“พระตรีมูรติ” ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ กับเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่คนไปขอพรความรัก

พระตรีมูรติ เทพฮินดู เทพจ้า อินเดีย
ศิวนาฏราช (พระศิวะเต้นระบำ) โดยมีพระพรหม (ซ้าย) และพระวิษณุ (ขวา) บรรเลงดนตรีประกอบ ทั้ง 3 องค์ คือมหาเทพที่ประกอบสร้างเป็น "พระตรีมูรติ" (ภาพจาก Los Angeles County Museum of Art / Public domain)

พระตรีมูรติ คือเทพที่หลายคนมีภาพจำว่าเป็นเทพที่อำนวยพรเรื่อง “ความรัก” ยิ่งเมื่อเทศกาลวันวาเลนไทน์เวียนมาถึง ภาพที่พบเห็นทุกปีคือหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์จะเนืองแน่นไปด้วยชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ที่แห่แหนไปไหว้ “เทพฮินดู” ในวันแห่งความรัก ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลอง “นักบุญคริสต์” แม้จะมีนักวิชาการและนักเทววิทยาออกมาอธิบายแทบทุกปีว่าเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไม่ใช่ “พระตรีมูรติ” อย่างที่คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจกันแต่อย่างใด

ต่อให้เทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์จะเป็นพระตรีมูรติจริง แต่เทพสูงสุดของศาสนาฮินดูองค์นี้หาได้มีอานุภาพหรือส่งเสริมด้าน “ความรัก” แต่อย่างใด อย่างน้อยก็ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ด้านนี้โดยตรง แล้วตัวตนของพระตรีมูรติ คืออะไรกันแน่?

พระตรีมูรติคือภาวะรวมร่าง (บ้างแยกร่าง แต่อยู่รวมกัน) ของ 3 มหาเทพของชาวฮินดู ได้แก่ พระศิวะ (พระอิศวร) พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระพรหม คำว่า “ตรีมูรติ” มาจากคำว่า ตรี แปลว่า 3  กับ มูรติ แปลว่า ร่าง, รูป หรือการสำแดง (แสดงออก) จึงแปลรวมกันได้ว่า “สามรูป” “สามร่าง” หรือการสำแดงทั้งสาม

3 เทพฮินดู (ซ้ายไปขวา) พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“ตรีมูรติ” เป็นแนวคิดทางเทววิทยาที่พัฒนาขึ้นในอินเดีย ยุคปุราณะ หลังยุคพระเวท หรือราว 200 ปีก่อนคริสตกาล พระตรีมูรติคือการอธิบายภาวะของเทพเจ้าที่มีพลังสูงสุด 3 ภาค ได้แก่ ภาคผู้สร้าง ภาคผู้รักษา และภาคผู้ทำลาย เรียกได้ว่าเป็นภาวะ ตรีเอกานุภาพ (Trinity) คล้ายกับของศาสนาคริสต์ แม้รายละเอียดเชิงลึกของสภาวะทั้ง 3 ของสองศาสนาจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

พระตรีมูรติมักถูกนิยามว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเป็นการรวมเอา 3 เทพเจ้าที่ทรงอานุภาพและมีผู้นับถือมากที่สุดในดินแดนภารตะมารวมไว้ด้วยกัน นักภารตวิทยาลงความเห็นว่า พระตรีมูรติ ที่แบ่ง พระพรหมผู้สร้าง พระวิษณุผู้รักษา และพระศิวะผู้ทำลาย เริ่มในสมัยคุปตะตอนต้นของอินเดีย หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4 เพื่อสะท้อนลักษณะของการสำแดงออกและทำหน้าที่ 3 ประการข้างต้นของ “พระเจ้าหนึ่งเดียว” ในการขับเคลื่อนวัฏจักรของโลกและจักรวาล 

เทวรูปหรืองานสร้างสรรค์เกี่ยวกับพระตรีมูรติจะขึ้นอยู่กับการอธิบายและแนวคิดของช่างแต่ละยุค ทำให้รูปเคารพของพระตรีมูรติที่พบในอินเดียและดินแดนที่รับอิทธิพลฮินดู มีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันไป มีทั้งแบบเทพสามองค์แยกกัน และรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน

ทั้งนี้ นอกจากพระตรีมูรติซึ่งเป็นภาวะ 3 มหาเทพแล้ว ยังมี “ตรีศักติ” ภาครวมร่างของ 3 มหาเทวี อันเป็นพระชายาของมหาเทพทั้ง 3 ได้แก่ พระปารวตี ชายาของพระศิวะ พระลักษมี ชายาของพระวิษณุ และพระสุรัสวดี ชายาพระพรหม เพื่อสะท้อนอานุภาพของเทพสตรีนั่นเอง

ส่วนการขอพรเกี่ยวกับความรักของชาวฮินดู แม้จะมีพระกามเทพเป็นเทพแห่งความรักโดยตรง แต่การบูชาเทพองค์นี้ไม่ได้แพร่หลายนัก จึงเป็นเหตุผลที่ชาวฮินดูไม่ได้เจาะจงขอพรเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ จากกามเทพโดยตรง แต่จะขอจากเทพองค์หลักที่ตนนับถือ คือ นับถือองค์ไหนก็ขอพรจากองค์นั้น

สำหรับเทวรูปหน้าห้างเซ็นเทรัลเวิลด์ นั้น ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายไว้อย่างชัดเจนในคอลัมน์ ผี-พราหมณ์-พุทธ ของ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 – 27 กุมภาพันธ์ 2563 ดังนี้

“โดยประติมานวิทยา (วิชาว่าด้วยลักษณะของเทวรูป) แล้ว ต้องถือว่า ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ไม่ใช่ ‘พระตรีมูรติ’ อย่างที่เรียกขานกัน แต่เป็นรูปเคารพของ ‘พระศิวะ’ ในปางที่เรียกว่า ‘สทาศิวะ’ หรือพระปัญจมุขี (แปลว่า ห้าหน้า)

“พระสทาศิวะ เป็นรูปพระศิวะที่ปรากฏห้าเศียร ปกติเรามักคุ้นเคยแต่พระศิวะที่มีเศียรเดียว รูปเคารพนี้พัฒนาขึ้นในอินเดียใต้ จากหลักปรัชญาความคิดของสำนักไศวสิทธานตะ ที่นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุด รูปพระตรีมูรติที่เรียกๆ กันนั้น หากลองสังเกตดูจะพบว่า มีห้าเศียร มีพระจันทร์เป็นปิ่นที่เศียรบนสุด และแต่ละเศียรมีดวงตาที่สามบนพระนลาฏ ตรงตามรูปแบบของพระศิวะทุกอย่าง เว้นแต่อาวุธและของต่างๆ ในพระกรถูกเอาออกจนหมด

“พระตรีมูรติ” หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือที่จริงคือ “พระสทาศิวะ” (ภาพจาก มติชนออนไลน์ 9 กุมภาพันธ์ 2566 )

“ดังนั้น คำอธิบายที่บางคนว่าเศียรบนสุดเป็นพระศิวะ สี่เศียรล่างเป็นพระพรหม และพระวรกายเป็นพระวิษณุ (จนเข้าใจกันว่าเป็น ‘พระตรีมูรติ’ – ผู้เขียน) นั้น เป็นคำอธิบายที่ผิดอย่างแน่นอน เพราะทั้งห้าเศียรคือเศียรของพระศิวะ และคงไม่มีเทพใดส่งแต่ร่างกายพระองค์มาผสมกับเทพอื่น”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, มติชนสุดสัปดาห์ (7 มีนาคม พ.ศ. 2563) : “ความเข้าใจเรื่อง ตรีมูรติ”. <https://www.matichonweekly.com/column/article_283340>

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, มติชนสุดสัปดาห์ (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) : “มาเข้าใจ พระตรีมูรติ-สทาศิวะ กันใหม่อีกสักครั้ง”. <https://www.matichonweekly.com/column/article_280130?fbclid=IwAR2Cf11CcCOGDs8Whw906uoyRuzRKCdAxV6wDZIq9Kfxxhz9p2bAw1zx1I8>

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, มติชนสุดสัปดาห์ (25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) : “ความรัก สังคมไทยและพระตรีมูรติ (again and again)”. <https://www.matichonweekly.com/column/article_520541>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566