ทำไมพระนารายณ์ทรงพระขรรค์ !?!

พระนารายณ์ นารายณ์ทรงสุบรรณ พระนารายณ์ทรงขรรค์
นารายณ์ทรงสุบรรณ หน้าบันพระอุโบสถวัดราชบุรณะ กรุงเทพฯ

พระนารายณ์ มี 4 กร ทำไมพระกรทั้ง 4 จึงทรงตรี, คทา, จักร, สังข์ ? แต่ก็มีบ้างที่ พระนารายณ์ทรงขรรค์ แทนคทา ดังเห็นได้ที่วัดมหาธาตุ และวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

ทำไมพระนารายณ์พระขรรค์ ?

Advertisement

คำตอบนี้ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร อธิบายไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” (ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550) ซึ่งขอตัดทอนบางส่วนมานำเสนอดังนี้


 

พระนารายณ์ เมื่อช่างต้องออกแบบ ก็ถือเป็นคติว่า “นารายณ์นั้นสี่หัตถา ทรงตรีคทาจักรสังข์”

ลายเส้นนารายณ์ทรงสุบรรณ ฝีมือพราหมณ์ช้อย พ.ศ. ๒๕๒๒

เคยถามช่างว่าทราบหรือไม่ ว่าคติดังว่านี้มีที่มาอย่างไร

“ครูสอนต่อ ๆ กันมา” คือคำตอบที่ได้รับ

ผมเลยถือโอกาสบอกเล่าถึงที่มา (ตามวาสนาที่ตัดไม่ขาด) ว่าคติที่ช่างถือกันมานั้นเป็นของกุมภกรรณ ได้กล่าวไว้ตอนอาสาศึกยกไปรบกับพระราม

กุมภกรรณเป็นยักษ์ที่ยึดถือคุณธรรม เมื่อพี่ชายคือทศกัณฐ์ เชิญมาหารือเรื่องกองทัพพระรามยกมาประชิดลงมา กุมภกรรณจึงขอให้พี่ชายส่งสีดาคืน สงครามจะได้จบลง แต่ทศกัณฐ์กลับโกรธเกรี้ยวถึงกับจะตัดพี่ตัดน้อง กุมภกรรณจึงจำยอมอาสาศึก จัดทัพออกไปต่อสู้

พิเภกซึ่งหนีไปอยู่กับพระรามแล้ว จึงมาพบเพื่อเจรจาให้พี่ชายเลิกทัพไปเสีย และบอกว่าพระรามคือนารายณ์อวตาร เห็นว่ากุมภกรรณมีคุณธรรม รู้จักแยกผิดแยกถูก เสร็จสงครามแล้วจะให้ครองลงกาสืบไป

กุมภกรรณโกรธที่พิเภกเป็นไปได้ถึงเช่นนั้น และตอบว่า

ตัวมึงเป็นไส้สงคราม   พระรามก็ยกเมืองให้

ฝ่ายกูผู้ออกมาชิงชัย   ก็จะซ้ำให้ราชธานี

ลงกาเป็นสองเมืองหรือ   ให้น้องแล้วจะรื้อให้พี่

ลวงได้แต่มึงอ้ายอัปรีย์   กูนี้มิได้เชื่อฟัง

อันนารายณ์นั้นสี่หัตถา   ทรงตรีคทาจักรสังข์

ภุชงค์เป็นอาสน์บัลลังก์   เสด็จยังเกษียรสาคร

นี่เป็นมนุษย์สองมือ   ถือแต่ธนูศิลป์ศร

เที่ยวอยู่ในป่าพนาดร   เอาวานรมาเป็นโยธา

แต่เอาเถิด หากเป็นพระนารายณ์อวตารจริง ก็ย่อมแจ้งในปริศนา “ชีโฉดหญิงโหดมารยา ช้างงารีชายทรชน” ให้แก้มาเถิดว่าหมายถึงอะไร หากถูกต้องจะได้เลิกทัพกลับ

กลอนที่ยกมานี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ส่วนฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 2 ไม่มีกลอนนี้

ที่จริงคติในวรรณคดี หากย้อนไปก่อนพระราชนิพนธ์ คือโองการแช่งน้ำครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ตรงกับที่กุมภกรรณกล่าว คือมีว่า “บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี”

ฉะนั้นที่ลงตัวเป็นคติช่างสืบ ๆ กันมา ก็มาจากเรื่องรามเกียรติ์

แต่ที่เมืองเพชร มีงานปูนปั้นบางแห่ง ให้พระนารายณ์ทรงพระขรรค์แทนคทา ส่วน ตรี จักร สังข์ ยังคงเดิม

ใครที่ได้ชม ต่างวิจารณ์ไปต่าง ๆ กัน จะขอไม่กล่าวถึง

แต่ที่น่าคิดก็คือ ได้มีช่างรุ่นใหม่ได้เอาอย่าง ทั้งที่ซ่อมของเก่า และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ดังเห็นได้ที่วัดมหาธาตุ และวัดเกาะ เป็นต้น

ทำไมพระนารายณ์จึงทรงพระขรรค์แทนคทา?

หน้าบันศาลาวัดโคก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงจุดกำเนิด คืองานปูนปั้นหน้าบันศาลาวัดโคก (พ.ศ. 2470) ซึ่งเป็นผลงานของครูช่างคนสำคัญของเมืองเพชร คือครูเลิศ พ่วงพระเดช (พ.ศ. 2437-2513)

ช่างประสม สุสุทธิ อายุ 85 ปี (พ.ศ. 2550) เล่าว่า ท่านอยู่ในเหตุการณ์เพราะเป็นศิษย์ครูเลิศ และช่วยครูจัดปูนส่งปูน รวมไปถึงรับใช้ตามแต่ครูจะสั่ง

ครูเลิศนั้น แปลกพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือทำอะไรแล้วใครจะติไม่ได้ โดนติเมื่อไรเป็นเกิดอาการ “น็อตหลุด” (คำของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ทันที

วันเกิดเหตุ ครูเลิศหิ้วถุงปูนซึ่งโขลกได้ที่แล้ว ขึ้นไปนั่งปั้นคทาง่วนอยู่ อาจารย์ทิม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเดินผ่านมา หันไปทักเป็นเชิงหยอกว่า “แหม ยอดคทานี่เหมือนหัวไอ้ขิกเลยน่ะครู”

พอได้ยินครูเลิศทุบคทาทิ้งทันที และปั้นเป็นพระขรรค์ เสร็จแล้วก็เลิกปั้นเลย จะเห็นว่า นาคที่ครุฑจับยังไม่ได้ปั้นเกล็ด

พี่สม (คำผมเรียกช่างประสม) ถามครูว่า “ที่ปั้นนี้ไม่ผิดธรรมเนียมหรือ”

ครูเลิศย้อนว่า “ธรรมเนียมอะไร” พี่สมจึงท่องคติ “นารายณ์นั้นสี่หัตถา ทรงตรีคทาจักรสังข์”

ครูเลิศว่า “ทำไม ถือคทาได้ แล้วทำไมจะถือพระขรรค์ไม่ได้”

พี่สมถามต่อ “แล้วทำไมครูไม่ปั้นเกล็ดนาค” ครูเลิศว่า “ลูกนาค โว้ย”

เป็นอันว่า หน้าบันวัดโคก ที่นารายณ์ทรงพระขรรค์และนาคไม่มีเกล็ด เกิดจากการร้องทักของอาจารย์ทิม ที่ว่ายอดคทาเหมือนหัวไอ้ขิก

เมื่อครูช่างทำไว้เช่นนั้น ผู้วิจารณ์ที่ไม่ทราบสาเหตุก็ว่ากันไป ช่างรุ่นใหม่ที่เอาอย่าง ก็อ้างได้ว่าครูเคยทำ

แต่ก็ดีไปอย่าง เห็นนารายณ์ทรงพระขรรค์เมื่อไร ก็ตอบได้ว่าเป็นผลงานหลังปี พ.ศ. 2470 และหากเป็นงานซ่อม ก็ตอบได้เช่นกันว่า ซ่อมหลังปี พ.ศ. 2470 เช่นเดียวกัน

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การกล่าวถึงงานของช่างเมืองเพชรนั้น หากติดตรงรูปแบบและประวัติอย่างผิวเผิน ย่อมตีความได้เพี้ยนไปไกล ทั้ง ๆ ที่ช่างผู้รังสรรค์อาจไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้นเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ล้อม เพ็งแก้ว. “พระนารายณ์ทรงขรรค์”, ใน ศิลปวัฒนธรรม เมษายน พ.ศ. 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2561