จาก “ฌ เฌอ” เมื่อร้อยปีก่อน ถึง “ฌ กระเฌอ” พยัญชนะไทยที่มาจากเขมร

พยัญชนะไทย ฌ กระเฌอ
ตัวอย่างภาพประกอบ ก ข จากหนังสือแบบเรียนไว ของครูย้วน ทันนิเทศ (ภาพจาก หนังสือ แกะรอบ ก ไก้ ของเอนก นากวิกมูล, 2536)

คำพูดที่ใครยินกันบ่อยคือ “ภาพภาพหนึ่งแทนอักษรนับหมื่นคำ” หากวันนี้จะชวนมองในมุมของตัวหนังสือบ้าง เพราะตัวอักษรเพียงตัวเดียวก็บอกเล่าเรื่องราวเป็นร้อยปีได้เช่นกัน ตัวอักษรที่ว่า คือ “ฌ เฌอ” หรือที่เรียกติดปากว่า ฌ กระเฌอ นั้น ผู้เขียนคือ ไพบูลย์ แพงเงิน เขียนเป็น “จดหมายถึงบรรณาธิการ” (ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2538) ไว้ดังนี้ [เพิ่มหัวข้อย่อย, จัดย่อหน้า, สั่งเน้น-เอนตัวอักษร เพื่อความสะดวกในการอ่าน]

พระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้คิดตั้งชื่อตัวอักษรขึ้นกำกับพยัญชนะ

เรื่องของ ฌ เฌอ ตัวนี้คงจะต้องเริ่มกันที่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ผู้แต่งหนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” อันลือลั่นเป็นท่านแรก เพราะท่านเป็นคนเริ่มต้นคิดตั้งชื่อตัวอักษรขึ้นกำกับพยัญชนะ (แต่เพียงบางตัว) เป็นท่านแรก ก่อนหน้านั้นขึ้นไปในหนังสือ “จินดามณี” ที่แต่งกันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา และฉบับที่แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังไม่มีการคิดคำต่อท้ายเพื่อกำกับพยัญชนะ เพื่อจะให้จดจำได้ง่ายแต่อย่างใด

พระยาศรีสุนทรโวหาร ท่านเป็นผู้ยืนยันด้วยตัวของท่านเอง ในหนังสือ “ภาษาไทย เล่ม 1” (สนพ. แพร่พิทยา พิมพ์ครั้งที่ 3, 2517) ในเรื่อง “วิธีสอนหนังสือไทย” ว่า

“…ในเรื่องคิดชื่อตัวอักษรนี้ ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ชาวไทยเราจนคำพูด ต้องเอาชื่อหวยมาใช้ชื่อักษร คือเรียกว่า ถ พันกุ้ย, ญ ย่องเซง, ด กวางเหมง, น เทียนสิน เป็นต้น ดูน่าสังเวช

ข้าพเจ้าจึงคิดชื่อขึ้นสอนนักเรียนในโรงสกูลหลวงว่า ข ขัดข้อง, ฃ อังกุษ, ค คิด, ฅ กัณฐา, ฆ ระฆัง, ช ชื่อ, ฌ ฌาน, ญ ญาติ, ฎ ชฎา, ฏ รกชัฏ, ฐ สันฐาน, ฑ บิณฑบาต, ฒ จำเริญ, ณ คุณ, ด เดชะ, ต ตรา, ร รถ, ท ทาน, ธ เธอ, น นิล, พ พล, ภ ภักตร์, ย ยินยล, ร โรค, ล วิลาศ, ฬ จักรวาฬ

ตั้งชื่อไว้เพื่อจะสอนเด็กให้ออกเชื่อตัวสะกดได้ง่าย ที่ไม่มีตัวพ้องไม่ต้องตั้งชื่อ แบบนี้มิใช่บังคับ ท่านผู้ใดเห็นชอบจะทำก็ตาม ที่ท่านไม่เห็นชอบก็ต้องขอรับทานโทษ อย่าเพ่อเหมาเอาว่าอุตริหรือฟุ้งซ่านเลย เพราะคิดขึ้นทั้งนี้ด้วยหวังจะให้เด็กรู้ง่าย เป็นเจตนาฝ่ายกุศล เมื่อมิได้ก็ทำเนา ขอแต่อย่าให้ต้องติเตียนเลย”

ก็นับว่าเป็นที่ชัดเจนว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร ท่านได้รู้ปัญหาความลำบากในการเล่าเรียนจดจำของเด็กสมัยก่อนเกี่ยวกับพยัญชนะที่พ้องกัน จึงคิด “ชื่อกํากับ” ขึ้นเป็นท่านแรก แต่ก็ไม่ได้คิดขึ้นมากํากับทุกตัว เป็นเพียงคิดขึ้นมากํากับเฉพาะ “พยัญชนะที่พ้องเสียงกัน” เท่านั้น รวมทั้งตัว ฌ ท่านก็ตั้งอักษรกํากับว่า “ฌ ฌาน”

แบบเรียน ก ไก่ ชั้นเตรียม (ภาพจากหนังสือ แกะรอย ก ไก่ ของเอนก นาวิกมูล , 2536)

พัฒนาการ “ฌ กระเฌอ”

จากผลงานการค้นคว้าของคุณเอนก นาวิกมูล ในหนังสือ “แกะรอย ก ไก่” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ และจากหนังสือ “แบบเรียน เร็ว เล่ม 1” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทําให้เราได้รับทราบข้อมูลการคิดอักษรกํากับพยัญชนะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่คิดขึ้นมาเฉพาะพยัญชนะที่มีเสียงพ้องกัน ก็เพิ่มเป็นคิดกํากับทุกตัวตั้งแต่ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูกเลยทีเดียว และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น ตัว ฌ ก็ถูกเปลี่ยนอักษรหรือคํากํากับไปหลายครั้งหลายหน โดยระยะแรกยังไม่มีการเขียนรูปภาพประกอบแต่อย่างใด การพัฒนาดังกล่าวพอจะนํามาเรียบเรียงได้ ดังนี้

ใน พ.ศ. 2442 แบบเรียนเร็ว เล่ม 1 ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ฉบับโรงพิมพ์บํารุงนุกูลกิจ ได้คิดคํากํากับให้ ฌ ใหม่ เป็น “ฌ เฌอ” และใน พ.ศ. 2453 หนังสือ “ดรุณศึกษา” ก็ใช้ “ฌ เฌอ” เช่นกัน จนถึง พ.ศ. 2458 โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญได้พิมพ์หนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” โดยมีการพิมพ์พยัญชนะทุกตัวพร้อมคํากํากับแถมให้ด้วย ได้เปลี่ยน ฌ เป็น “ฌ ฤาษีเข้าฌาน” พร้อมมีรูปภาพของฤาษีกําลังนั่งเข้าฌานประกอบด้วย

ครูย้วน ทันนิเทศ ผู้เรียบเรียงหนังสือแบบเรียนไว (ภาพจากหนังสือ แกะรอย ก ไก่ ของเอนก นาวิกมูล , 2536)

ต่อมาใน พ.ศ. 2465 โรงพิมพ์ห้างสมุดจัดพิมพ์ “มูลบทฯ” ขึ้นใหม่ คราวนี้ ฌ เปลี่ยนโฉมมาเป็น “ฌ อุปัชฌาย์” และในปีเดียวกันนี้เองฉบับของโรงพิมพ์พานิชศุภผล ก็คิดคํากํากับให้ ฌ ใหม่ เป็น “ฌ คิชฌะ (แร้ง)” มีภาพนกแร้งประกอบด้วย จนถึง พ.ศ. 2473 ครูย้วน ทันนิเทศ ได้คิดคํากํากับใหม่ เป็น “ฌ เฌอริมทาง” พร้อมมีภาพวาดต้นไม้ประกอบในหนังสือ “แบบเรียนไว” ของท่าน และก็มีการใช้ “ฌ เฌอริมทาง” มาอีกหลายคราว จนที่สุดมาถึงหนังสือ “แบบเรียน ก ไก่” ของบริษัท ประชาช่าง จํากัด ได้ปฏิวัติการกํากับอักษรให้พยัญชนะต่างๆ และใช้แทนคํากํากับของครูย้วน ทันนิเทศ เมื่อราว พ.ศ. 2490 คราวนี้ ฌ มีคํากํากับเป็น “ฌ กะเฌอ คู่กัน และใน พ.ศ. 2500 แบบเรียน ก ไก่ ของ บริษัท ประชาช่าง จํากัด ก็กลายเป็น “ฌ กระเฌอริมทาง ไปเสียอีก…

ขอย้อนกลับไปหา “แบบเรียนเร็ว เล่ม 1 ตอนต้น” ที่ใช้คําว่า “ฌ เฌอ” มาก่อนนั้น ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2448 เป็นเล่มที่เริ่มมีรูปภาพต้นไม้เขียนประกอบคําไว้ด้วย แสดงว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงรับรู้ด้วยว่า “เฌอ” ให้หมายถึง ต้นไม้ (พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่และได้สิ้นพระชนม์ต่อเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486)

สรุปแล้วนับตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการคิดคํากํากับตัว ฌ ขึ้นทั้งสิ้นจํานวน 8 คําด้วย กัน ได้แก่ 1. ฌ ฌาน  2. ฌ เฌอ 3. ฌ ฤาษีเข้าฌาน 4. ฌ อุปัชฌาย์ 5. ฌ คิญชะ (แร้ง) 6. ฌ เฌอริมทาง 7. ฌ กะเฌอ คู่กัน และ 8. ฌ กระเฌอริมทาง นี่ยังไม่นับรวมหนังสือรุ่นหลังๆ ที่อาจจะมีการคิดถ้อยคําแตกต่างออกไปอีก

จากการที่ได้คิดกํากับตัวอักษร ฌ นั้นจะเห็นได้ว่า เบื้องแรกนั้นท่านไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็น “ฌ เฌอ” หรือ “ฌ กะเฌอ” แต่เป็นเพียงต้องการให้รู้ว่า ฌ ตัวนี้สามารถจะนําไปใช้เขียนในคําไหนได้บ้างเท่านั้น จนในภายหลังเมื่อมีการติดคําว่า “เฌอ” เข้าไปแล้ว ก็กลัวว่าคนจะไม่รู้ว่า “เฌอ” คืออะไร เพราะมันไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นคําในภาษาเขมร ก็จึงได้ให้นักเขียนเขียนรูปต้นไม้ลงไว้ด้วย เพื่ออธิบายคําว่า “เฌอ” หรือ “เฌอริมทาง” ให้หมายถึง ต้นไม้

ฌ กระเฌอ กับความเกี่ยวพันทางภาษา

ปัญหาก็มีอยู่ว่า คําว่า “ต้นไม้” นั้น ภาษาเขมรเขาใช้คําว่าอะไร?

คุณมนตรี ศรีบุษรา ท่านเห็นว่าคนไทยเราใช้ “ต้นไม้” เป็นสัญลักษณ์ของ “ฌ” จนติดแล้วก็อยากจะให้ใช้ถ้อยคําในภาษาเขมรที่บอกว่าเป็นต้นไม้ให้ถูกต้อง คือใช้ “เฌอ” หรือ “เดิมเฌอ” ไม่ควรใช้ “กะเฌอ” หรือ “กระเฌอ” เพราะไม่ได้แปลว่า “ต้นไม้”

สําหรับตัวของผมเองก็เผอิญเป็นเขมรจอมปลอม พอจะรู้ภาษาเขมรอยู่บ้างขนาดน้องงูๆ ปลาๆ (เพราะน้อยกว่างู ๆ ปลา ๆ เสียอีก) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าจะอธิบายรูปต้นไม้จริงๆ แล้วก็ควรจะเป็น “ฌ เดิมเมอ” เพราะคําว่า “เดิม” แปลว่า “ต้น” และ “เฌอ” แปลว่า “ไม้” ผมไม่แน่ใจว่า “เฌอ” คําเดียวโดดๆ จะแปลว่า “ต้นไม้” ได้หรือไม่ เพราะเคยเห็นคําว่า “ปะเตี้ยะเฌอ” แปลว่า “บ้านไม้” หรือ “พแลเฌอ” แปลว่า “ผลไม้” ดังนั้น คําว่า “เฌอ” คําเดียวโดดๆ จึงไม่น่าแปลว่า “ต้นไม้”

ซึ่งข้อสงสัยในประเด็นนี้ผมอยากจะขอความรู้จากบรรดาพี่น้องชาว “ขะแมร์” แถวสุรินทร์, บุรีรัมย์ หรือครีสะเกษช่วยชี้แจงด้วย (โดยเฉพาะอาจารย์ ฉัตรชัย ชุมนุม และอาจารย์ผาสุก แย้มศรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรท้องถิ่น แห่งสํานักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุรินทร์ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนภาษาเขมร ท้องถิ่นให้ผมทั้ง 2 ท่าน) เพราะท่านเป็นเจ้าของภาษาที่แท้จริง รู้ความหมายชัดเจนดีกว่าใครๆ ทั้งหมดที่กําลังถกเถียงกันอยู่ เพื่อที่ว่าเรื่องราวของคําว่า ฌ เฌอ, ฌ เดิมเลอ หรือ ฌ กระเฌอ จะได้จบเสียที (เดิม อาจจะสะกดเป็น เดอม)

สรุปแล้วในความเห็นของผม ผมเห็นว่าถ้าต้องการจะอธิบาย ฌ ให้ทราบในความหมายว่าหมายถึงต้นไม้ ก็สมควรจะใช้ “ฌ เดิมเฌอ” แต่ถ้าหากเจ้าของภาษาท้องถิ่นเห็นว่าคําว่า “เฌอ” ตัวเดียวโดดๆ พอจะอนุโลมแปลว่า “ต้นไม้” ได้ ก็สมควรคงคําว่า “ฌ เฌอ” ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เคยทรงใช้ไว้ได้ต่อไป

แต่หากใครต้องการจะใช้คําว่า “ฌ กระเฌอ” ท่านก็ควรจะต้องวาดรูปภาพอย่างอื่นแทนต้นไม้เสีย ผมไม่ทราบว่าจะวาดภาพภาชนะชนิดหนึ่งที่จักสานด้วยไม้ไผ่สําหรับใส่ข้าวเปลือก ที่ชาวบ้านเขาเรียก “กระเชอ” ใส่แทนได้หรือไม่ ก็ขอฝากให้ไปช่วยคิดกันดูก็แล้วกัน

ไหนๆ ก็ได้พูดถึงการตั้งชื่อตัวอักษรกันแล้ว ก็อยากจะให้ยึดถือเจตนาของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ผู้ต้นคิดไว้ด้วยว่า การตั้งชื่อของท่านนั้นท่านต้องการให้นักเรียนใช้พยัญชนะให้ถูกต้องในคําที่ควรจะเป็นด้วย เช่น คํา ว่า ข อังกุษ ท่านมุ่งว่า ถ้าจะใช้เขียน “ขอสําหรับสับหัวช้าง” จะต้องใช้ ข (ขวด), คําว่า ฅ กัณฐา ซึ่ง แปลว่า “คอ” คํานี้จะต้องใช้ ฅ (ค คน), คําว่า ฒ จําเริญ ท่านก็หมายถึงคําว่า “วัฒนา” เช่นนี้เป็นต้น

ซึ่งคําเหล่านี้หากให้เด็กอ่านเองโดยไม่ชี้แจงให้เข้าใจถึงความมุ่งหมายหรือความหมายบางทีเด็กก็จะงุนงงได้เหมือนกัน แต่หากชี้แจงให้เข้าใจแล้วก็จะทําให้จดจําตัวอักษรตัวนั้นๆ ได้แม่นยําและรวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกัน ถ้าเราจะเปลี่ยนชื่อกํากับ ญ จากเดิมที่ติดปากมาแบบผิดๆ คือ ฌ กระเฌอ หรือ ฌ กระเชอ มาเป็น “ฌ เดิมเมอ” เพื่อให้ถูกต้องตามความหมายว่าหมายถึงต้นไม้ เราก็สามารถที่จะชี้แจงให้เด็กเข้าใจได้ และเด็กจะจดจําได้แม่น รู้ภาษาเขมรเพิ่มมาอีก 1 คํา ก็เป็นเรื่องที่ไม่เสียหายอะไรเลย

เรื่องราวของการเรียนภาษานั้น หากเราสนใจจริงๆ แล้วเป็นเรื่องสนุก ใครไม่เชื่อ หากมีโอกาสก็ลองไปเรียนภาษาเขมรท้องถิ่นแถวอีสานใต้ดูแล้วจะรู้ว่า ที่แท้ไทยกับเขมรนั้นยืมคําของกันและกันมาใช้จนแยกกันไม่ออก แต่เรียนแล้วจะรู้แจ้งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2562