เผยแพร่ |
---|
หลังจบสงครามเจี๋ยอู่ [สงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1894 ที่สุดจีนเป็นฝ่ายแพ้] คังโหย่วเหวย เหลียงเฉา และคนอื่นๆ ก็พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจ ตามรูปแบบการเมืองของประเทศในตะวันตก เพื่อทำให้ประเทศชาติอุดมสมบูรณ์และเข้มแข็งเกรียงไกร พวกเขาจัดตั้งชมรม จัดทำหนังสือพิมพ์ จัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์การปฏิรูประบบการเมืองของพวกเขา จนได้รับการชื่นชมจากเหล่าข้าราชการ จักรพรรดิกวงสวี่ตี้เองก็ยอมรับในทัศนะด้านการเมืองของพวกเขา
วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1898 จักรพรรดิกวงสวี่ตี้ที่ประกาศราชโองการ “หมิงติ้งกว่อซื่อ” ให้มีการปฏิรูประบบการเมืองใหม่
วันที่ 16 มิถุนายน จักรพรรดิกวงสวี่ตี้เรียกตัวคังโหย่วเหวยมาเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมกันวางแผนขั้นตอนและมาตรการของการปฏิวัติระบบการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม และอนุญาตให้คังโหย่วเหวยตัดสินใจดำเนินการด้วยตนเองได้เป็นกรณีพิเศษ พระองค์ประกาศราชโองการเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเมืองจำนวนกว่าร้อยข้อ โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ
ด้านการเมือง ลดจำนวนองค์กรลง ลดจำนวนเจ้าหน้าที่พนักงานที่เกินความจำเป็นลง ตัดและแก้ไขระบบ อนุญาตให้ประชาชนยื่นหนังสือถึงราชสำนักได้ ฝึกกองทัพด้วยรูปแบบใหม่
ด้านเศรษฐกิจ ริเริ่มก่อตั้งวิสาหกิจ ให้รางวัลการคิดค้น ที่ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ปฏิรูปการคลัง จัดทำงบประมาณแผ่นดิน
ด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ยกเลิกการสอบวิชาปากู่ แก้ไขหนังสือกราบบังคมทูล ก่อตั้งโรงเรียน จัดตั้งมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง จัดตั้งสำนักแปลหนังสือ เรียบเรียงและแปลหนังสือ อนุญาตให้จัดทำหนังสือพิมพ์และจัดตั้งชมรมได้อย่างอิสระ ส่งคนไปเรียนยังต่างประเทศ
มาตรการเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่เก่าแก่คร่ำครึของประเทศจีน มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมทางความคิดของชนชั้นนายทุน มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของลัทธิทุนนิยม และมีประโยชน์ต่อการผลักดันให้สังคมจีนเกิดการพัฒนาเป็นอย่างมาก เป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับผลประโยชน์
แต่ภายใต้สถานการณ์ ณ ตอนนั้น หากจะดำเนินการให้ได้ผลไปจนถึงที่สุดนั้นต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย
เมื่อมีการประกาศคำสั่งการปฏิรูประบบการเมืองออกไป ก็ต้องพบกับการสกัดกั้นและคัดค้านอย่างรุนแรงจากเหล่าข้าราชการฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีทิฐิ ข้าหลวงใหญ่ของท้องถิ่นและผู้ตรวจการส่วนใหญ่ก็เป็นพวกอนุรักษนิยม พวกเขาคอยมองดูอย่างขอไปที ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ จนกระทั่งถึงขั้นเร่งสกัดกั้น จางจือต้งข้าหลวงใหญ่ของมณฑลหูเป่ยและหูหนาน และหลิวคุนอีข้าหลวงใหญ่ของมณฑลเจียงซู อันฮุย และเจียงซี ซึ่งเป็นข้าราชการที่อยู่ฝ่ายพัฒนากิจการตะวันตกก็ยังเลื่อนการรับมือสถานการณ์ออกไป หรงลู่ข้าหลวงใหญ่ของมณฑลจื๋อลี่ และถานจงหลินข้าหลวงใหญ่ของมณฑลกวางตุ้งและกวางสี กลับไม่ยอมรับในทุกๆ ด้าน มีเพียงเฉินเป่าเจินผู้ตรวจการของมณฑลหูหนานเท่านั้นที่สนับสนุนการปฏิรูปและดำเนินการตามอย่างตั้งใจ
การปฏิรูประบบการเมืองได้ละเมิดต่อผลประโยชน์ของระดับชั้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ ในสังคม
คนระดับล่างตั้งแต่คหบดีในชนบท ทหารในกองกำลังค่ายเขียว ลูกหลานของคนในกองทัพปาฉี คนระดับกลางตั้งแต่บุคคลที่สอบได้ตำแหน่งบัณฑิต ระดับชุมชนและบัณฑิตซิ่วไฉทั่วประเทศ คนระดับบนตั้งแต่ข้าราชการที่ต้องสูญเสียตำแหน่งไป ล้วนมองว่าการปฏิรูประบบการเมืองเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่และเกลียดจนเข้ากระดูกดำ
อี้ค่วงและหลี่เหลียนอิงผู้เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายคัดค้านคุกเข่าขอให้พระนางซูสีไทเฮา “ออกว่าราชการหลังม่าน” หยางฉงอีเดินทางไปร่วมวางแผนอย่างลับๆ กับหรงลู่ที่มณฑลเทียนจินอยู่หลายครั้ง ถึงขั้นที่มีคำร่ำลือกันทั่วทั้งในและนอกราชสำนักว่าจะปลดจักรพรรดิกวงสวี่ตี้ออกจากราชสมบัติ และสถาปนาจักรพรรดิพระองค์ใหม่ขึ้นแทนที่
พระนางซูสีไทเฮาผู้ที่มีความคิดลึกซึ้ง มองหาโอกาสเตรียมกู้บัลลังก์คืนอยู่นานแล้ว การปฏิรูปการเมืองเริ่มขึ้นได้ไม่นาน พระนางก็ปลดพระอาจารย์ของจักรพรรดิกวงสวี่ตี้และเวิงถงเหอขุนนางในสภาสูงออกจากตำแหน่ง ขับไล่พวกเขาให้กลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิม ขณะเดียวกันก็รวบอำนาจ การแต่งตั้งและปลดขุนนางขั้น 2 ขึ้นไป รวมถึงอำนาจการบัญชาการกองทัพของส่วนกลางและของเมืองที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองหลวงมาไว้ในมือตน
เมื่อต้องเจอกับการแทรกแซงและโจมตีจากพระนางซูสีไทเฮา จักรพรรดิกวงสวี่ตี้เองก็ทำการต่อต้านอย่างไร้พลัง ที่ผลแค่ทำให้พระนางซูสีไทเฮาฉุนเฉียวได้ พระนางเองก็แน่วแน่ที่จะกำจัดการปฏิรูปครั้งนี้และเตรียมการรัฐประหารอย่างลับๆ กับหรงลู่ข้าหลวงใหญ่ของมณฑลจื๋อลี่
จักรพรรดิกวงสวี่ตี้ตะลึงเมื่อทราบข่าวฝ่ายปฏิรูปเองก็ไม่สามารถที่จะแสดงฝีมือได้ แต่พวกเขาคิดเสี่ยงภัยพยายามต่อสู้ และวางแผนดึงหยวนซื่อไข่มาเป็นพวก หยวนซื่อไข่ก็แสดงออกว่าสนับสนุนการปฏิรูป ฝ่ายปฏิรูปยกให้เขาเป็นพลังที่สามารถพึ่งพาได้ วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1898 ฝ่ายปฏิรูปแอบติดต่อหยวนซื่อไข่ และขอให้เขาฆ่าหรงลู่และให้ยกทัพมาช่วย หยวนชื่อไข่รับปากอย่างหนักแน่น แต่กลับนำความลับไปบอกกับหรงลู่ และไปเข้าอยู่กับฝ่ายพระนางซูสีไทเฮา เร่งการก่อการรัฐประหารให้เร็วขึ้น
เช้าตรู่ของวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1898 พระนางซูสีไทเฮาเดินทางออกจากพระราชอุทยานอี๋เหอหยวน กลับสู่เมืองจื่อจิ้นอย่างกะทันหัน มุ่งตรงสู่ห้องที่ประทับของจักรพรรดิกวงสวี่ตี้และสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจับพระองค์ไปขังไว้ที่อิ๋งไถในทะเลจงหนาน จากนั้นก็ออกประกาศว่าจักรพรรดิกวงสวี่ตี้ทรงประชวร แล้วนางก็เข้ามาบริหารงานของราชสำนักด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็สั่งให้จับกุมฝ่ายปฏิวัติ คังโหย่วเหวยและเหลียงฉีเชาถือโอกาสหนีไป
ถานซื่อถงปฏิเสธการหลบหนี เขากล่าวว่า “การปฏิรูปการเมืองของแต่ละประเทศจะต้องเริ่มจากการนองเลือด ตอนนี้ประเทศจีนยังไม่มีใครที่ต้องนองเลือดจากการปฏิรูปการเมือง ดังนั้น ประเทศชาติของเราจึงไม่เจริญรุ่งเรือง จะต้องมีผู้ที่นองเลือดจากการปฏิรูปการเมือง เช่นนั้นก็เริ่มจากตัวข้าถานชื่อถงก่อนก็แล้วกัน”
วันที่ 28 กันยายน ถานซื่อถง, หยางซุ่ย, หลินสวี่, หลิวกวงตี้, คงกว่างเหริน และหยางเซินซิ่ว “6 บุรุษผู้ทำการปฏิวัติ” ถูกสังหารที่ไช่ซื่อโข่ว ในเมืองปักกิ่ง ส่วนคนอื่นๆ ที่อยู่ฝ่ายปฏิวัติและข้าราชการที่เข้าร่วมและมีแนวโน้มไปทางฝั่งการปฏิวัติระบบการเมืองนั้น บางรายก็ถูกจับขังคุก บางรายก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งและเนรเทศขับไล่ไป ส่วนมาตรการทั้งหมดก็ถูกยกเลิกเหลือไว้เพียงแค่ข้อที่ว่าจะสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นในเมืองหลวงเท่านั้น
นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1898 ที่จักรพรรดิกวงสวี่ตี้มีราชโองการประกาศให้มีการปฏิรูปการเมืองจนถึงวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1898 ที่พระนางซูสีไทเฮาก่อรัฐประหารนั้น รวมระยะเวลาประมาณ 100 กว่า ประวัติศาสตร์จึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การปฏิวัติ 100 วัน” การปฏิวัตก็ปิดฉากลงด้วยการต่อสู้กันเองในราชสำนัก
ข้อมูลจาก :
หลี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. มติชน, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 11 กุมภาพันธ์ 2565