“ศิวลึงค์” เป็นวัตถุเคารพที่ยิ่งใหญ่สุดของมนุษย์ได้อย่างไร เผยรากตำนานตั้งแต่โบราณ

รูปปั้นพระศิวะ (ภาพจาก pixabay)

ศิวลึงค์ นี้ถือเป็นสิ่งเคารพอย่างหนึ่งของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ในอินเดีย

วัตถุเคารพนี้คือสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของ พระศิวะ หรือ อิศวร ซึ่งเป็นเทพเคารพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์

ศิวลึงค์ หรืออวัยวะเพศชาย คือต้นกำเนิดของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ ชีวิตทุกชีวิตในโลกดำรงอยู่ได้เนื่องมาจากผลของการร่วมกันระหว่างสาระสำคัญของเพศชายและหญิง

อนึ่งอำนาจในการสร้างสรรค์และสืบต่อของอวัยวะเพศนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นแผ่นดิน และพืชพันธุ์ธัญญาหารในโลกอีกด้วย

ลัทธิบูชาศิวลึงค์ เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว หรือ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดขึ้นครั้งแรกที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุในแคว้นปัญจาบของอินเดีย

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณเมืองโบราณโมเฮนโจดาโร และฮารัปปา ในแคว้นปัญจาบตะวันตก และทางเหนือของเมืองการจี เมื่อ ค.ศ. 1922 และ 1924 (พ.ศ. 2465 และ 2467) ได้พิสูจน์เรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อถือของคนในสมัยนั้น หลักฐานเหล่านี้มีที่ประทับตราทำเป็นรูปผู้ชายที่ศีรษะมีเขาสัตว์ และมีสัตว์อยู่ล้อมรอบ

รูปนี้อาจหมายถึงพระศิวะ เทพแห่งสัตว์นั่นเอง

การขุดค้นที่เมืองฮารัปปา ผู้ขุดค้นได้พบหินเล็ก ๆ รูปทรงกระบอกและรูปกลม หินรูปทรงกระบอกอาจหมายถึงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และตัวแทนของพระศิวะในแบบของอวัยวะเพศชาย

ส่วนหินรูปกลมแผ่นแบน ๆ ก็คือสัญลักษณ์อวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เลือดเนื้อ และการสืบต่ออายุ หรือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมารดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิตของมนุษยชาตินั่นเอง

พระศิวะนั้น พระองค์เป็นเทพที่มีทั้งความกรุณาและโหดเหี้ยมน่าสะพรึงกลัว มีพระนามต่าง ๆ กันถึง 48 พระนาม เช่น รุทร, อิศวร, มหาเทพ, มหากาล, ปรเมศวร, ปสุบดี, นิลกาฬ, ภูเตศวร, หรเทพ ฯลฯ พระองค์คือเทพที่มีขี้เถ้าปกคลุมพระวรกาย พระเกศาสยายยาวเป็นเส้นตรง มีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวบนมั่นมวยผม มีพระแม่คงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์พุ่งออกมาจากยอดมวยผม พระเนตรโปน และมีพระเนตรที่ 3 อยู่ตรงกลางหน้าผาก พระเนตรนี้ปิดอยู่ตลอดเวลา

พระศิวะทรงมีเครื่องประดับคือกําไล มีนาคหรืองูเห่าเป็นสังวาลพันรอบพระศอ และพระวรกายสรวมหนังเสือ พาหนะของพระองค์คือ วัวนนทิ หรือนานดิน (Nandin) ซึ่งไทยเราเรียกว่าโคอสุภราช เป็นต้น

อาวุธสัญลักษณ์ที่สําคัญของพระศิวะคือ ตรีศูล (Trident)

มีมเหสีคือพระนางอุมา หรือปารพต มีโอรส 2 องค์คือ พระขันธกุมาร หรือกาติเกยะ เทพเจ้าแห่งสงคราม ทรงนกยูงเป็นพาหนะ และพระคเณศ หรือพิฆเณศร์ เทพเจ้าแห่งศิลปกรรมการศึกษา ทรงหนูเป็นพาหนะ

ชาวฮินดูที่นับถือพระศิวะเรียกว่าพวกไศวเวษ ลัทธิไศวนิกาย พวกเขานับถือเทพองค์นี้ 2 แบบด้วยกัน

แบบแรกบูชาพระองค์ในรูปมนุษย์มี 2 กรบ้าง 4 กรบ้าง มีหลายพระนามหลายปาง มีสัญญลักษณ์และถืออาวุธต่างกัน

อีกแบบหนึ่งคือศิวลึงค์ อวัยวะเพศชาย

รูปเคารพปางนี้ทําด้วยหินรูปทรงกระบอกประดิษฐานอยู่ในเทวาลัย และตามที่สาธารณะทั่วไป

ในอินเดียปัจจุบันนี้ เทวสถานที่ประดิษฐานศิวลึงค์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอินเดียคือ กลุ่มถ้ำวิหารที่เอลจูรา เอเลฟันตะ หน้าเมืองบอมเบย์ อินเดียตะวันตก

นอกจากนี้ในอินเดียตะวันออกแถบเบงกอล รัฐอัสสัมพิหาร ก็มีวิหารประดิษฐานศิวลึงค์ รวมทั้งในอินเดียใต้บริเวณที่ราบสูงเดคข่าน ทามิลนาดู โอริสสา บูทเนสวาริ ปูรี มัทราส เป็นต้น

รูปเคารพศิวลึงค์ตามสถานที่ดังกล่าว เบื้องต้นนี้มีหลายแบบหลายลักษณะ เช่นมีรูปใบหน้าของคนหรือเทพเจ้าประดับอยู่ที่ผิวของหินแท่งทรงกระบอก เรียกว่า มุขลึงค์ และบางศิวลึงค์มีรูปหน้าคนประดับอยู่ทั้ง 4 ด้าน 4 ทิศเรียกว่า จตุรมุขลึงค์

รูปหน้าคนนี้เขาเชื่อกันว่าเป็นพระพักตร์ของพระศิวะนั่นเอง

บางศิวลึงค์แปลกออกไปคือ มีรูปพระศิวะที่เป็นมนุษย์ยืนอยู่เต็มองค์ที่ผิวของหินที่สลักเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ศิวะลึงค์ประเภทนี้มีชื่อว่า Gudimalam Linga และในอินเดียใต้และตะวันตกมีวิหารที่ประดิษฐานศิวลึงค์ทั้งแบบธรรมดาและแบบอยู่รวมกับอวัยวะเพศหญิงก็มี

นอกจากนี้ยังมีชาวฮินดูพวกหนึ่งนิยมทํารูปศิวลึงค์ขนาดเล็กมาห้อยคอ เพื่อเป็นเครื่องรางของขลังวัตถุบูชาติดตัวเพื่อความเป็นศิริมงคล ชาวฮินดูพวกนี้มีชื่อเฉพาะว่า ลิงคายัต (Lingaya Cult)

ส่วนศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่สถานที่บูชากลางแจ้งทั่วอินเดียนั้น มีลักษณะหินรูปทรงกระบอกตั้งอยู่โดด ๆ บางแห่งเป็นหินทรงกระบอกตั้งอยู่ตรงกลางและมีหินรูปทรงกลมแผ่นหนาเป็นฐาน บางรูปก็มีรูปปั้นเล็ก ๆ ของโคนนทินอนหมอบอยู่ตรงหน้าศิวลึงค์และข้างซ้ายขวาของรูปเคารพนี้ จะมีรูปจําลองขนาดเล็กของตรีศูล อาวุธของพระศิวะปรากฏอยู่ด้วย

ประวัติกำเนิดของศิวลึงค์นี้พิสดารมาก มีหนังสือตำนานนิยายปรัมปราของอินเดียกล่าวถึงกันมากเหตุมากผล จะขอนำมากล่าวไว้บางเรื่อง อย่างเช่น คัมภีร์ฤคเวทที่แต่งระหว่าง 3,000-2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชกล่าวว่า ประชาชนในสมัยพระเวทนับถือพระเป็นเจ้าในแบบของอวัยวะเพศ (Shishna-Vevara)

หนังสืออุปนิษัทหรือปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ก็กล่าวถึงศิวลึงค์ว่า เป็นวัตถุที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช สิ่งนี้คือพระเจ้าอิสาน ที่ทรงมีอำนาจเหนืออวัยวะเพศหญิงทั้งปวงในโลก เทพเคารพนี้ทรงเป็นประธานของชีวิตสัตว์โลกทั้งปวงด้วย

ส่วนคัมภีร์ปุราณะ กล่าวไว้ถึงกำเนิดของศิวลึงค์น่าสนใจมากว่า

ครึ่งหนึ่งพระศิวะกำลังสมัครสังวาสกับพระอุมาชายาในที่โล่งแจ้งบนเขาไกรลาส ในขณะเดียวกันนั้น เทพเจ้าองค์อื่นๆ ได้เสด็จมาที่เขาไกรลาส เทพทั้งหลายมาเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าเช่นนั้นเข้าก็หมดความเคารพเลื่อมใสในพระศิวะทันที พากันหัวเราะเยาะเย้ย และแสดงอาการรังเกียจเดียจฉันท์

พระศิวะต่อมาทราบเรื่องนี้เข้าจึงโกรธและเสียใจจนสุดขีด ถึงกับวิสัญญีภาพสิ้นลมหายใจทันที

แต่ก่อนที่จะสวรรคตพระองค์ได้ตรัสว่า รูปใหม่ของพระองค์คืออวัยวะเพศ ลึงค์ ซึ่งจะหมายถึงตัวแทนของพระองค์จะกลายเป็นวัตถุบูชาของผู้ที่นับถือพระองค์ต่อไปในการภายหน้า มนุษย์ผู้ใดบูชาลึงค์ในวันที่ 14 ของเดือนมาฆ (กุมภาพันธ์) และบูชาต่อไปในคืนวันที่ 15 ของเดือนนั้น ผลบุญจะส่งให้คนนั้นไปจุติบนสวรรค์เขาไกรลาส

ยังมีหลักฐานอื่นๆ กล่าวถึงกำเนิดที่มาของศิวลึงค์อีกอย่าง เช่นพระศิวะเองได้แสดงเป็นรูปศิวลึงค์ให้บรรดาสาวกของพระองค์ได้เห็นและจดจำ ในวันที่สาวกพากันบูชาเทพตรีมูรติ

วันนั้นพระพรหมและพระนารายณ์ (วิษณุ) ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปรากฏให้เห็นในรูปเทพมนุษย์ ส่วนพระศิวะปรากฏร่างในรูปอวัยวะเพศชาย มีดวงตาของพระองค์ประดับประดาอยู่เต็มไปหมด สาวกที่เห็นวัตถุนั้นก็นับถือและเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพระศิวะอย่างแท้จริง นับตั้งแต่นั้นมา

ตำนานอีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่า เป็นเทพที่โปรดในการเสพย์เมถุนกับบรรดาชายาต่างๆ ดังนั้นมนุษย์จึงคิดค้นหาวิธีสร้างวัตถุบูชาขึ้นมาเพื่อให้ตรงกับเหตุการณ์หรือลักษณะของพระเป็นเจ้า

มีฤาษีจนหนึ่งชื่อว่า ภิกครุ ได้สร้างวัตถุบูชาเป็นอวัยวะเพศชายเพื่อบูชาพระศิวะ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดมาก ดังนั้นจากตัวอย่างแรกที่ฤาษีทำไว้นี้เอง มนุษย์คนอื่นๆ จึงบูชาเทพองค์นี้ด้วยอวัยวะเพศ นับตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงกำเนิดศิวลึงค์เกี่ยวข้องกับรูปเคารพของพระศิวะในปางที่ชื่อ ลิงกตภวมูรติ มีเรื่องเล่าว่า

ครั้งหนึ่งพระพรหมและพระวิษณุทะเลาะวิวาทกันในเรื่องที่ว่าใครเป็นผู้สร้างโลกที่แท้จริง ในขณะวิวาทกัน ด้วยการใช้อาวุธประหัตประหารกันนั้น ได้มีอวัยวะเพศชายมหึมาเกิดขึ้นต่อหน้าพระพรหมและพระวิษณุ รูปนั้นแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เทพทั้งสองละทิฐิ พากันเคารพบูชาอวัยวะเพศชายนั้น ซึ่งปรากฏว่าจากการบูชา ทำให้พระศิวะพอพระทัย จึงปรากฏร่างให้เห็นชัดเจนอยู่บนผิวของอวัยวะเพศชาย เป็นรูปประหลาดมีแขนและขาเป็นพันๆ มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ และไฟเป็นตาดวงที่ 3 กลางหน้าผาก

พระศิวะกล่าวกับเทพทั้งสองว่า พระพรหมก็ดี พระวิษณุก็ดี เกิดมาจากสะเอวข้างซ้ายขวาของพระองค์นั่นเอง ดังนั้นพระองค์คือเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ตรัสจบศิวเทพก็อันตรธานหายไป

หลังจากเหตุการณ์นี้มา ศิวลึงค์ก็กลายเป็นวัตถุเคารพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ เทวดา พระเจ้าทั้งหลายมาจนปัจจุบัน

พิธีกรรมบูชาศิวลึงค์ในอินเดียเท่าที่ทราบมา เป็นไปในรูปของการบูชาประจําวันบ้าง หรือบูชาในกรณีวันสําคัญเทศกาลนักขัตฤกษ์ทางศาสนาเช่น เทศกาลมหาศิวาราตรี ในเทศกาลนี้ชาวอินเดียจะทําพิธีกันใหญ่โตเอิกเกริก

ส่วนพิธีกรรมบูชาศิวลึงค์โบราณของอินเดียอื่นๆ ก็มีพิธีหนึ่งชื่อ Saturnalia หรือพิธีพืชมงคล เขาทํากันเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินที่ใช้ในการเพาะปลูก พิธีนี้เริ่มต้นด้วยการบูชาศิวลึงค์เพื่อความเป็นศิริมงคล และโชคดีนั่นเอง

การบูชาก็คือ เอาน้ำหรือน้ำนมราดรดส่วนบนของหินทรงกระบอก ให้น้ำไหลไปสู่ที่ฐานหินกลมซึ่งมีร่องน้ำอยู่ น้ำจะไหลลงเบื้องล่าง และเอาข้าวตอก ใบมะตูม ดอกไม้ ขนม โปรยลงบนหินแท่งนั้น พลางก้มลงกราบ หรือเอาศีรษะโขกหินเป็นการแสดงคารวะสูงสุด

มีอีกพิธีหนึ่งของอินเดีย บูชาศิวลึงค์เช่นกัน เรียกว่าพิธี Kartikai เขาทํากันในโบสถ์บนยอดเขาในเมือง Arunachala ซึ่งโบสถ์นี้สร้างขึ้นเพื่อรําลึกถึงเหตุการณ์การเกิดขึ้นของพระศิวะในรูปของอวัยวะเพศชายเป็นครั้งแรก

พิธีนี้ทํากันทุกปีระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของศิวลึงค์ที่คนไทยรู้จัก เคยเห็นมา ในบ้านเราก็มีศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานศิวลึงค์อยู่หลายแห่งตามภาคต่างๆ ของประเทศ แสดงว่าไทยเรารับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียมาใช้ และรับคติความเชื่อในพระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดูมาปะปนกับพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อยุธยา จนถึงปัจจุบันนี้

ซากปรักหักพังของโบราณสถานวัตถุที่สร้างอุทิศให้ศาสนาฮินดูในบ้านเรา คือพยานที่สนับสนุนคํากล่าวที่ว่าศาสนาพราหมณ์ และวัฒนธรรมอินเดียเคยมีอิทธิพลอยู่ในบ้านเรานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562