ไขข้อสงสัยเหตุใดเรียก “สระไอ” ว่า “ไม้มลาย” คำว่ามลายมีที่มาจากไหน?

แบบเรียน สระไอ ไม้มลาย
หลักการใช้ ไป ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2503 จากหนังสือ "โน้ต หลักภาษาไทยศิลปการประพันธ์สำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา" (ภาพจาก ห้องสมุดดิจทัล หอสมุดแห่งชาติ)

ผมได้เห็นลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหนังสือ “700 ปี ลายสือไทย” ของศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล) ที่ทรงเรียก สระไอ ว่า ไม้มะไล แล้วสงสัยว่าคำว่า มะไล (หรือที่ปัจจุบันใช้ว่า ไม้มลาย) มาจากไหน

เปิดดู “พจนานุกรมไทย” ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม พบคำว่า มะไลก๊าด ซึ่งแปลว่า “ชื่อผ้าโสร่งเนื้อดีเป็นมันมาจากเมืองปลิกัด (Pulicat) ในอินเดีย” ไปคนละทิศเลย

Advertisement

คำที่ออกเสียงใกล้กับคำว่า มะไล ก็มีแต่คำว่า มาลัย ซึ่งแต่ก่อนเขียนว่า มาไลย ดังคำอธิบายในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชื่อ มูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ว่า

ไม้มลายลักษณชี้ สองสฐาน
จักบอกแบบบรรหาร แห่งไว้
พวกคำมคธขาน ควรใส่ ยอแฮ
ไม้มลายล้วนใช้ ส่วนข้างคำสยาม

ผู้แต่งได้ยกตัวอย่างคำศัพท์ให้ดูมากมายหลายคำ ซึ่งผมคัดมาเพียงบางคำดังนี้ ชลาไลย อายุไขย วินิจไฉย อวยไชย จุธาธิปะไตย พระหฤไทย วิไนย โรคไภย สงไสย อาไศรย มาไลย เหล่านี้ล้วนเป็นคำที่มาจากภาษามคธทั้งสิ้น

ปัจจุบันเราใช้ไม้หันอากาศ ตามด้วยตัว ย เว้นแต่คําที่ใช้สระ เ-ยฺย มาก่อน เช่น ไทยธรรม อธิปไตย ไสยศาสตร์ เป็นต้น คำไทยแท้ไม่ต้องมีตัว ย ตาม

ตามธรรมดา เรามักจะเรียกชื่อตัวอักษรตามคำศัพท์ที่ใช้อักษรนั้น ๆ เช่น ก ไก่, ข ไข่, ธ ธง, ร เรือ บางคนเรียกว่า ธ เธอ, ร รักษา แสดงว่าเขาเรียกชื่อตามศัพท์ซึ่งอาจจะเป็น ธง หรือ เธอ ก็ได้ เรือ หรือ รักษา ก็ได้ แต่ที่นิยมมากกว่าคือศัพท์ที่เป็นคำนาม เพราะสามารถเขียนรูปประกอบได้ ทำให้เด็กจำได้ง่าย คำว่า ธ เธอ และ ร รักษา ก็เลยไม่มีใครใช้ และคนสมัยนี้อาจจะไม่เคยได้ยินเลยก็ได้

สระอื่น ๆ ไม่มีเสียงพ้องกัน จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยศัพท์ช่วย แต่ สระใอ สระไอ จำเป็นต้องเรียกให้ต่างกัน จึงมีชื่อว่า สระใอไม้ม้วน ตามรูปร่างลักษณะของมัน

หนังสือ “โน้ต หลักภาษาไทยศิลปการประพันธ์สำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา” (ภาพจาก ห้องสมุดดิจทัล หอสมุดแห่งชาติ)

ส่วน สระไอ นั้น ท่านคงจะเรียกตามศัพท์ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ มาไลย ซึ่งแปลว่า พวงดอกไม้ ฟังเพราะหู และมองเห็นภาพที่สวยงามด้วย ถ้าเรียกว่า ไม้มลาย ความหมายไม่ค่อยเป็นมงคลเลย เพราะมลาย แปลว่า “ตาย, แตก, ทำลาย, สูญไป” คนไทยแต่ก่อนถือนักเรื่องถ้อยคำที่เป็นอัปมงคล จะไม่ยอมใช้กันง่าย ๆ

บางท่านว่า “มลาย” แผลงมา จาก “มาย” ซึ่งเป็นคำในภาษาไทยพายัพและอีสาน แปลว่า “คลาย” ตรงข้ามกับคำว่า “ม้วน” แต่ในวรรณคดีไทยภาคกลาง ผมไม่เคยเห็นท่านใช้คำว่า มลาย ในความหมายว่า “คลาย” เลย แม้แต่คำว่า “มาย” เองก็ไม่มี แล้วจะเอาอะไรมาแผลง ?

อักษรธรรมล้านนามีสระไอเพียงรูปเดียว เรียกว่า ไม้ไก๋ ไม่มีคําว่าไม้ม้วน ไม้มาย แต่อักษรธรรมอีสานมีทั้งสระใอและสระไอ จากการพิจารณาดูรูปร่างของสระใอในหนังสือ “อักษรธรรมอีสาน” ของอาจารย์เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์ แห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หางของสระใอ ถ้าไม่เหยียดออกก็เพียงแต่งอลงมาเล็กน้อย ไม่ถึงกับม้วนขอดเหมือนสระไอของภาคกลาง

เมื่อไม่มีไม้ม้วน แล้วจะมีไม้มายได้อย่างไร หนังสือ “อักษรธรรมอีสาน” ดังกล่าวก็ไม่ได้เรียกสระใอไม้ม้วน หรือสระไอไม้มายแต่อย่างใด ถ้าหากจะมีตำราอักษรธรรมอีสานที่เรียกเช่นนั้น ก็คงจะเป็นตําราที่แต่งขึ้นภายหลังด้วยอิทธิพลของภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งเผยแพร่เข้าไปพร้อมกับพระราชบัญญัติการประถมศึกษา สมัยรัชกาลที่ 6

ความจริงอักษรธรรมอีสานก็มาจากอักษรธรรมล้านนานั่นเอง ดังที่ อ. เพ็ญพักตร์เขียนว่า

“นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั้งหลายจึงลงความเห็นว่า รูปแบบอักษรธรรมอีสานได้รับมาจากทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยผ่านทางอาณาจักรลานช้างอีกทอดหนึ่ง… พงศาวดารโยนกและพงศาวดารลาวฉบับกะซวงสึกสาทิกานลาวกล่าวตรงกัน ว่า

‘ศักราช 885 (พ.ศ. 2066) พระเจ้าโพธิสาลราชแต่งทูตไปขอพระไตรปิฎกจากนครเชียงใหม่ 60 คัมภีร์ พร้อมทั้งพระเทพมงคลเถระกับบริวาร’ มาเผยแพร่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในลานช้าง จากอิทธิพลทางศาสนานี้ อักษรธรรมจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านอักษรธรรม ซึ่งใช้ในทางศาสนาระหว่างลานนาและลานช้าง”

คําว่า ไม้มาไลย กลายเป็น ไม้มลาย ไปนั้น ก็เหมือนที่เราพูดว่า “ไม่ด้าย” หรือ “ไม่ช่าย” แทนที่จะออกเสียงว่า “ไม่ได้” หรือ “ไม่ใช่” นั่นเอง บางคำนอกจากจะออกเสียงยาวไปแล้ว ยังเขียนให้อ่านตามเสียง ใหม่นั้นด้วย เช่นคําว่า “ข้าว” ซึ่งภาคเหนือและภาคอีสานยังออกเสียงว่า “เข้า” เหมือนสมัยพ่อขุนรามคําแหงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2563