“พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่าพระอิศวร? จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็นเทพฮินดู

พระคเณศ พระพิฆเนศ
ภาพเขียนสีพระคเณศ กายสีแดง-ส้ม และทรงหนู, ปี 1816 (ภาพจาก British Museum)

“พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่าพระอิศวร? จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็นเทพฮินดู

พระพิฆเนศ เป็นมหาเทพฮินดูที่มีคนเคารพรักอย่างแพร่หลายที่สุดในหมู่คนหลายชาติหลากภาษาและทุกชนชั้น ทั้งนี้เพราะพระพิฆเนศไม่ถือพระองค์ และไม่เคยรังเกียจผู้ใด ใคร ๆ จึงเข้าถึงท่านได้ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนบุญ คนบาป คนมี คนจน คนวรรณะสูง หรือคนที่ต่ำต้อย ท่านพร้อมที่จะรับฟังคำวิงวอนของทุกคนที่เข้าหาอยู่ตลอดเวลา

การกราบไหว้บูชาพระพิฆเนศนั้นกระทำได้ง่ายมาก คือไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องสรงสนาน ไม่ต้องจ้างพราหมณ์ ใคร ๆ ก็สามารถบูชาพระพิฆเนศได้ด้วยตนเอง โดยถวายดอกไม้ ผลไม้ กล้วย อ้อย และ (อย่าลืม) ขนมหวานทุกชนิด พระพิฆเนศผิดกับมหาเทพอื่น ๆ ตรงที่ท่านเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่อารมณ์ดี มีเศียรเป็นช้าง ร่างกายเหมือนทารกอ้วนพีน่ารัก ขี่หนูเป็นพาหนะ ชอบร้องรำทำเพลง ซึ่งการร่ายรำนั้นไม่ใช่เพื่อปราบอสูร หรือล้างจักรวาล แต่เป็นไปเพื่อความสนุกสนานเป็นสำคัญ

Advertisement

ในระดับหนึ่งอาจจะเทียบพระพิฆเนศกับซานตาคลอสได้สนิท เพราะซานตาคลอสก็อ้วนลงพุง มีใบหน้าเรื่อแดง ใช้อาภรณ์แดงขลิบขาว อันหมายถึงดวงอาทิตย์ที่ลอยมาเหนือปุยเมฆเพื่อนำความอบอุ่นและชีวิตชีวามาสู่โลกเช่นกัน ในการลงสีพระพิฆเนศจึงมักให้พระพักตร์สีแดงกับพระกายสีขาว หมายถึงแสงสุริยาที่มาเหนือเมฆฝน และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลก

พระพิฆเนศ ภาพวาดราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ภาพจาก collections.mfa.org)

ในระดับหนึ่งพระพิฆเนศเป็นนักปราชญ์ที่ใช้งาส่วนที่รักของท่านจารเรื่องมหาภารตะลงใบลานตามคำบอกเล่าของท่านฤาษีวยาสะ ท่านจึงได้รับการเคารพนับถือในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ทางอักษรศาสตร์ ดังนั้นเด็กที่จะเริ่มเรียนหนังสือ หรือจะเข้าสอบจึงต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อน

นอกจากนั้นท่านยังเปรียบดังเจ้าผู้รักษาคุ้มครองไปทั่วทุกแห่งหน โดยเฉพาะบริเวณธรณีประตู สี่แยก และโค้งอันตราย เพื่อคุ้มครองคนที่ผ่านเข้าออกหรือไปมา ในอินเดียเรามักเห็นเทวรูปพระพิฆเนศวางไว้ต่ำติดพื้นข้างประตูหรือริมทางคล้ายศาลพระภูมิของคนจีน

บทบาทที่สำคัญที่สุดของพระพิฆเนศคือเป็น “เจ้าแห่งการริเริ่ม” ใครจะทำอะไรขึ้นใหม่ เช่น การปลูกบ้าน การเปิดกิจการ การเดินทาง การเปิดบัญชี หรือแม้กระทั่งการบูชาเทพอื่น ล้วนแต่ต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อนจึงสำเร็จ

ทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อนเทพอื่นใด? คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าพระพิฆเนศเก่าแก่กว่าเทพอื่นใดในศาสนาฮินดูที่มีพระพักตร์เป็นมนุษย์

อินเดียโบราณมี 3 ชาติใหญ่ที่ประสมประสานกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

พวกที่เข้ามาอยู่หลังสุด คือชาวอารยันซึ่งพูดภาษาอินโด-ยุโรเปียน เริ่มเข้ามาในอินเดียประมาณ 1,000 ปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยันพเนจรเข้ามาจากอุษาทวีป ทวีปเอเชีย) ตอนกลาง ชนกลุ่มนี้จึงไม่รู้จักช้าง

ชาวทมิฬ พูดภาษาตราวิทยัน เข้ามาในอินเดียก่อนอารยัน ชนกลุ่มนี้จึงน่าจะคุ้นกับช้างอยู่บ้าง

ชาวมุนดะ พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร กระจัดกระจายเป็นชนกลุ่มน้อยทั่วอินเดียและอุษาคเนย์ กลุ่มนี้ไม่มีใครทราบว่ามาจากไหนแต่อยู่ในอินเดีย (และอุษาเคเนย์) ก่อนใครอื่นแน่ ศัพท์ในวรรณกรรมสันสกฤตที่ใช้เรียกพืชเขตร้อน เช่น พริกไทย, พลู, กล้วย ฯลฯ ส่วนใหญ่มาจากภาษามุนดะ

พระพิฆเนศ ภาพวาดราว ค.ศ. 1820 (ภาพจาก www.britishmuseum.org)

น่าเชื่อว่าชาวมุนดะนับถือช้างป่า และจับช้างป่ามาเลี้ยงก่อนใคร ต่อมาเมื่อชาวทมิฬและอารยันเข้ามาในเขตร้อนตามลำดับ ก็ย่อมเรียกพืชเขตร้อนตามภาษาพื้นเมืองเดิม แล้วนับถือเจ้าสมิงไพรที่มีหัวเป็นช้างของคนพื้นเมืองไว้ด้วย เมื่อศาสนาฮินดูลงตัว (ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว) ผู้คนหันมานับถือพระอิศวร พระนารายณ์เป็นใหญ่ แต่ก็ยินดีไหว้พระพิฆเนศก่อน เพราะท่านอยู่คู่กับชาวพื้นเมืองมาก่อนที่มหาเทพอื่น ๆ จะเข้ามาเป็นใหญ่ในภารตะและอุษาคเนย์

อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่บรรจุคนหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งย่อมมีความขัดแย้งรุนแรงและมากมายเป็นธรรมดา ดังนั้นศาสนาฮินดูจึงต้องมีกลไกในการประสมประสานเทพของแต่ละเผ่าให้เข้าเป็นญาติหรือพันธมิตรต่อกันเพื่อความผาสุกของสังคม กลไกนั้นคือการแต่งเทพปกรณัมหรือนิยายขึ้น

ในกรณีของพระพิฆเนศ เทพปกรณัมของท่านจะตรงไปตรงมาหรือสร้างเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ เพราะการจะประสมประสานระหว่างคนพื้นเมืองและชนเผ่าที่รุกเข้ามาในภายหลังต้องมีวิธีการหลายขั้นตอน และการจะยกเทพเผ่าพื้นเมือง (ที่มีหัวเป็นช้าง) ให้เป็นญาติกับเทพของเผ่าที่เข้ามาอยู่ใหม่ (ที่มีหัวเป็นคน) ต้องผูกขึ้นเป็นนิทานมากมายหลายชั้น

ขั้นแรก กำหนดให้พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพฟ้าของชาวอารยันขี่ช้างเอราวัณซึ่งเป็นเทพป่าของคนพื้นเมือง อันแสดงถึงชัยชนะของชาวอารยันเหนือคนพื้นเมืองเดิม

ขั้นต่อมา เมื่อ 2 เผ่าเริ่มประสมประสานกันมากขึ้น ก็เกิดเทพปกรณัมว่าด้วยพระนางอุมาสร้างเทพบุตร (ที่ต่อมาจะเป็นพระพิฆเนศ) จากคราบไคลของพระนาง แล้วมีบัญชาให้เทพบุตรนั้นเฝ้าพระทวารไว้ ไม่ให้ผู้ชายคนใดเข้ามาในห้อง

เมื่อพระอิศวรกลับมาจากบำเพ็ญพรต ณ หิมาลัย ก็พบเด็กซึ่งพระอุมาสร้างขึ้น เด็กนั้นห้ามไม่ให้เข้าไปหาพระอุมาผู้เป็นแม่ จึงเกิดการสู้รบจนเด็กเศียรขาดสิ้นชีวิตไป ในที่สุดก็หาเศียรใหม่ซึ่งเป็นเศียรช้างมาต่อ ปลุกให้ฟื้นชีพ แล้วพระอิศวรก็รับเด็กที่มีหัวช้างเป็นบุตรของพระองค์

นิทานเรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางจิตวิทยาระหว่างลูกชายกับพ่อ ในวัยทารกเด็กชายย่อมติดและหวงแม่ ต่อมาจะต้องสู้กับพ่อ จึงจะพ้นความเป็นทารก นิทานเรื่องนี้ช่วยชี้ทางในการเติบโตทางจิตวิทยาและสร้างความสุขแก่ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลให้พระพิฆเนศเป็นที่เคารพรักยิ่งขึ้น

ขั้นสุดท้าย เมื่อชาวอารยันกับคนพื้นเมืองประสมประสานกันสนิท ก็เกิดเทพปกรณัมอีกชุดหนึ่งที่โยนความผิดเรื่องการเสียศีรษะของทารกนั้นให้ผู้อื่น เช่น พระเสาร์ มองเด็กด้วยความอุปัทว์ หรือพระนารายณ์ใช้วาจาสิทธิ์ว่า “ไอ้เด็กหัวหาย” ในที่สุด พระพิฆเนศก็กลายเป็นศิวบุตรอย่างสมบูรณ์

แต่จนทุกวันนี้จึงมีคนสงสัยว่าทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศก่อนพระบิดา (พระศิวะ)

คำตอบคือ พระพิฆเนศเก่ากว่า แก่กว่า และมีก่อนพระอิศวรเสียอีก แต่เมื่อนำออกจากป่าให้ไปอยู่กับเทพอื่นๆ และแสดงว่าชาวมอญ-เขมรที่อยู่ในอินเดียมาแต่เดิมได้กลายเป็นญาติสนิทกับชาวอารยันที่เข้ามาภายหลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “พระพิฆเนศ : มหาเทพฮินดู ชมพูทวีปและอุษาคเนย์” เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ (สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2550)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2564