คำยืมภาษาเขมรที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มี คำยืม ภาษาเขมร
ศิลาจากรึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 (ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีข้อความหรือถ้อยคำจำนวนหนึ่งที่ปรากฏคำยืมจาก “ภาษาเขมร” แสดงให้เห็นว่าสุโขทัยรับอิทธิพลจากเขมรในระดับหนึ่ง ดังนีิ้

ด้านที่ 1 

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 7 ว่า “น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูฏ่อ” คำว่า “เบก” เป็นคำในภาษาเขมรโบราณ ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณว่า “เปก” มีความหมายว่า “เปิด” เช่น ในศิลาจารึก K. 940 ว่า “เปฺร เปก อาย ตีรถคฺราม” แปลว่า “ใช้ให้เปิดที่หมู่บ้านตีรถะ” (ศิลาจารึกเขมรโบราณรูปเขียน บ. กับ ป. เขียนแบบเดียวกัน และโดยปกติไทยมักเขียนรูป บ. กับ ป. เสมอในคำยืมภาษาเขมร)

Advertisement

ดังนั้น คำว่า “เบกพล” น่าจะมีความหมายว่า “เปิดพล” คือกิริยาที่ขับช้างเปิดทางให้พลทหารออกไป

อ. ศานติ ภักดีคำ ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า “เบก” ต่อมาในภาษาเขมรสมัยกลางได้เปลี่ยนระบบการเขียนจากสระเอ มาเป็นสระเออ จึงเป็น “เบีก” หรือ “เบิก” ซึ่งตรงกับการใช้ของภาษาไทยในยุคหลัง หากรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 ขึ้นใหม่ ก็น่าจะทรงเขียนว่า “เบิก” มากกว่า “เบก”

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 11 ว่า “อ ชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัว” คำว่า “บำเรอ” เป็นคำในภาษาเขมรโบราณ ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณว่า “ปมฺเร” มีความหมายว่า “การรับใช้, ผู้รับใช้” เช่น ในศิลาจารึก K. 415 ว่า “อฺนก ต ปมฺเร กมฺนุง ต วฺระ ทฺวาร” แปลว่า “คนซึ่งรับใช้ในที่พระทวาร”

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 14 ว่า “มีปลา ในนามีเข้า เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูทางเพื่ (อน)” คำว่า “จกอบ” เป็นคำในภาษาเขมรโบราณ ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณว่า “โจฺกป” มีความหมายว่า “ภาษีที่เก็บบนเรือ” เช่น ในศิลาจารึก K. 44 ว่า โจฺกป อุจิต สมฺวตฺสร”

อย่างไรก็ตาม ภาษาเขมรตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมาถึงปัจจุบันไม่มีการเขียนด้วยรูปนี้ แต่เปลี่ยนไปเขียนเป็น โกบ หรือ จงฺโกบ ดังนั้น คำว่า “จกอบ” จึงน่าจะเป็นคำยืมจากภาษาเขมรโบราณอย่างแน่นอน

ด้านที่ 2

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 6 ว่า “กลางเมืองสุกโขไทนี้ มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี” คำว่า “ตระพัง” เป็นคำในภาษาเขมรโบราณ ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณว่า “ตฺรวง” หรือ “ตฺรวาง” มีความหมายว่า “แหล่งน้ำของหมู่บ้าน” เช่น ในศิลาจารึก K. 56 ว่า “โลฺวะ ตฺรวง ถฺลา” แปลว่า “ถึงสระน้ำใส นอกจากนี้ ในศิลาจารึกวัดเขากบก็มีการใช้คำว่า “ตระพัง” เช่นเดียวกัน ว่า “(ปร) ดิสถาในรามอาวาสนนนขุดตรพงง

สำหรับคำว่า “ตระพัง” ในภาษาเขมรปัจจุบันเขียนว่า “ตรฺพําง” แปลว่า “แอ่ง, หนอง, สระ”

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 18 ว่า “ญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลองด้วยเสียงพาดเสียงพี (น)” คำว่า “ดํ” นี้น่าจะมาจากคำว่า “ตํ” ในภาษาเขมรโบราณ มีความหมายว่า “ตี” ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณ เช่น ในศิลาจารึก K. 814 ว่า ตํ สฺคร” แปลว่า “ตีกลอง”

อย่างไรก็ตาม ในภาษาเขมรปัจจุบันเขียนคำนี้ว่า “ฎํ” อ. ศานติ ภักดีคำ อธิบายว่า ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่เขียนว่า “ดํ” นั้น น่าจะรับมาจากรูปเขียนในภาษาเขมรโบราณ ส่วนคำว่า “บงคํ” นั้น ภาษาเขมรโบราณแปลว่า “บังคม, การบูชา”

ศิลาจากรึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) ด้านที่ 3 (ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

ด้านที่ 3

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 2 ว่า “สาน มีพระอจน มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ปาหมาก” คำว่า “ปราสาท” เป็นคำในภาษาเขมรโบราณ ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณว่า “ปฺราสาท” มีความหมายว่า “หอสูง, วัด, ปราสาท (ของกษัตริย์)” เช่น ในศิลาจารึก K. 878 ว่า “สมรจ วฺระ ปฺราสาท แปลว่า “สำเร็จพระปราสาท” คำนี้ใช้ในความหมายรวม ๆ มาตั้งแต่ในศิลาจารึกเขมรโบราณ

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 6 ว่า “มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้น” คำว่า “ขพุง” เป็นคำในภาษาเขมรโบราณ เขียนว่า “กฺวุง” หรือ “ขฺวุง” (ว. ต่อมาในจารึกสมัยหลังพระนครใช้ พ.) มีความหมายว่า “สิ่งที่นูน, นูน, โป่งขึ้น. ยอดสุดของภูเขา, วาสนา, ความโลภ” คำนี้ใช้เป็นชื่อทาส และใช้ขยายความสูงของภูเขา ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณ เช่น ในศิลาจารึก K. 855 ว่า “ต ขฺวุง วฺนํ” แปลว่า “อันยอดสูงสุดของภูเขา”

ดังนั้น “พระขพุง” จึงหมายถึง “ภูเขาสูง” นั่นเอง การที่สุโขทัยยึดเอาภูเขาสูงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น อาจมาจากคติเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาส ที่สืบทอดมาตั้งแต่เขมรโบราณสมัยพระนคร

อ. ศานติ ภักดีคำ กล่าสรุปเกี่ยวกับคำยืมจากภาษาเขมรที่ปรากฏใน ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่า “คำยืมภาษาเขมรที่ปรากฏการใช้ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงส่วนใหญ่เป็นคำเขมรโบราณ ซึ่งภาษาเขมรปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงรูปเขียนและความหมายไปแล้ว แต่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงยังปรากฏการใช้ในบริบทความหมายที่ร่วมกับศิลาจารึกเขมรโบราณหลักอื่นอยู่”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศานติ ภักดีคำ. (2562). แลหลังคำเขมร-ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2564