เมื่อรัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสเล่าประสบการณ์ “เจอผี”

พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระที่นั่งอัมพรสถานและพระที่นั่งอุดรภาค (ในวงกลม) พระราชวังดุสิต (ภาพwww.vajiravudh.ac.th)

ในโลกนี้มี “ผี” ไหม? ใครเคยเจอผีบ้าง? นี่เป็นประสบการณ์ “เจอผี” ที่ รัชกาลที่ 6 และเหล่าเจ้านายทรงเล่าประทานบุคคลใกล้ชิด และข้าราชบริพารของพระองค์ ที่มีการบันทึกไว้ในเอกสารต่างๆ

วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2525 มีบทความหนึ่ง เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “บัวบาน” กล่าวถึงประสบการณ์ “เจอผี” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการบอกเล่าของคุณพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ว่า

เมื่อคุณพระมหาเทพกษัตรสมุห อายุประมาณ 22 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักด์เป็น “นายเสนองานประภาษ” มีหน้าที่รับใช้ในห้องทรงพระอักษร คืนหนึ่งคุณพระรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอยู่สองต่อสอง ตกดึกประมาณ 5 ทุ่มเศษ (23.00 น.) เกิดกลัวผีขึ้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษรอยู่ พอพระองค์ท่านทรงหยุดพัก จึงได้รวบรวมความกล้ากราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ผีมีจริงไหม พ่ะย่ะค่ะ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลและทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “ตามทางวิทยาศาสตร์เขาว่าผีไม่มี แต่ข้าเคยถูกหลอกมาแล้ว”

และในคืนนั้นได้ทรงพระมหากรุณาเล่าเรื่องที่ทรงเคยถูกผีหลอกหลายเรื่อง เช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินซ้อมรบเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์ และที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง ทรงเล่าเรื่องผีตั้งแต่ 23 น. เศษ จนถึงเวลา 3.30 น. จึงได้เสด็จเข้าห้องพระบรรทม

หากพิจารณาระยะเวลาที่ทรงใช้ นับว่าพระองค์ทรงมีประสบการณ์ไม่น้อย และนอกจากคุณพระมหาเทพกษัตรสมุห ก็ยังมีข้าราชบริพารใกล้ชิดคนอื่นที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง ดังที่พระยาบำรุงราชบริพาธ ได้เขียนบันทึกไว้

เมื่อพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์  สิ้นพระชนม์ [10 สิงหาคม ปี 2468] ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่พระที่นั่งอุดร [พระที่นั่งองค์เล็กมีเฉลียงเชื่อมต่อจากพระที่นั่งอัมพรสถานทั้งชั้นบนและชั้นล่าง] จะเสด็จพระราชทานน้ำสรงพระศพ

พระที่นั่งอัมพรสถานและพระที่นั่งอุดรภาค (ในวงกลม) พระราชวังดุสิต (ภาพwww.vajiravudh.ac.th)

การเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอุดร ไปประทับรถพระที่นั่งยังหน้าพระที่นั่งอัมพร จึงเสด็จพระองค์เดียวไม่มีใครตามเสด็จด้วย ตามธรรมดาก็มักจะเสด็จทางเฉลียงบนเป็นส่วนมาก แต่บางคราวอาจเสด็จพระราชดำเนินทางเฉลียงล่าง  ตามพระราชอัธยาศัย และในวันนั้นก็บังเอิญเสด็จทางเฉลียงล่าง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเล่าที่โต๊ะเสวยว่า [ตามบันทึกพระยาบำรุงราชบริพาธบันทึก]

พอเสด็จลงอัฒจันทร์ชั้นบน เลี้ยวออกพระทวารจเสด็จลงอัฒจันทร์ชั้นล่าง ก็ทอดพระเนตรเห็น นายพันโทจมื่นฤทธ์รณจักร (กรับ โฆษะโยธิน) ผู้บังคับการทหารรักษาวัง และเป็นราชองครักษ์เวรยืนเฝ้าถวายการเคารพอยู่ริมถนนเชิงอัฒจันทร์ ทรงก้าวลงจากอัฒจันทร์ พลางยกพระหัตถ์ขึ้นรับการเคารพ และทรงนึกในพระทัยว่า อีตาคนนี้เป็นราชองครักษ์เวร ทำไมไม่ไปคอยเฝ้ารับเสด็จที่หน้าพระที่นั่งอัมพร มายืนเฝ้าอยู่ที่นี่ทำไม

หรือจะมาคอยเฝ้าถวายหนังสือ บางทีอาจจะมีเรื่องที่จะกราบบังคมทูลเฉพาะพระองค์บ้างกระมัง แต่ก็เปล่า ไม่เห็นถวายหนังสือ หรือกราบบังคมทูลอะไรเลย และทรงรู้สึกแปลกพระทัยว่าวันนี้หมายกำหนดการให้แต่งเต็มยศขาว ทำไมตาคนนี้แต่งเต็มยศใหญ่

ครั้งจะทรงทักว่าแต่งตัวผิด ก็ทรงเกรงว่าเจ้าตัวจะตกใจกระทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้น จึงเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปโดยมิได้รับสั่งทักทายอย่างหนึ่งอย่างใด เสด็จมาประทับรถพระที่นั่ง หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน เลยมิได้เอาพระทัยใส่ต่อนายพันโท จมื่นฤทธิ์รณจักร [เน้นโดยผู้เขียน]

จนการพระราชทานน้ำสรงพระศพ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ตามราชประเพณีเสร็จเรียบร้อย ครั้นเสด็จกลับมาถึงพระที่นั่งอุดรก็ทอดพระเนตร เห็นดอกไม้ธูปเทียนถวายบังคมทูลลาตายตั้งอยู่ จึงทรงหยิบซองหนังสือขึ้นเปิดทอดพระเนตรมีข้อความว่า

“ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า นายพันโทจมื่นฤทธิ์รณจักร (กรับ โฆษะโยธิน) ขอพระราชทานกราบบังคมลาถึงแก่กรรม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะฯ

ทันใดนั้นก็ทรงระลึกได้ว่า นายพันโท จมื่นฤทธิ์รณจักร แต่งเต็มยศใหญ่มาเฝ้าทรงรู้สึกผิดสังเกตอยู่แล้วนั้น ที่แท้ก็เพื่อมากราบถวายบังคมลาตายด้วยตนเอง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงมีประสบการณ์ “เจอผี” เช่นกัน และทรงเล่าประทานหม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาของพระองค์ได้ทราบ หม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตรยังทรงเขียนประสบการณ์เหล่านี้ไว้ใน “ป้าป้อนหลาน” ว่า

ป้าเกิดที่วังท่าพระอยู่ที่นั่นมาจนโต ที่วังท่าพระนั้นเป็นวังเก่า มีประวัติยืดยาวซับซ้อน ชาวบ้านละแวกนั้นเคารพนับถือกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณคุ้มครองอยู่ เมื่อเจ็บไข้ได้ทุกข์ ก็มักขออนุญาตเข้าไปบูชาบนบานกันอยู่เสมอ คนที่เคยอยู่ในวังก็เล่าว่า เคยเห็นผีถูกผีหลอกผีอำกันมานักต่อนัก ป้าเคยทูลถามเสด็จปู่ เช่นเดียวกับที่หลานถามป้าบัดนี้ ท่านรับสั่งว่า

“พ่อไม่เคยเห็นผี แต่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบางครั้งที่อธิบายไม่ได้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร พ่อลืมตาตื่นขึ้นกลางดึกรู้สึกหนาว มองดูหน้าต่างข้างเตียงเห็น ส.อยู่ทั้งสองบาน แสงเดือนส่องทอดเข้ามาที่พื้นห้องสว่างเป็นลํา พ่อลุกขึ้นนั่งบนเตียงคิดจะเดินไปปิดหน้าต่าง เห็นข้างนอกเดือนหงายสว่างจ้า พระจันทร์กําลังเต็มดวงส่องลอด กิ่งจันทน์เป็นลางส่วน ที่ถูกกิ่งไม้บังอยู่ก็เห็นเป็นเงาดําประปรายลมพัดกิ่งไม้โยกไปมางามเหลือเกิน นั่งดูอยู่เป็นครู่ใหญ่ด้วยคิดจะจําไว้เขียน พอจะนอนต่อจึงลุกไปปิดหน้าต่างเอื้อม มือออกไปเจอะหน้าต่างปิดลงกลอนเรียบร้อยแล้วทั้งสองบาน ไม่เข้าใจเลยว่าฝันหรือละเมอ หรืออะไร ทําไมจึงเป็นไปได้เช่นนั้น อธิบายไม่ได้จนบัดนี้

อีกครั้งหนึ่งพ่อกําลังนั่งกินข้าวอยู่ข้างบน ได้ยินเสียงใครเคาะโลหะอะไรอย่างหนึ่งที่ในห้องใต้ชั้นต่ำ ดังรัวกังวานได้ยินถนัดหมดทุกคน (ห้องใต้ชั้นต่ำนี้อยู่ชั้นล่างตรงกับห้องเสวย เป็นที่ทรงเก็บศิลปวัตถุและเครื่องดนตรี มักจะปิดใส่กุญแจไว้ เปิดเป็นเวลาเช่นลูก ๆ ลงไปเล่นปิงปองกัน หรือครูมาสอนหนังสือ ในเวลามีงาน มีแขกเป็นต้น)

จึงต่างก็โจษ กันแซ่ว่าเสียงใครเคาะอะไรในห้องนั้น จะมีใครเข้าไปเคาะได้อย่างไรในเมื่อห้องก็ปิดใส่กุญแจไว้ พ่อออกความเห็นว่าอาจจะเป็นหนูขึ้นไปไต่บนฆ้องวง เหยียบไม้ตีฆ้องซึ่งวางพาดอยู่ กระดกไปถูกลูกฆ้องเข้า จึงให้เด็กลองลงไปเปิดห้องเคาะพิสูจน์ดูก็ไม่ใช่ ทั้งไม่มีเครื่องดนตรีใดๆ เกิดเสียงเหมือนเช่นนั้นเลย ครั้นลองเคาะเครื่องโลหะอื่นๆ ดูต่อไปอีกก็ปรากฏว่าดัง เหมือนเสียงที่เคาะพระพุทธรูปทรงเครื่อง ต่างพูดเถียงกันว่าทําไมดังขึ้นเองได้

พ่อก็เอ่ยขึ้นถ้า ครูแรงจะได้ไหว้ครู’ พอพูดขาดคําก็มีเสียงเคาะขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ดังรัวกังวานได้ยินชัดทุกคน นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่าทําไมจึงเป็นเช่นนั้น จึงคิดไปเสียในทางดีว่าครูมาเตือนสติมิให้เป็นคนประมาทขาดความเคารพครูบาอาจารย์ พ่อ ก็เลยไหว้ครูตั้งแต่นั้นมาทุกปีจนบัดนี้

ไม่ทราบท่านผู้อ่านมีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้ บ้างหรือไม่ หวังว่าจะไม่ได้คำตอบเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำรัสตอบคุณพระมหาเทพกษัตรสมุห ว่า “ตามทางวิทยาศาสตร์เขาว่าผีไม่มี แต่ข้าเคยถูกหลอกมาแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บัวบาน. “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยปูเค็ม”ใน, วชิราวุธานุสรณ์สาร ปี่ที่ 2 ฉบับที่ 11 มกราคม 2525

พระยาบำรุงราชบริพาธ. “ผีมาเฝ้าและการประชวรจนสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”ใน, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สดสุข กาญจนาคม ณ เมรุวัดทเพศิรินทราวาส 12 กันยายน 2515

หม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตร จิตรพงศ์. ป้าป้อนหลาน, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันยายน 2541


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2562