ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เพราะ “พรหมลิขิต” ชีวิตจึงวุ่น? เหตุใดชาวฮินดูนิยม “พระพรหม” น้อยกว่าพระศิวะ-นารายณ์
พระพรหม หนึ่งใน 3 มหาเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ถูกบูชาน้อยกว่า พระศิวะ กับ พระนารายณ์ ทั้งที่พระพรหมถูกยกย่องว่าเป็น “ผู้สร้าง” เป็นจิตวิญญาณของจักรวาล และลิขิตความเป็นไปของสรรพสิ่ง เหตุใดเป็นเช่นนั้น?
กำเนิดพระพรหมในคัมภีร์ปุราณะของฮินดูเล่าไว้หลายเวอร์ชัน ตั้งแต่พระพรหมไม่มีจุดกำเนิด ดำรงอยู่มาก่อนสิ่งใด บ้างว่ากำเนิดจากไข่ทองคำที่พระอาตมภู (ผู้เกิดเอง) หว่านลงพื้นโลกเมื่อครั้งโลกยังว่างเปล่า บ้างว่ากำเนิดจากไข่ซึ่งเคยเป็นโลหิตจากพระเพลา (ตัก) ของ พระศิวะ รวมถึงตำนานที่ว่า พระพรหมกำเนิดมาจากดอกบัวที่ผุดจากพระนาภี (สะดือ) ของ พระนารายณ์
อิงจากสองตำนานหลัง เมื่อมีพระพรหมแล้วจึงมาสร้างมนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์โลกทั้งปวง ว่าง่าย ๆ คือ พระศิวะและพระนารายณ์ต้องการสร้างโลก จึงให้กำเนิดพระพรหมขึ้นมาเพื่อทำภารกิจนี้
แม้จะถูกนับเป็นหนึ่งใน “พระตรีมูรติ” ร่วมกับพระศิวะและพระนารายณ์ ทั้งถูกเอ่ยพระนามบ่อยครั้งในพิธีพราหมณ์ แต่ในอินเดียกลับมีเทวสถานอุทิศแด่พระพรหมโดยเฉพาะเพียงแห่งเดียวในรัฐมัธยประเทศขณะที่พระศิวะและพระนารายณ์มีเทวาลัยพบได้ทั่วไปทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีนิกายของตนเอง ได้แก่ ไศวนิกาย ที่บูชาพระศิวะ และไวษณพนิกาย ที่บูชาพระวิษณุ
อนึ่ง พระพรหมถูกบูชาในเทวสถานทั่วไปก็จริง แต่เป็นการบูชาร่วมกับพระศิวะและพระนารายณ์ ประหนึ่งนับถือตามประเพณี เพราะไม่ว่าจะนับไศวนิกายหรือไวษณพนิกาย สุดท้ายก็จะบูชาทั้ง 3 องค์เสมอ บ่งชี้ได้ว่าในบรรดา 3 มหาเทพ พระพรหมเป็นที่นิยมน้อยกว่ามหาเทพอีกสององค์อย่างเห็นได้ชัด
แม้ไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่เมื่ออนุมานจากเทวตำนานและบุคลิกของพระพรหมเอง ส.พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553) วิเคราะห์ไว้ว่า “น่าจะเป็นเพราะเห็นว่า พระพรหมท่านพระทัยเย็น ไม่ค่อยจะอวตารมาตึงตังในโลกจึงไม่ใคร่ต้องประจบประแจงนัก แปลว่าเมื่อไม่กลัว จึงไม่ต้องประจบ”
เห็นจะจริงดังนั้น เพราะเมื่อมองไปที่ความเก่งกล้า อันเป็นที่มาของความเคารพยำเกรง ก็มีเรื่องราวพระศิวะและพระนารายณ์ปะทะกัน (อนิรุทธ์คำฉันท์) แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครชนะขาด ส่วนพระพรหมยังไม่พบเรื่องราวการประมือกับมหาเทพองค์อื่นเลย
แม้พระพรหมจะมีอานุภาพด้านการสร้างสรรค์ กำหนดชะตาชีวิต แต่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ใคร่จะเกรงกลัวท่านนัก เพราะเป็นเทพเจ้าที่โปรดความเงียบสงบและมีพระทัยอ่อนโยนจริง ๆ
หากมองอีกแง่หนึ่ง เหตุผลที่พระพรหมถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าพระศิวะและพระนารายณ์ อาจมาจากคนสองกลุ่ม คือ พราหมณ์และกษัตริย์ในอินเดีย เนื่องจากพระศิวะถือพรตนักบวช (โยคี) เหมือนอย่างพราหมณ์ จึงเป็นเทพเจ้าแห่งโยคะกับการทำสมาธิ และถูกบูชาแพร่หลายในหมู่พราหมณ์ผู้บำเพ็ญเพียรนั่นเอง
ขณะที่พระนารายณ์ถือเป็นเทพเจ้าของวรรณะกษัตริย์ ในฐานะที่เป็นผู้ปกปักรักษา รวมถึงนำพาความอุดมสมบูรณ์ เห็นได้จากอวตารต่าง ๆ ของพระนารายณ์ล้วนเพื่อคุ้มครองมนุษย์จากความชั่วร้ายทั้งสิ้น สถานะของพระนารายณ์จึงถูกส่งเสริมโดยเหล่าชนชั้นกษัตริย์และนักรบ เพื่อผดุงไว้ซึ่งอำนาจและความชอบธรรมในการปกครอง ขณะที่พระพรหมถูกลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คติเรื่องพระราชาคืออวตารของพระนารายณ์ ซึ่งแพร่หลายมาถึงรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เมื่อพระศิวะเป็นเทพของเหล่านักบวช พระนารายณ์เป็นเทพของเหล่ากษัตริย์ คนสองกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดในสังคมยุคจารีตแต่โบราณ พื้นที่ของพระพรหมจึงหดเล็กลงไปตามระเบียบ
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะพระพรหมเป็นเทพแห่งการสร้างสรรพชีวิต รวมถึงเป็นผู้ลิขิตชีวิตมนุษย์ ชาวฮินดูจึงมองว่า การเกิดและถูกลิขิตโดยพระพรหม เป็นที่มาของความวุ่นวาย หรือแม้แต่ความทุกข์ยากต่าง ๆ ในชีวิต เป็นเหตุให้พวกเขา “อิน” กับพระศิวะกับพระนารายณ์ ในฐานะผู้ทำลายและชำระล้าง กับผู้รักษาและปกป้องคุ้มครอง มากกว่าพระพรหม ที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้สร้างเรื่อง”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ผู้อ่านคิดเห็นหรือมีวิจารณญาณเช่นไร ลองแลกเปลี่ยนกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “ศาลพระพรหม” ณ โรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์
- “พระตรีมูรติ” ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ กับเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่คนไปขอพรความรัก
อ้างอิง :
วิสุทธิ์ บุษยกุล, ราชบัญฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน. พระพรหมฮินดู-พระพรหมณพุทธ์-ท่านท้าวหมาพรหม. The Journal of the Royal Institute of Thailand. (FDF Online)
ส. พลายน้อย. (2519). เทวนิยาย. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น.
สยามคเณศ. “พระพรหม” มหาเทพผู้สร้างโลกและลิขิตชีวิตมนุษย์. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566. จาก https://www.siamganesh.com/lordbrahma.html
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2566