รัชกาลที่ 7 รับสั่งชมปรีดี มีแผนทำให้ชีวิตพลเมืองดีขึ้น ขณะที่ทหารไม่มีแผนการอะไร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย ภาพจาก AFP
ภาพประกอบเนื้อหา - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย ภาพจาก AFP

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ 7 ไม่ทรงเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ (บ้างเรียก “สมุดปกเหลือง”) ของนายปรีดี พนมยงค์ พระองค์ทรงวิจารณ์เค้าโครงการดังกล่าวอย่างรุนแรง เช่น ทรงวิจารณ์โครงการรวมที่ดิน รวมแรงงาน และรวมทุนให้รัฐเข้าจัดการว่า

“เป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้เหมือนกันหมด”

แต่ในพระราชหัตถเลขาตอบ เจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษาราชการ (ภายหลังตำแหน่งนี้ลดความสำคัญลงเป็นเพียง “ที่ปรึกษาการคลังประจำกระทรวงการคลัง”) ที่ลาออกจากราชการ หลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ที่พระองค์ทรงดำริและทรงวิจารณ์ถึงสถานการณ์ในเมืองไทย ตอนหนึ่งพระองค์รับสั่งชื่นชมนายปรีดีว่า

“คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องประหลาดมาก แต่ฉันชื่นชมหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างแท้จริง อย่างน้อย เขาก็เป็นผู้ที่มีแผนการจะทำให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองของเขาดีขึ้น ในขณะที่ทหารไม่มีแผนการอะไรเลย ยกเว้นอ้วนขึ้นๆ บนหยดเหงื่อที่หน้าผากของชาวนายากจน…”

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ผู้เขียนบทความ “พระราชวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองไทย ของรัชกาลที่ 7 หลังทรงสละพระราชสมบัติ” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551 อธิบายอีกว่า พระองค์ยังมีพระราชดำริว่า ขณะที่หลวงธำรงฯ และหลวงพิบูลฯ เห็นว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นอันตรายและพยายามขัดขวางไม่ให้ทำโครงการ แต่ทหารก็ไม่มีนโยบายอื่นมาเสนอ

รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริว่า ตราบเท่าที่หลวงประดิษฐ์ฯ สามารถตอบสนองความต้องการของทหารที่ต้องการเลื่อนตำแหน่งและได้เงินเดือนเพิ่มทุกปีก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำไม่ได้ เวลาของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็จะมาถึง และทรงเห็นว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นที่นิยมมากเพราะสัญญาว่า มีเงินเหลือเฟือสำหรับคนทั้งหลายและมีงานราชการสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นความต้องการสำคัญอย่างหนึ่งของชาวไทยที่มีการศึกษา

ทั้งนี้ พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งมีตอบนายเจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษาการคลัง มีเนื้อหาใจความปรากฏพระราชวิจารณ์สำคัญในบริบทสถานการณ์บ้านเมืองหลังทรงสละราชสมบัติ

ภูมิหลังของพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เกิดในช่วงหลังทรงสละราชสมบัติ ทรงซื้อพระตำหนักที่ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ในเขตเดิม พระตำหนักดังกล่าวมีชื่อว่า เกลน แพมแมนต์ (Glen Pammant) ซึ่งต่อมาเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการพระหทัยวายเฉียบพลัน ณ พระตำหนักองค์นี้ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2482

ระหว่างที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่พระตำหนักเกลน แพมแมนต์ ทรงได้รับจดหมายจากเจมส์ แบ็กซเตอร์ ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กราบบังคมทูลว่าเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าฝิ่นและเงินสินบนนำจับ ซึ่งเป็นเหตุให้ตนลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาการคลังของไทย

นาย เจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการที่สำคัญตำแหน่งหนึ่งก็คือ ที่ปรึกษาการคลัง เป็นชาวอังกฤษคนสุดท้ายที่รับตำแหน่งนี้ หลังจากนั้นตำแหน่งดังกล่าวถูกลดความสำคัญลง เหลือเพียงที่ปรึกษาการคลังประจำกระทรวงการคลัง

แบ็กซเตอร์เริ่มทำงานในตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 และลาออกหลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติได้ไม่นาน หลังจากลาออกจากราชการ แบ็กซเตอร์มีจดหมายกราบบังคับทูลเหตุผลการลาออกของตนให้รัชกาลที่ 7 ทรงทราบ พระองค์มีพระราชหัตถเลขาตอบแบ็กซเตอร์ (ภาษาอังกฤษ) ความยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ พระราชหัตถเลขาฉบับนี้คือหลักฐานที่มาของพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองไทยที่ปรากฏในเนื้อหาซึ่งกล่าวถึงในที่นี้

รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขาตอบแบ็กซเตอร์โดยทรงระบุเวลาทรงเขียนไว้ว่า เริ่มในเดือนสิงหาคม-19 กันยายน พ.ศ. 2478

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ผู้เขียนบทความ “พระราชวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองไทย ของรัชกาลที่ 7 หลังทรงสละพระราชสมบัติ” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551 ย้ำให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า

“รัชกาลที่ 7 ทรงเขียนพระราชหัตถเลขานี้เป็นการส่วนพระองค์ และมีขึ้นไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง และการสละราชสมบัติของพระองค์ ดังนั้นพระราชวิจารณ์ในบางเรื่องจึงดูรุนแรง อนึ่งเนื่องจากรัชกาลที่ 7 ทรงเรียกชื่อบุคคลในพระราชหัตถเลขา ตามบรรดาศักดิ์และราชทินนาม เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ผู้เขียนจึงคงเดิมไว้หรือใช้ให้ใกล้เคียง

พระราชหัตถเลขาที่นำมาศึกษานี้ถ่ายสำเนามาจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) หมายเลขเอกสารคือ OV 25/4, f. 65b, Prajadhipok to Baxter, August-19 September 1935 มีสำเนาอยู่ที่กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า…”

คลิกอ่านความเป็นมาเรื่องพระราชหัตถเลขาตอบ เจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) เพิ่มเติมจากบทความ : พระราชวิจารณ์บ้านเมืองไทยของร.7 หลังทรงสละราชสมบัติ ชมหลวงประดิษฐ์ฯ แม้ “เป็นคนอันตราย”


ข้อมูลจาก

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์. “พระราชวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองไทย ของรัชกาลที่ 7 หลังทรงสละพระราชสมบัติ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2564