“หน้ากาล” หรือเกียรติมุข คืออะไร ทำไมชอบปรากฏอยู่ตามโบราณสถาน

ลาบูบู้ หน้ากาล เกียรติมุข
ซ้าย- หน้ากาล, ขวา- ลาบูบู้ (ภาพ : กรมศิลปากร และ POPMART)

โดน “เคลม” ไปเรียบร้อยสำหรับ “ลาบูบู้” อาร์ต ทอย สุดคิวท์ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์มาแรงตอนนี้ เพราะใคร ๆ ก็อยากรับเลี้ยงน้อง ถึงขั้นซื้อทองให้ใส่ ซื้อเสื้อผ้าให้สวม ดูแลดุจลูกในไส้ แต่… ล่าสุดเจ้าลาบูบู้ถูกอ้างว่ามีต้นแบบมาจาก “หน้ากาล” หรือ “เกียรติมุข” ในวัฒนธรรมเขมร เพราะมีลักษณะเด่นเหมือนกันคือ ตาโต เขี้ยวใหญ่ ปากกว้าง เหมือนกัน!?

เรื่องของการเคลมคงต้องปล่อยให้มีการถกเถียง งัดหลักฐานมาอ้างกันไป แต่วันนี้ เรามาทำความรู้จักกันว่า “หน้ากาล” คืออะไร?

“หน้ากาล” (Kala face) หรือ “เกียรติมุข” (kirtimukha) บ้างเรียก สิงหมุข เป็นลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับซุ้มจระนำของโบราณสถาน มักประดับอยู่ที่ยอดซุ้ม สะท้อนถึงลวดลายที่นิยมสร้างสรรค์ในศิลปะสุโขทัย รวมทั้งสะท้อนถึงคติความเชื่อที่ปรากฏในงานศิลปกรรมสมัยสุโขทัยด้วย

หน้ากาลมีลักษณะเป็นหน้าสัตว์ในเทพนิทาน เป็นรูปหน้ายักษ์ปนสิงห์ หรือใบหน้าอสูร ที่มีลักษณะดุร้าย คิ้วขมวด นัยน์ตากลมโตถลน จมูกใหญ่ ปากกว้างเห็นฟันบนและมีเขี้ยว ไม่มีริมฝีปากล่าง ไม่มีลำตัว มีแขนออกมาจากด้านข้างของศีรษะสวมเครื่องประดับศีรษะลักษณะเป็นกระบังหน้า

ตามคติในศาสนาฮินดู หน้ากาลหมายถึง “เวลา” ผู้กลืนกินสรรพสิ่งทั้งมวล ดังจะเห็นว่า หน้ากาลมีลักษณะคล้ายกำลังกลืนกินตนเอง แม้แต่ริมฝีปากล่างของตน หน้ากาลในศิลปะไทยจึงปรากฏแต่เพียงหน้า ไม่มีตัว และเป็นผู้ครอบครองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

“กาล” ในหน้ากาล มีความหมายเดียวกับ “เวลา” ซึ่งเป็นชื่อของพระยม ผู้พิพากษาคนตายในอาถรรพเวทของศาสนาฮินดู ต่อมาจึงมีความเชื่อว่าการสร้างหน้ากาลไว้เหนือประตูทางเข้าศาสนสถานจะเป็นเสมือนสิ่งคุ้มครองปกปักรักษามิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาสู่ศาสนสถานนั้น ๆ

ส่วน “เกียรติมุข” มีตำนานเล่าว่า เกิดจากนรสิงห์ตนหนึ่งที่พระศิวะเคยประทานพรให้แล้วเกิดความทะเยอทะยาน พระองค์จึงกลับมาปราบโดยตัดเศียร แล้วนำไปประดับไว้ที่ทางเข้าศาสนสถาน เพื่อให้ลมหายใจของมันมอบพลังให้แก่ผู้ที่เข้ามายังศาสนสถาน

คำว่าเกียรติมุขมาจากภาษาสันสกฤต ประกอบด้วยคำสองคำ คือ “กีรฺติ” แปลว่า คำสรรเสริญ หรือเกียรติ และคำว่า “มุข” แปลว่า หน้า เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจะหมายถึง หน้าอันมีเกียรติ

อีกตำนานของเกียรติมุขในเทพปกรณัมฮินดูได้เล่าถึง “ชลันธร” ผู้ถือกำเนิดจากการหยอกล้อกันระหว่างพระศิวะและพระแม่อุมาเทวี เมื่อชลันธรเติบใหญ่และได้บำเพ็ญเพียรขอพรจากพระศิวะให้มีกำลัง และอำนาจ ต่อมาเมื่อได้ฟังเรื่องราวความงามของพระแม่อุมาเทวีจากฤๅษีนารท ด้วยความที่ชลันธรอยากมีชายา เขาจึงให้ราหูเป็นทูตนำความต้องการของเขาไปทูลให้พระศิวะทรงทราบ

เมื่อราหูเดินทางมาเขาไกรลาส และได้ทูลความประสงค์ของชลันธรแก่พระศิวะแล้ว ปรากฏว่าพระศิวะทรงพิโรธเป็นอย่างมาก จนเกิดยักษ์หน้าสิงห์ตนหนึ่งออกมาจากระหว่างคิ้วเพื่อจะจับราหูกิน ด้วยความกลัว ราหูจึงขอขมาพระศิวะ บอกว่าตนเป็นเพียงตัวแทนของชลันธรเท่านั้น พระศิวะจึงห้ามยักษ์หน้าสิงห์ตนนั้นไว้

แต่ยักษ์หน้าสิงห์ที่ออกมาทูลต่อพระศิวะว่า ตนเองหิว ต้องการกินอะไรสักอย่าง พระศิวะจึงสั่งให้กินร่างกายตนเองจนเหลือแต่หัว รวมถึงประทานชื่อให้ว่า “เกียรติมุข” ซึ่งแปลว่าหน้าอันมีเกียรติ และให้ทำหน้าที่เฝ้าประตูทวารบาลแก่พระศิวะ เมื่อใครไม่ให้ความเคารพนับถือเกียรติมุขก็ถือว่าไม่ให้ความเคารพพระศิวะเช่นกัน

ส่วนหน้าตาของหน้ากาลหรือเกียรติมุขจะคล้ายคลึง “ลาบูบู้” หรือไม่ คุณผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรกัน? 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เฟซบุ๊ก เพจ อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม สระแก้ว. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2567. (ออนไลน์)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย. เกียรติมุข หรือ หน้ากาล. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2567. (ออนไลน์)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). หน้ากาล. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2567. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2567