ทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศก่อนพระศิวะเสมอ ทั้งที่พระพิฆเนศเป็นศิวบุตร?

พระพิฆเนศ บุตร พระศิวะ เทพเจ้า ใน ศาสนาฮินดู
พระพิฆเนศ และชายา นามว่าสิทธิ พุทธิ (ภาพ : The MET)

“พระพิฆเนศ” เทพเจ้า ใน ศาสนาฮินดู ที่มีคนนับถือมากหน้าหลายตา เนื่องจากเชื่อว่าพระองค์คือเทพแห่งการเริ่มต้น ความสำเร็จ และความกตัญญู ช่วยประทานพรให้สมดังหวังและทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

การบูชา พระพิฆเนศ เทพเจ้า องค์นี้ ส่วนใหญ่มักบอกว่าควรบูชาด้วยนมรสจืดหรือโยเกิร์ต เมื่อผ่านเทวาลัยหรือที่ตั้งของพระองค์จึงมักจะเห็นกล่องนมหรือถ้วยโยเกิร์ตวางเรียงราย พร้อมกับธูปที่เต็มไปด้วยควันมากมายปักอยู่

นอกจากของไหว้ดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญคือต้องบูชาพระองค์ ก่อนที่จะบูชาพระศิวะเสมอ แม้ว่าพระศิวะจะเป็นพ่อของพระองค์ ก็ตาม

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

หนังสือ “พระพิฆเนศ มหาเทพฮินดูชมพูทวีปและอุษาคเนย์” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ ไมเคิล ไรท นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดังผู้ล่วงลับ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นคำตอบของเรื่องนี้ไว้ว่า อินเดียเป็นประเทศใหญ่ รวมคนจากหลายเผ่าพันธุ์ไว้ด้วยกัน จึงทำให้ ศาสนาฮินดู ต้องสร้างจุดรวมตรงกลางให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกัน ผ่านเทพปรณัมหรือนิยาย เช่นเดียวกับกรณีของพระพิฆเนศ

ในหนังสือได้เล่าเรื่องราวและจุดเริ่มต้นของความเชื่อดังกล่าวไว้ว่า…

“ในกรณีของพระพิฆเนศ เทพปกรณัมของท่านจะตรงไปตรงมาหรือสร้างเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ เพราะการจะประสมประสานระหว่างคนพื้นเมืองและชนเผ่าที่รุกเข้ามาในภายหลังต้องมีวิธีการหลายขั้นตอน และการจะยกเทพเผ่าพื้นเมือง (ที่มีหัวเป็นช้าง) ให้เป็นญาติกับเทพของเผ่าที่เข้ามาอยู่ใหม่ (ที่มีหัวเป็นคน) ต้องผูกขึ้นเป็นนิทานมากมายหลายชั้น

ขั้นแรก กำหนดให้พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพฟ้าของชาวอารยันขี่ช้างเอราวัณซึ่งเป็นเทพป่าของคนพื้นเมือง อันแสดงถึงชัยชนะของชาวอารยันเหนือคนพื้นเมืองเดิม

ขั้นต่อมา เมื่อ 2 เผ่าเริ่มประสมประสานกันมากขึ้น ก็เกิดเทพปกรณัมว่าด้วยพระนางอุมาสร้างเทพบุตร (ที่ต่อมาจะเป็นพระพิฆเนศ) จากคราบไคลของพระนาง แล้วมีบัญชาให้เทพบุตรนั้นเฝ้าพระทวารไว้ ไม่ให้ผู้ชายคนใดเข้ามาในห้อง

เมื่อพระอิศวรกลับมาจากบำเพ็ญพรต ณ หิมาลัย ก็พบเด็กซึ่งพระอุมาสร้างขึ้น เด็กนั้นห้ามไม่ให้เข้าไปหาพระอุมาผู้เป็นแม่ จึงเกิดการสู้รบจนเด็กเศียรขาดสิ้นชีวิตไป ในที่สุดก็หาเศียรใหม่ซึ่งเป็นเศียรช้างมาต่อ ปลุกให้ฟื้นชีพ แล้วพระอิศวรก็รับเด็กที่มีหัวช้างเป็นบุตรของพระองค์…

ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อชาวอารยันกับคนพื้นเมืองประสมประสานกันสนิท ก็เกิดเทพปกรณัมอีกชุดหนึ่งที่โยนความผิดเรื่องการเสียศีรษะของทารกนั้นให้ผู้อื่น เช่น พระเสาร์ มองเด็กด้วยความอุปัทว์ หรือพระนารายณ์ใช้วาจาสิทธิ์ว่า ‘ไอ้เด็กหัวหาย’ ในที่สุดพระพิฆเนศก็กลายเป็นศิวบุตรอย่างสมบูรณ์”

จะเห็นได้ว่าพระพิฆเนศเป็นบุตรของพระอิศวร ต่อมาก็ถึงคำถามที่ว่า แล้วเหตุใดเวลาบูชาเทพเจ้าองค์อื่น ๆ รวมถึงพระศิวะ ต้องไหว้พระพิฆเนศก่อน เรื่องนี้ ไมเคิล ไรท บอกไว้ว่า

“บทบาทที่สำคัญที่สุดของพระพิฆเนศคือเป็น ‘เจ้าแห่งการริเริ่ม’ ใครจะทำอะไรขึ้นใหม่ เช่น การปลูกบ้าน การเปิดกิจการ การเดินทาง การเปิดบัญชี หรือแม้กระทั่งการบูชาเทพอื่น ล้วนแต่ต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อนจึงสำเร็จ

ทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อนเทพอื่นใด? คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าพระพิฆเนศเก่าแก่กว่าเทพอื่นใดในศาสนาฮินดูที่มีพระพักตร์เป็นมนุษย์”

ทั้งยังบอกเพิ่มเติมไว้อีกว่า…

“แต่จนทุกวันนี้จึงมีคนสงสัยว่าทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศก่อนพระบิดา (พระศิวะ) คำตอบคือ พระพิฆเนศเก่ากว่า แก่กว่า และมีมาก่อนพระอิศวรเสียอีก…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2567