ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ศาลพระพรหม” ตั้งอยู่บริเวณ สี่แยกราชประสงค์ คือศาลของ “พระพรหม” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของพระเจ้าในศาสนาฮินดู โดยถือว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและสรรพชีวิต การกำเนิดของพระพรหมมีเรื่องเล่าต่างกัน บ้างว่าเป็นองค์สยมภูผู้เกิดได้เอง บ้างว่ากำเนิดจากไข่ทอง ในหนังสือมหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะบางฉบับว่าพระพรหมกำเนิดจากดอกบัว ซึ่งผุดมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระนารายณ์ขณะบรรทมอยู่บนหลังอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร
พระพรหมมีพระวรกายสีแดง สี่พระพักตร์ สี่พระกร แต่ละข้างถือลูกประคำ ดอกบัว คัมภีร์ และหม้อน้ำ (บางตำรามีแปดพระกร) มีพาหนะเป็นหงส์
ทำไมพระพรหมมีสี่พระพักตร์?
ตามตำนานในคัมภีร์มัตสะยาปุราณะเล่าว่าเมื่อพระพรหมให้กำเนิดนางศตรูปขึ้นมา พระองค์ก็ลุ่มหลงในความงามของนางมาก เมื่อนางเยื้องย่างไปด้านขวา พระองค์ก็ปรารถนามองตาม ก็บังเกิดพระพักตร์ที่สองขึ้น เมื่อนางเคลื่อนไปด้านซ้าย ด้านหลัง และด้านบน ก็บังเกิดเป็นพระพักตร์ทั้งห้า ทว่า พระพักตร์ที่ห้าเป็นอันต้องถูกทำลาย เนื่องจากเหตุที่พระพรหมพูดหมิ่นพระศิวะ จึงถูกเผาด้วยพระเนตรที่สาม พระพักตร์หนึ่งของพระพรหมจึงถูกเพลิงไหม้ เหลือเพียงสี่พระพักตร์
แต่ตำนานในคัมภีร์ปัทมปุราณเล่าแตกต่างไปว่าพระพักตร์ที่ห้ามีรัศมีรุ่งโรจน์มากเป็นพระพักตร์ที่ทรงจำพระเวท พวกเทวดา (สุระ) รวมถึงที่ไม่ใช่เทวดา (อสุระ) ทนไม่ได้ จึงไปทูลของพระศิวะให้ทรงช่วยเหลือ พระองค์ก็เห็นว่าพระพักตร์ที่ห้านั้นมีรัศมีรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าแสงตะวันพันดวง จะทำให้ชาวโลกเดือดร้อน จึงทรงตัดออกด้วยพระนขา (เล็บ) แห่งพระองคุลี
วัฒนธรรมแถบดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ก็ปรากฏความเชื่อเรื่องพระพรหมมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว (ในไตรภูมิพระร่วง) คติเรื่องพระพรหมได้ถูกปรับให้เข้ากับศาสนาผีในท้องถิ่น รวมถึงพุทธศาสนาด้วย กระทั่งได้หล่อหลอม ผสมผสาน และส่งต่อความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระพรหมสืบมาถึงปัจจุบัน จนปรากฏเป็นการตั้งศาลพระพรหมที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ ศาลพระพรหม โรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ
กำเนิด ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์
ศาลพระพรหมแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นเนื่องมาจากการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ของบริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ที่มี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้ร่วมการก่อตั้งบริษัท เล่าลือกันว่าการก่อสร้างโรงแรมในช่วง 2-3 ปีแรก ติดขัดล่าช้าถึงขั้นหยุดชะงัก มีปัญหาอาทิ สั่งซื้อสิ่งของและอุปกรณ์มาแล้วแต่ไม่ได้ใช้เพราะผิดขนาด ผิดความต้องการของฝ่ายช่าง, มีการแก้ไขงานอยู่เนือง ๆ เหตุจากคนงานก่อสร้างผิดไปจากแบบ, คนงานประสบอุบัติเหตุ เลือดตกยางออกบ่อยครั้ง จนเกิดเสียขวัญไปตามกัน เป็นต้น
กระทั่งมี “ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง” แนะนำให้ พลตำรวจเอกเผ่า ติดต่อของความช่วยเหลือจาก พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ จึงได้รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดอุปสรรคมาจากการตั้งชื่อโรงแรมว่า “เอราวัณ” ซึ่งเป็นชื่อช้างทรงพระอินทร์ อีกทั้งก่อนจะก่อสร้างไม่มีพิธีการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้น จึงต้องทำการแก้ไขด้วยการขอพรจากพระพรหม เพื่อให้ท่านบัลดาลสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี และเมื่อสร้างโรงแรมเสร็จต้องตั้งศาลทันที
ผู้ก่อสร้างจึงทำการแก้ไขตามที่ได้รับคำแนะนำ กระทั่งโรงแรมเอราวัณสร้างเสร็จตามกำหนดในปี พ.ศ. 2499 (เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2494) พิธีเปิดมีขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน ปีนั้น และมีการตั้งศาลพระพรหมไว้ที่บริเวณหัวมุมด้านหนึ่งตรงสี่แยกราชประสงค์ ตามคำแนะนำของ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์
การก่อสร้างศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ มีนายเจือระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาล ส่วนผู้ออกแบบและปั้นพระพรหมคือ นายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ เป็นการปั้นตามแบบแผนกรมศิลปากร โดยปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ปิดทอง
ศาลพระพรหมจะตั้งอยู่ตรงใจกลางของอาณาบริเวณศาล ตัวศาลมีลักษณะเป็นซุ้มจตุรมุข สี่เสา รูปทรงปราสาท ที่ออกแบบขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้าชั้นสูง รูปปั้นพระพรหมมีลักษณะพระวรกายสีทองเหลืองอร่าม สี่พระพักตร์ แปดพระกร แต่ละข้างถือลูกประคำ สังข์ กรงจักร ตรีศร คัมภีร์ ธารพระกร แจกัน และอีกข้างแตะพระอุระ (อก) ที่พระวรกายคล้องสายยัชโญปวีต ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงวรรณพราหมณ์ พระพักตร์ด้านหน้าที่ตรงกับพระวรกายหันหน้าไปทางทิศเหนือ
อาภาภิรัตน วัลลิโภดม ผู้เขียนสารนิพนธ์ เรื่อง การนับถือ เจ้า เทพ และพระพรหม ในระบบความเชื่อของชาวเมือง กรณีศึกษาเฉพาะบ้านถนนงามวงศ์วาน ได้วิเคราะห์ถึงความเชื่อของพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณไว้ว่าพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณองค์นี้หมายถึง “ท่านพ่อเกศโร” (ตามความเชื่อของหลวงสุวิชานแพทย์ที่นับถือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระพรหม) กระทั่งเกิดเป็นลัทธิบูชา “ท้าวมหาพรหม” ตามมา
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อถึงพระพรหมอีกหลายองค์ โดยเฉพาะพระพรหมที่เชื่อกันว่าเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และดูเหมือนว่าผู้คนจะรู้จักท้าวมหาพรหมที่เคยเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์มากกว่าท่านพ่อเกศโร
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและลัทธิท้าวมหาพรหมที่เกี่ยวกับท่านพ่อเกศโรหรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อในตนเองไปเสียแล้ว โดยความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์กลายมาอยู่ที่รูปปั้นพระพรหมเป็นสำคัญ เพราะพระพรหมที่เห็นนั้นไม่ใช่ท้าวมหาพรหมแบบท่านพ่อเกศโรหรือแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่เกิดขึ้นในกรอบความคิดทางพุทธศาสนาในเรื่องไตรภูมิ ซึ่งมีพระพรหมได้หลายองค์ เป็นพรหมในชั้นรูปภูมิในขณะที่เทพอยู่ในชั้นกามาพจร ทั้งพรหมและเทพเป็นอนิจจัง อาจเปลี่ยนสถานภาพจากพรหมเป็นเทพหรือกลับเป็นมนุษย์ได้ แต่รูปปั้นนี้แทนเทพเจ้าสูงสุดหนึ่งในสามของพระเจ้าในศาสนาฮินดู
ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศาลพระพรหมไว้บูชาตามบ้านเรือน หรืออาคารใหญ่ ๆ อย่างแพร่หลายในสังคมไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นที่มา “ศาลเจ้าจีน” บนดาดฟ้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
- เจาะลึก “กราบรถ” ในวัฒนธรรมไทย หลักฐานทางคติชนแง่พิธีกรรม-ความเชื่อเรื่องพาหนะ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“พระพรหม เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ ตรีเทพ แห่งยุคโลกาภิวัตน์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับสิงหาคม 2539, หน้า 110-111.
สุชาดา กิตติตระกูลกาล. “ศาลท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ การแสดงเชิงพิธีกรรมยุคโลกาภิวัฒน์”. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2565