หลังม่านความรักครั้งเยาว์วัยของรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขณะเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2474 (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพรัชกาลที่ 7)

สำรวจเรื่องราวหลังม่าน “ความรัก” ครั้งเยาว์วัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

“—ที่จริงการแต่งงานนั้นน่ะไม่ได้ดีจริงๆ อย่างเราคิดกัน แต่เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เห็นดีกันอยู่แล้ว จึงควรจะตกลงใจได้—”

เป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ที่ตรัสกับหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงเกิดความพึงพอพระทัยในหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา และมีพระประสงค์จะขอหมายหมั้นไว้

หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล เป็นพระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย พระบิดานำเข้าถวายตัวในสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ตั้งแต่พระชันษาเพียง 4 ปี ซึ่งก็ทรงอุปถัมภ์ยกย่องเชิดชูและเอ็นดู โปรดให้เข้ารับการศึกษาตามแบบสมัยใหม่ที่โรงเรียนราชินี และทำหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดติดพระองค์ จนพระชันษาได้ 14 ปี เป็นเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งทรงกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.. 2454

ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าพี่น้อง 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก พระชนมายุ 17 พรรษา และพระอนุชา คือสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ พระชนมายุ 16 พรรษา ประทับอยู่กับพระราชมารดาที่วังพญาไท ได้ทรงร่วมเล่นหัวพูดคุยคุ้นเคยกับหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา สมเด็จเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ ทรงพอพระทัยในหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงพระทัยร้อนเกรงความรักจะไม่สมหวัง จึงทูลขอสมเด็จพระราชชนนีให้ทรงหมั้นหมายหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ก่อนที่จะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

(จากซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพรัชกาลที่ 7)

แม้สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ จะทรงเอ็นดูหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา แต่เพราะทรงเข้าพระทัยชีวิต เข้าพระทัยความรักของหนุ่มสาว และน่าจะทรงเป็นเพราะทรงผ่านชีวิตมามากจนน่าจะทรงคาดถึงเหตุการณ์บางอย่างในอนาคตได้ จึงมีพระราชดำรัสอย่างผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกและรู้จักความเป็นจริงของโลกอย่างถ่องแท้ว่า “—ที่จริงการแต่งงานนั้นน่ะไม่ได้ดีจริงๆ อย่างเราคิดกัน แต่เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เห็นดีกันอยู่แล้ว จึงควรจะตกลงใจได้— ”

และโปรดให้หมั้นหมายหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขาด้วยเครื่องเพชร และโปรดประทานอนุญาตให้หนุ่มสาวทั้งคู่แลกของและติดต่อกันทางจดหมายได้

สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์เสด็จกลับไปศึกษาต่ออย่างสบายพระทัย จนเวลาผ่านไป 4 ปี ทรงสำเร็จการศึกษา เสด็จกลับประเทศไทย เมื่อเสด็จมาหาพระราชมารดาครั้งใดก็ทรงสนทนาวิสาสะกับพระญาติรุ่นเล็ก คือหม่อมเจ้าหญิงหลายพระองค์ ในจำนวนหม่อมเจ้าหญิงหลายพระองค์นั้น มีหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ ความที่ทรงเป็นดรุณีที่งดงามสดชื่น ทำให้พระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงหวั่นไหว และความในพระทัยก็ถูกเปิดเผยออก

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กับหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขาไว้ว่า “—ในไม่ช้าต่อมา ทูลกระหม่อมพระองค์นี้ก็ค่อยๆ ไม่รู้จักกับหญิงพิไลยขึ้นทุกที จนลงท้ายไม่พูดด้วย ทั้งหลบหลีกหนีไปโดยไม่มีเรื่องอะไรจะโกรธเคืองกัน—“

นับว่าพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เกี่ยวกับความรักการแต่งงานของหนุ่มสาวนั้นเป็นพระราชดำรัสของสตรีที่ทรงรู้แจ้งในชีวิตรักและการครองเรือนอย่างถ่องแท้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ที่จริงการแต่งงานนั้นน่ะไม่ได้ดีจริงๆ อย่างเราคิดกัน แต่เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เห็นดีกันอยู่แล้ว จึงควรจะตกลงใจได้” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561