ถกหลักฐาน “เลขไทย” ได้แบบจากเลขเขมร หรือว่ามีต้นเค้าจาก “เลขอินเดียใต้”?

เลขไทย
ภาพประกอบเนื้อหา - เลขไทย ฉากหลังเป็นอักษรเขมรโบราณ ศิลาจารึกปราสาทบันทายศรี พุทธศตวรรษที่ 16 (ใช้ประกอบเนื้อหาเท่านั้น)

“เลขไทย” ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นเลขไทย หรือได้รับแบบแผนจาก “เลขเขมร” เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่อย่างสนุกสนาน

หลักฐานที่ดีที่สุดในการพิจารณาประวัติความเป็นมา จำเป็นต้องดูจาก “จารึกโบราณ” เพื่อศึกษาถึงกระบวนวิวัฒนาการของอักษรโบราณเหล่านั้น รวมทั้งเลขไทยและเลขเขมรด้วย

Advertisement

เลขโบราณใน “จารึกเขมร”

เลขโบราณในจารึกเขมรมีหลายแบบ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีการกำหนดรูปแบบการเขียนที่แน่นอน จารึกเขมรโบราณแบ่งออกได้เป็น 2 สมัยคือ

1. จารึกเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 9-14 หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็จะตรงกับสมัยที่เรียกว่า “ทวารวดี” อักษรเขมรโบราณที่ใช้ในจารึกสมัยนี้มีรูปแบบตัวอักษรที่รับมาจาก “อักษรอินเดียใต้ (หรืออักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะ)” ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “อักษรทวารวดี” ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย

2. จารึกเขมรสมัยเมืองพระนคร มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-20 เปรียบเทียบกับไทยคือสมัยทวารวดีต่อสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น รูปแบบตัวอักษรเขมรสมัยนี้เป็นต้นแบบให้กับอักษรเขมรปัจจุบัน, อักษรขอมในประเทศไทย และอักษรไทยสุโขทัย

รูปแบบตัวเลขที่ใช้ในสมัยทั้งสองมีต่างกันไปบ้าง แต่ก็มีบางตัวที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของตัวเลขในสมัยก่อนเมืองพระนครที่มีต่อสมัยเมืองพระนครอย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นที่แน่นอนว่าตัวเลขในจารึกเหล่านี้เก่าแก่กว่า “เลขไทยสมัยสุโขทัย” ที่จะวิวัฒนาการมาเป็น “เลขไทยสมัยปัจจุบัน”

เลขอินเดียใต้ ส่งอิทธิพลสู่ เลขไทย

เพื่อความชัดเจน ผู้เขียนจะเปรียบเทียบให้เห็นโดยใช้ตัวอย่างตัวเลขที่ใช้ในจารึกเขมรโบราณ สมัยก่อนเมืองพระนคร, สมัยเมืองพระนคร และจารึกสุโขทัย (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ดังนี้

จากตัวเลขที่นำมาเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นว่าเลขที่ใช้ในจารึกเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร (ก็คือเลขอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์ปัลลวะ) ได้วิวัฒนาการเป็นเลขเขมรสมัยเมืองพระนคร และจากเลขเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร ก็ส่งอิทธิพลต่อเลขไทยสมัยสุโขทัย (จารึกพ่อขุนรามคำแหง)

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่า “เลขอินเดียใต้ (ราชวงศ์ปัลลวะ)” เป็นที่มาของเลขที่ใช้ในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด (รวมทั้งเลขที่ใช้ในอาณาจักรทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย)

ต่อมาเลขอินเดียใต้ได้วิวัฒนาการกลายเป็น เลขเขมร โบราณสมัยเมืองพระนคร (เป็นลักษณะเฉพาะ) แล้วจากนั้นจึงส่งอิทธิพลมายังเลขไทยสมัยสุโขทัย จากนั้นจึงกลายเป็นเลขไทยในปัจจุบัน ด้วยการอธิบายตามวิวัฒนาการของรูปแบบตัวอักษร (Palaeography) ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562