ปลด กรมหมื่นชุมพรฯ ออกจากราชการ! เพราะข่าวลือกบฏ

กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสด็จเตี่ย
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายใน พ.ศ. 2450

เรื่องที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายพลตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ต่อมาทรงเป็น กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือเรียกโดยย่อว่า กรมหลวงชุมพรฯ) ออกจากราชการ เป็นข่าวใหญที่อย่างกระทันหันนั้น มีกล่าวกันถึงสาเหตุหลายกระแสด้วยกัน

หนึ่ง เพราะนายทหารเรือกลุ่มหนึ่งไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ถนนบ้านหม้อ ได้พบกับมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 จนเกิดเขม่นและปะทะคารมกันขึ้น ในการวิวาทนั้นนายเรือโทตรุส บุนนาค ใช้วาจาไม่เหมาะสม โดยพูดทำนองว่า การที่นายทหารเรือได้รับพระราชทานเงินเป็นค่าเดินทะเล ก็เพราะในหลวงเกรงกลัวพวกเขาจะสไตร๊ค์ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อีกกระแสหนึ่งจาก นายนาวาตรี หลวงเจนจบสมุท (เจือ  สหนาวิน) มีว่า นักเรียนนายเรือ 2 คน (คนหนึ่งคือ หลวงเจนจบสมุทเอง) เดินผ่านไปทางสนามชัย แล้วเกิดวิวาทกับพวกมหาดเล็กกลายเป็นมวยหมู่ระหว่างนักเรียนนายเรือ 2 คนกับมหาดเล็กนับสิบ มหาดเล็กนำความไปกราบบังคมทูลฟ้องรัชกาลที่ 6 (ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) จึงเป็นเรื่องต่อมา

หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร พระชายาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เล่าถึงเรื่องนี้ไปอีกทางหนึ่งว่า “ต้นปี ร.ศ. 130 เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางทะเล มีเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งไปเมาและทำปืนหลวงหาย ความทราบถึงพระกรรณก็กริ้ว ให้ปลดนายทหารเรือผู้นั้นออกจากราชการ และโปรดให้กรมหลวงชุมพรฯ ออกจากราชการด้วย โดยเหตุว่าครูก็เมา ศิษย์ก็เมา” นอกจากนี้หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม ยังเสริมอีกว่า “ในเวลานั้นเกิดข่าวลือบ้าๆ ว่า กรมหลวงชุมพรจะคิดขบถ ถ้าสำเร็จจะให้ทูนหม่อมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน กรมหลวงชุมพรฯ จะเป็นวังหน้า”

เรื่องที่พวกทหารเรือเชื่อกันว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่รัชกาลที่ 6 ทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยใน นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ คือเรื่องข่าวกบฎนี้เอง (ซึ่งเล่ากันในแวดวงทหารเรือว่า เมื่อทรงถูกปลดออกจากราชการแล้ว ข่าวลือก็ทำท่าว่าจะเป็นข่าวจริง แต่หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า พระอาจารย์ได้ห้ามไว้) ซึ่งแม้จะเป็นข่าวลือ ทางราชการก็มิได้นิ่งนอนใจ มีหลักฐานว่าทางกระทรวงนครบาลได้สั่งให้ตำรวจคอยติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่

ท่ามกลางข่าวลือ รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชบันทึกถึงเรื่องที่ทรงให้ให้กรมหมื่นชุมพรฯ ออกจากราชการ  โดยตอนหนึ่งทรงระบุว่ากรมหมื่นชุมพร“ได้ทอดทิ้งการงานทางทหารเรือมากขึ้นเปนลำดับ, จนนับว่าไม่มีเยื่อใยอะไรในกองทัพเรือ นอกจากยังคงเปนหัวโจกของทหารหนุ่มๆ บางคนอยู่เท่านั้น.”

และ “การที่กรมชุมพรไม่ไปทำงานทางทหารเรือเลย แต่ก็คงได้รับเงินเดือนอยู่เต็มที่นั้น, นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับนายทหารผู้น้อยผู้ไร้สติ. ประการ 1 พวกศิษย์พากันเห็นไปเสียว่าครูของตนเปนคนสำคัญเหลือประมาณ, อย่างไรรัฐบาลก็ต้องง้อไว้ใช้. อีกประการ 1 ทำให้พวกหนุ่มตีราคาสูงเกินควรไป, คือพากันเข้าใจเสียว่า ถ้าเปนผู้มีวิชาแล้ว จะทำงานหรือมิทำก็ต้องเลี้ยง. ข้อที่ร้ายคือ กรมชุมพรชอบพูดฟุ้งสร้านต่างๆ ให้พวกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ, ชอบนินทาผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปให้ผู้น้อยฟัง, จึ่งทำให้พวกหนุ่มพากันฟุ้งสร้านไปเปนอันมาก.” 

ส่วนเรื่องที่ทหารเรือวิวาทกับมหาดเล็ก ทรงบันทึกว่า แท้จริงทรงเพียงให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ เลขานุการในพระองค์มีจดหมายต่อว่าไปยังผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือเท่านั้น มิได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่นายทหารเรือ (นายตรุส) พูดจาอวดอ้างในร้านอาหารนั้นทรงบันทึกว่า

“ผลร้ายของการสอนไม่ดีของกรมชุมพรได้มากระทบหูฉัน, คือเมื่อวันที่ 3 เมษายน พระยาราชวังสัน [ฉ่าง แสง-ชูโต], ซึ่งเวลานั้นเปนผู้บัญชาการเรือกลและป้อม, ได้เล่าให้ฉันฟังว่า ในการที่ฉันได้สั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเพิ่มค่าเดิรทเล, ซึ่งได้คั่งค้างมาหลายปีแล้วนั้น, ได้มีนายทหารเรือผู้ 1 กล่าวว่า ฉันต้องสั่งอนุญาตเช่นนั้นเพราะกลัวว่า ถ้าไม่จ่ายพวกเขาจะ ‘เอาเรือไปลอยเสียที่ปากน้ำ’, ซึ่งตีความกันว่าพวกเขาจะ ‘สไตร๊ก’.    

พระยาราชวังสันว่าจะไปขออนุญาตทำโทษนายทหารผู้นั้นให้เปนตัวอย่าง. แต่ฉันสารภาพว่าในเวลานั้นฉันยังหวาดหวั่นอยู่ด้วยเรื่องข้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดงาน, เกรงว่าถ้าทหารเรือหยุดงานบ้างจะทำความลำบากมากกว่าอีก. ความฟุ้งสร้านต่างๆ ของทหารเรือหนุ่มๆ มีอยู่เปนเอนกประการ, และปรากฏว่ากรมชุมพรแทนที่จะตักเตือนห้ามปราม, กลับพอใจส่งเสริมพวกหนุ่มอยู่เสมอ, ฉันจึ่งทำใจว่าต้องให้กรมชุมพรออกจากประจำการเสียคราว 1 เพื่อกำราบให้ละพยดลง, และจะได้เปนการรักษายุทธวินัยในกองทัพเรือได้ดีกว่าทางอื่น.  

เสนาบดีทหารเรือนั้น, แม้ได้รู้เรื่องอวดดีฟุ้งสร้านต่างๆ ของพวกศิษย์กรมชุมพร และได้รู้ความบกพร่องของกรมชุมพรอยู่ดีก็จริง, แต่ไม่กล้าทำอะไรให้แตกหักลงไปได้เลย, เพราะเปนคนขี้วิตกและขี้เกรงใจ. ถ้าขืนทอดทิ้งช้าไว้ ฉันเกรงอยู่ว่าความสำเร็จเด็ดขาดและอำนาจในกองทัพเรือจะไปตกอยู่ในมือกรมชุมพร, ซึ่งในเวลานั้นยังคงชอบกับกรมหลวงประจักษ์, ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก.” [จัดย่อหน้าและขีดเส้นใต้ใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

ทรงบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อทรงกล่าวถึงเรื่องกรมหมื่นชุมพรฯ กับลูกศิษย์ในที่ประชุมเสนาบดีสภาในวันที่ 6 เมษายนนั้น นายพลโท สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก กับ นายพลเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมก็เสนอกันว่าควรให้กรมชุมพรออกเปนกองหนุนเสียคราว 1, เพื่อให้กรมชุมพรเองรู้สำนึกว่าจะนอนกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ ไม่ได้, และให้พวกศิษย์รู้สึกว่าครูมิใช่คนสำคัญเท่าที่เขาทั้งหลายตีราคาไว้.”

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากราชการทหารเรือในปี 2454

อ่านเพิ่มเติม 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรม ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา กรมหลวงชุมพรฯ “เสด็จเตี่ย” ในตำนานทหารเรือไทย วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2558 ที่มติชนอคาเดมี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2564