มหาศิวาราตรี พิธีบวงสรวง “พระศิวะ” กับความเชื่อมโยง วันมาฆบูชา?

รูปปั้นพระศิวะ รัฐทมิฬนาฑู อินเดีย (ภาพโดย Sandeep Kr Yadav ใน Unsplash)

รู้จัก มหาศิวาราตรี พิธีบวงสรวง “พระศิวะ” กับความเชื่อมโยง วันมาฆบูชา ในพุทธศาสนา?

มหาศิวาราตรี (Maha Shivaratri) หรือ “ราตรีแห่งพระศิวะ” เป็นวันสำคัญประจำปีของชาวฮินดู ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ (บ้าง 14 ค่ำ) ในเดือน “ผลคุณ” ตามปฏิทินจันทรคติฮินดู หรือเดือน “มาฆะ” ในพุทธศาสนา ชาวฮินดูจะจัดงานเฉลิมฉลองแด่ พระศิวะ (Shiva) หรือ “พระอิศวร” เป็นประเพณียามค่ำคืนที่ลากยาวจนถึงเช้าวันใหม่ จึงเรียกว่า “มหาศิวาราตรี” (บ้างสะกด มหาศิวราตรี, มหาศิวะราตรี) หรือ ค่ำคืนอันยิ่งใหญ่แห่งพระศิวะมหาเทพนั่นเอง

พระศิวะ เป็น 1 ใน 3 มหาเทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันประกอบด้วย พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระศิวะ เรียกรวมกันเป็น “ตรีมูรติ” พระศิวะเป็นที่รู้จักในฐานะ “เทพผู้ทำลาย” แต่เป็นการทำลายเพื่อ “ชำระล้าง” ให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ชาวฮินดูจำนวนมากนับถือและนิยมบูชาพระศิวะจนเกิดเป็นลัทธิใหญ่ของศาสนาฮินดู เรียกว่า “ไศวนิกาย” โดยมี “ศิวลึงค์” เป็นวัตถุบูชาและรูปแทนประจำพระองค์

รูปปั้น พระศิวะ
รูปปั้นพระศิวะ (ภาพจาก pixabay)

ตำนานที่มาพิธี “มหาศิวาราตรี” ในคติฮินดูมีหลายตำนานด้วยกัน ที่แพร่หลายที่สุดเล่าว่า มีพรานป่าผู้หนึ่งปีนขึ้นไปสร้างห้างอยู่บนต้นมะตูมใหญ่หลังกลับจากล่าสัตว์ เหตุที่ล่าสัตว์ไม่ได้เลยในวันนั้น เขาจึงตั้งใจจะพักผ่อนค้างคืนก่อนกลับบ้าน ปรากฏว่าคืนนั้นพรานป่าเกิดอาการหนาวสั่นเพราะน้ำค้างลง ประกอบกับความหิวโหย ทำให้เขานอนดิ้นกระสับกระส่ายตลอดเวลา น้ำค้างที่เกาะตามใบมะตูมจึงร่วงลงสู่ศิวลึงค์ที่ประดิษฐานใต้ต้นมะตูมนั้นตลอดทั้งคืน

พระศิวะซึ่งประทับบนเขาไกรลาศรับทราบด้วยญาณทิพย์ถึงน้ำค้างที่ชะโลมบนศิวลึงค์ พระองค์เข้าใจผิดว่ามีผู้ทำการเซ่นสรวงบูชาด้วยใบมะตูมและน้ำค้างบริสุทธิ์ตลอดคืน จึงประทานพรให้พรานป่าพ้นจากบาปทั้งปวงที่เขาล่าสัตว์มาตลอดชีวิต… เป็นที่มาของพิธีกรรมบวงสรวงบูชาพระศิวะนั่นเอง บางตำนานยังเชื่อว่า แรม 15 ค่ำ เดือนผลคุณ คือวันอภิเษกสมรสของพระศิวะกับพระแม่ปารวตีด้วย 

ชาวฮินดูลัทธิไศวนิกายและผู้บูชาพระศิวะทั้งหลายจะประกอบพิธีกรรม มหาศิวาราตรี ที่เทวสถานของพระศิวะ รวมถึงพิธีลอยบาปริมฝั่งแม่น้ำคงคา พวกเขาจะสวดมนต์สรรเสริญ ทำสมาธิ และนำศิวลึงค์มาบูชาด้วยการอาบน้ำนม น้ำผึ้ง น้ำมันเนย ขี้เถ้า ใบมะตูม และดอกไม้ พร้อมขอพร ผู้ประกอบพิธีเชื่อว่าการอดหลับอดนอนและอดข้าวอดน้ำทั้งคืนระหว่างประกอบพิธีมหาศิวาราตรี จะทำให้สมหวังในคำอธิษฐานหรือพรที่ขอไปด้วย

มหาศิวาราตรี กับ มาฆบูชา

มหาศิวาราตรี เคยถูกเชื่อมโยงเข้ากับ วันมาฆบูชา ในพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ คำอธิบายระบุว่า เหตุการณ์ที่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูป ซึ่งพระพุทธเจ้าอุปสมบทให้ (เอหิภิกขุอุปสัมปทา) มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์อย่างพร้อมเพรียงกันในวันดังกล่าว มีความเกี่ยวพันกับวันมหาศิวาราตรีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพระอรหันต์เหล่านั้น (อาจ) เคยนับถือเทพฮินดู คือ พระศิวะ มาก่อน เมื่อวันพิธีมหาศิวาราตรีมาบรรจบ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องประกอบพิธีกรรมพราหมณ์-ฮินดูอีกต่อไป จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน

เนื้อหาข้างต้นถือเป็นการอธิบาย “เหตุ” แห่งการมาชุมนุม “โดยมิได้นัดหมาย” ของพระภิกษุจำนวนมากอย่างเป็นเหตุผลในระดับหนึ่ง แต่ข้ออธิบายข้างต้นหนักแน่นมากน้อยเพียงใด? ประเด็นนี้อาจต้องขยายความกันเสียหน่อยว่าแท้จริงแล้ว พระศิวะ เป็นที่นิยมนับถืออย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยพุทธกาลหรือก่อนพุทธกาลหรือไม่

รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ จากสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เคยให้ข้อมูลว่า การบูชาและความรับรู้เกี่ยวกับพระศิวะมีหลักฐานมาอย่างยาวนานในบริเวณลุ่มน้ำสินธุ ที่เมืองโมเฮนโจดาโรกับเมืองฮารัปปา แหล่งกำเนิดอารยธรรมอินเดียโบราณ ปรากฏเป็นแผ่นดินเผารูปมนุษย์มีลักษณะคล้ายเขาสัตว์อยู่บนศีรษะและนั่งในท่าโยคะ

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บุคคลดังกล่าวน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าองค์สำคัญ และมีแนวโน้มจะเป็น พระศิวะ รวมถึงการค้นพบแท่งหินยาวรูปทรงกระบอกขัดมันและหินทรงกลม สื่อถึงอวัยวะเพศชายและหญิง อันเป็นต้นแบบของการบูชาศิวลึงค์ในเวลาต่อมา

แผ่นดินเผาที่สันนิษฐานว่าเป็น “พระศิวะ” ในยุคแรก นั่งในท่าโยคี และเป็น “Lord of the Animals” หรือเจ้าแห่งสรรพสัตว์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เรื่องราวของพระศิวะยังปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์เก่าแก่ของพราหมณ์-ฮินดู ในนาม “รุทร” (อ่านว่า รุท-ทะ-ระ) แปลว่า “ผู้ร้องคำราม” หมายถึงเทพเจ้าผู้ดุร้าย ก่อนจะปรากฏนาม “ศิวะ” ที่แปลว่า “การชุบให้สะอาด” ในภายหลัง ความรับรู้และการบูชาพระศิวะของชาวฮินดูล้วนอยู่ในคัมภีร์ปุราณะของลัทธิไศวนิกาย

พัฒนาการของพระศิวะที่ควบคู่มากับอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และหลักฐานในคัมภีร์ยุคพระเวท คือสิ่งบ่งชี้ว่ามีการบูชาพระศิวะในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาลราว ๆ หนึ่งสหัสวรรษ (1 พันปี) เป็นอย่างน้อยหรือมากกว่านั้น 

อย่างไรก็ตาม การสร้างศาสนสถานอันเป็นหลักฐานแสดงถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระศิวะ เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 2 นั่นคือ วิหารไกรลาศ (Kailasa Temple) ถ้ำเอลโลรา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ส่วนลัทธิไศวนิกายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอาณาจักรฮินดูทั่วอินเดียหลังล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 4 มาแล้ว ก่อนจะแพร่มาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อม ๆ กับพุทธศาสนา

นอกจากนี้ สังคมอินเดียในสมัยพุทธกาลซึ่งคาบเกี่ยวปลายยุคพระเวท ยังมีการบูชาเทพเจ้าหลากหลายองค์เกินกว่ารวมศูนย์ไว้ที่พระศิวะ ยุคดังกล่าวถือว่าศาสนาฮินดูคือ “ศาสนาพราหมณ์” อย่างแท้จริง 

พราหมณ์หรือนักบวชมีอิทธิพลโดยตรงต่อผู้คนมากกว่าเทพเจ้า เพราะเป็นสื่อกลางในการ “สื่อสาร” กับทวยเทพทั้งหลายผ่านการเซ่นสรวง บูชายัญ ขับร้องบทสวดภาวนา พิธีกรรมอันศักดิสิทธิ์ล้วนมีพราหมณ์เป็นผู้ดำเนินการโดยใช้ “ไฟ” เป็นส่วนประกอบสำคัญของพิธี ดังจะเห็นว่าพุทธสาวกรุ่นแรก ๆ หรือแม้แต่ 2 ดาบส พระอาจารย์ของพระพุทธเจ้าก็อยู่ในกลุ่มลัทธิบูชาไฟ ไม่ได้เจาะจงไปที่การบูชาพระศิวะโดยตรง

ยังมีแนวโน้มด้วยว่าในบรรดาเทพเจ้าจำนวนมากที่ถูกบูชา ณ ช่วงเวลาดังกล่าว พระพรหม เป็นที่นิยมนับถือแพร่หลายมากกว่าพระศิวะ ในพื้นที่ของรัฐและชุมชนโบราณสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าเสด็จสั่งสอนพระธรรมตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์เสียด้วยซ้ำ 

สิ่งนี้ยิ่งสะท้อนว่า พระศิวะ อาจมีอิทธิพลต่อพระสาวกรุ่นแรก ๆ หรือพระอรหันต์ที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน 3 “น้อยกว่า” ที่เข้าใจกัน หรืออาจไม่มีส่วนใด ๆ เลย

ยิ่งไปกว่านั้นหากทบทวนกำหนดวันสำคัญทั้งสองอีกครั้ง จะพบว่าแม้จะตรงกับเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติเหมือนกัน แต่ มหาศิวาราตรี จะนับวัน “แรม” 14-15 ค่ำ ขณะที่ มาฆบูชา จะนับวัน “ขึ้น” 15 ค่ำ เป็นเหตุให้ในแต่ละปีวันสำคัญทั้งคู่ไม่ตรงกันแต่อย่างใด 

ยกตัวอย่างปีพุทธศักราช 2567 หากอิงปฏิทินวัดแขก สีลม วันมหาศิวาราตรีตรงกับวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม ขณะที่ วันมาฆบูชา ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่า มหาศิวาราตรี มีส่วนทำให้พระอรหันต์มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แทนการไปทำพิธีบวงสรวงพระศิวะ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศานติ ภักดีคำ, Matichon Academy. (สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2566) : Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์ “มหาศิวะราตรี ค่ำคืนแห่งพระศิวะ”. <https://www.matichonacademy.com/tour-story/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87>

SADHGURU (Retrieved Mar 3, 2023) : Why Mahashivratri is Celebrated and the Significance of Mahashivratri. <https://isha.sadhguru.org/mahashivratri/significance-of-mahashivratri/>

Dr. Alexander Berzin, Study Buddhism (Retrieved Mar 3, 2023) : Indian Society and Thought at the Time of Buddha. <https://studybuddhism.com/en/advanced-studies/history-culture/buddhism-in-india/indian-society-and-thought-at-the-time-of-buddha>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2566