเราแต่ก่อนลำบากไปมาหาสู่กันไม่สะดวก อย่าได้คิดห่างเหินว่าเป็นลาวหรือเป็นไทย เราก็เป็นคนประเทศเดียวด้วยกันทั้งสิ้น

พระราชดำรัสตอบเชียงราย โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นสื่อเชื่อมโยงว่า พบพระแก้วมรกตที่นี่ นับเป็นมิ่งขวัญแก่กรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมชนชาติไทยของเรานี้เริ่มตั้งรกรากที่เมืองเชียงราย แล้วจึงได้อพยพย้ายไปยังถิ่นต่างๆ กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ

เมืองเชียงใหม่นั้น ทรงกล่าวถึงวีรกรรมของตระกูลเจ้าเจ็ดตน ทรงเน้นย้ำว่าพระองค์ทรงมีสถานะเป็นเจ้าเหนือหัวของราษฎรทุกคน และให้สำนึกในความเป็นชาติเดียวกัน

จากพระราชดำรัสในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองต่างๆ จะเห็นว่า มีการใช้ประวัติศาสตร์มาแสดงถึงความชอบธรรมในการปกครองล้านนา ปรับมุมมองเข้าใจว่าเป็นชนชาติไทยเดียวกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ในการเสด็จครั้งนี้ ทรงโปรดให้ทำจารึกไว้ที่เชียงแสนและลำพูน โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระดำรงราชานุภาพเป็นผู้ออกแบบ ความในจารึกกล่าวถึงรัชกาลที่ 1 ที่รวบรวมชาติให้เป็นปึกแผ่น นำแผ่นดินให้พ้นภัย ปกป้องล้านนาจากไพรีที่รุกราน ยังให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาอยู่สงบร่มเย็น สรรเสริญรัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีพระเมตตา เสด็จเยี่ยมราษฎรเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวเมือง

เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทรงเรียกประชุมเสนาบดีว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมณฑลพายัพ เห็นว่าเมืองลำพูนไม่ควรแต่งตั้ง เพราะอยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่ มีมติไม่แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครลำปาง และหากต่อไปเมืองใดว่างเว้นเจ้าผู้ครองนครจะไม่มีการแต่งตั้งอีก พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเลี้ยงพวกเจ้าตามความสามารถทางราชการ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นหัวเมืองชั้นในทั้งหมด

การเสด็จมณฑลพายัพครั้งนี้ นอกจากเพื่อหาข้อยุติว่าด้วยเรื่องตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแล้ว ยังเป็นการประกาศแสนยานุภาพของพระมหากษัตริย์สยามว่า เป็นเจ้าเหนือหัวของประชาชนทุกคนในฐานะประมุขสูงสุดของประเทศ และเน้นย้ำว่า “ล้านนาเป็นของสยามโดยสมบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2562